รู้จัก AI แต่ขาดแผนรับมือ สำรวจชี้ 83% องค์กรในอาเซียนไร้กลยุทธ์ชัดเจน

รู้จัก AI แต่ขาดแผนรับมือ สำรวจชี้ 83% องค์กรในอาเซียนไร้กลยุทธ์ชัดเจน

ผลสำรวจจาก IBM ชี้ 85% ขององค์กรในอาเซียนเห็นความสำคัญของ AI แต่มีเพียง 17% เท่านั้นที่วางแผนกลยุทธ์การใช้เอไอชัดเจน ผู้เชี่ยวชาญแนะ ‘เร่งพัฒนาความพร้อม’ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

“รู้จักเอไอ แต่ไม่มีแผนรับมือ” ในงาน Think 2024 ณ ประเทศสิงคโปร์ IBM ได้เปิดเผยผลการศึกษาถึงสถานการณ์น่าวิตกเกี่ยวกับความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขององค์กรในภูมิภาคอาเซียน แม้ว่า 85% ขององค์กรจะตระหนักถึงศักยภาพของ AI ที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ แต่มีเพียง 17% เท่านั้นที่มีกลยุทธ์ AI ที่ชัดเจน สะท้อนให้เห็นว่า “83% ขององค์กรยังขาดแผนรับมือที่เป็นรูปธรรม

Catherine Lian ผู้จัดการทั่วไปของ IBM ASEAN กล่าวว่า องค์กรส่วนใหญ่เข้าใจความสำคัญของ AI แต่ยังขาดรากฐานที่จำเป็นในการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านความเป็นผู้นำ กลยุทธ์ข้อมูล การพัฒนาทักษะของพนักงาน และกรอบการกำกับดูแลที่เหมาะสม

การศึกษายังพบว่าองค์กรส่วนใหญ่ประเมินความพร้อมด้าน AI ของตนเองสูงเกินจริง โดย 39% ของผู้บริหารเชื่อว่าองค์กรของตนอยู่ในขั้นการเปลี่ยนแปลงด้าน AI แต่ข้อมูลแสดงว่ามีเพียง 4% เท่านั้นที่มีความพร้อมในระดับนั้นจริง

ปัญหาสำคัญที่พบคือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI โดยมีเพียง 17% ขององค์กรที่มีทีมวิทยาศาสตร์ข้อมูลเฉพาะทาง นอกจากนี้ ด้านการกำกับดูแล มีเพียง 18% ที่มีบทบาทเฉพาะในการกำกับดูแล AI และข้อมูล

รู้จัก AI แต่ขาดแผนรับมือ สำรวจชี้ 83% องค์กรในอาเซียนไร้กลยุทธ์ชัดเจน

Ullrich Loeffler ซีอีโอของ Ecosystm ผู้ดำเนินการวิจัย เน้นย้ำว่า องค์กรจำเป็นต้องระบุจุดแข็ง จุดอ่อน และอุปสรรคในการบูรณาการ AI พร้อมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนากลยุทธ์ที่เหมาะสม

แม้ว่าองค์กรในอาเซียนจะเริ่มนำ AI มาใช้ในงานต่างๆ เช่น การประมวลผลเอกสาร (63%) ระบบสนับสนุนลูกค้า (60%) และการทำธุรกรรมการเงินอัตโนมัติ (57%) แต่การขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจนอาจส่งผลให้การใช้งาน AI ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ผลการศึกษานี้เป็นสัญญาณเตือนให้องค์กรในอาเซียนต้องเร่งพัฒนาความพร้อมด้าน AI อย่างรอบด้าน ทั้งในแง่ของกลยุทธ์ บุคลากร ข้อมูล และการกำกับดูแล เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างเต็มศักยภาพ และรักษาความสามารถในการแข่งขันในยุคดิจิทัล

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์