มรกต 'ยิบอินซอย’ ก้าวที่กล้า บนสมรภูมิ ’ฟู้ดดิลิเวอรี‘

มรกต 'ยิบอินซอย’ ก้าวที่กล้า บนสมรภูมิ ’ฟู้ดดิลิเวอรี‘

เปิดใจ "มรกต ยิบอินซอย" กับดีลใหญ่ของการเข้าซื้อกิจการ "โรบินฮู้ด" บนสมรภูมิ "ฟู้ดดิลิเวอรี" ที่แสนท้าทาย ซึ่งต้องพิสูจน์ตัวเองต่อจากนี้ว่าจะสามารถพลิกธุรกิจจากขาดทุนมาสู่เกมการทำกำไรได้อย่างไร...

KEY

POINTS

  • ตั้งเป้าที่จะนำ "โรบินฮู้ด" จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปี
  • โรบินฮู้ดจะเป็นธุรกิจใหม่รูปแบบ "บีทูซี" ยูนิตแรกของยิบอินซอย 

  • ความตั้งใจคือคงความเป็นโรบินฮู้ดเดิมไว้ แต่จะแตกกิ่งที่เหมาะกับคนไทย

  • เฟสแรกนี้จะทำธุรกิจส่งอาหารให้แข็งแรงก่อน

  • แผนการพลิกฟื้นธุรกิจ เบื้องต้นจะมีการปรับสมดุลค่าจีพีให้เหมาะสม โดยคิดที่ 28% (GP 25% รวมค่าการตลาด 3%)

  • ตัวเลขที่ยังขาดทุน ไม่ได้รู้สึกกังวลมากนัก การเข้ามาครั้งนี้จะไม่ใช่การเผาเงินทิ้ง โดยไม่ได้มองโลกความเป็นจริง

ปิดดีลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ “โรบินฮู้ด” แอปฟู้ดดิลิเวอรีสัญชาติไทย ผู้ที่คว้าดีลนี้ไปได้ คือ กลุ่ม “ยิบอินซอย” มูลค่ารวมสูงสุด 2,000 ล้านบาท ที่พูดได้ว่าเป็นม้านอกสายตาที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเข้ามาเล่นในสมรภูมินี้...

มรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด หนึ่งในทายาทเจนปัจจุบันของ ยิบอินซอย เปิดใจถึงที่มาของดีลใหญ่ในรายการ “Deep Talk” ของกรุงเทพธุรกิจ ว่า ทราบข่าวการปิดตัวของแอปโรบินฮู้ดพร้อมกับทุกคนและมีความคิดว่าน่าเสียดายถ้าจะหายไป

เมื่อทราบข่าวว่าจะเปิดให้ซื้อกิจการจึงเข้าไป การเข้ามาครั้งนี้แม้คนนอกที่ไม่ได้ทราบถึงรายละเอียดทั้งหมดอาจมองว่ามีความเสี่ยงสูง ไม่น่าไหว แต่ในอีกมุมหนึ่งต้องทำความเข้าใจว่า SCBX ขออนุญาตทำธุรกิจด้วยโครงการซีเอสอาร์เพื่อช่วยโควิด ไม่ใช่การแข่งขันตามปกติ ทำให้มีข้อจำกัดหลายประการ ขาดทุนจากการสนับสนุนค่าส่งที่ตั้งใจช่วยคน พอหมดงบก็จำเป็นต้องหยุดให้บริการ

ยอมรับว่า กระบวนการที่ใช้เวลาราว 3 เดือนก่อนจะถึงวันนี้ “ไม่ได้ง่าย” เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องเห็นตัวเลขขาดทุนกว่าสองพันล้านบาทก็ตกใจจึงเป็นธรรมดาที่จะมีคนคัดค้านจำต้องโน้มน้าวผู้บริหารว่ามีโอกาสจริงๆ ไม่ได้คิดไปเองจากคนที่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน

เราเป็นแค่คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ใจใหญ่ อยากจะทำ ของดีขนาดนี้อยากให้ยังคงอยู่ มิเช่นนั้นจะเป็นเหมือนการทิ้งสมบัติลงทะเล ไม่เกิดประโยชน์

สำหรับตัวเลขที่ยังขาดทุน ไม่ได้รู้สึกกังวลมากนัก การเข้ามาครั้งนี้จะไม่ใช่การเผาเงินทิ้ง หรือตามใจลูกค้าเพื่อให้เกิดการซื้อโดยไม่ได้มองโลกความเป็นจริง ความตั้งใจคือคงความเป็นโรบินฮู้ดเดิมไว้ แต่จะแตกกิ่งที่เหมาะกับคนไทย สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ แลกเปลี่ยนคุณค่าและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยต้องการผลักดันให้เป็น “Good Business Ecosystem”

เดินเกมพลิกฟื้นธุรกิจสู่กำไร

การเข้าซื้อ โรบินฮู้ด (Robinhood) จากบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ยิบอินซอยเล็งเห็นถึงศักยภาพในการเติบโต ขณะเดียวกันเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่มีรากฐานที่ดี ฐานลูกค้าแข็งแกร่ง มีคุณภาพ สมบูรณ์อยู่แล้วทั้งด้านแบรนด์ดิ้งและระบบหลังบ้านที่ปลอดภัยเทียบเท่าระบบของธนาคาร ทั้งยังโดดเด่นและมีสเน่ห์เป็นของตนเอง โดยเฉพาะการให้บริการของไรเดอร์ที่สุภาพและรวดเร็ว

นอกจากนี้ ประเภทของร้านค้าที่เปิดให้บริการมีอยู่หลากหลาย นอกจากร้านชื่อดังแล้วยังมีร้านที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่น่าสนใจ ดังนั้นจึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของกลุ่มผู้ลงทุนที่จะเข้าไปพัฒนาเพื่อต่อยอดให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

เราวางแนวทางการสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจอย่างมีส่วนร่วม (inclusive growth) ให้เกิดขึ้นในระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง คงไว้ซึ่งความเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนกับร้านค้าและเศรษฐกิจของประเทศไว้ด้วยกัน

สำหรับแผนการพลิกฟื้นธุรกิจ เบื้องต้นจะมีการปรับสมดุลค่าจีพีให้เหมาะสม โดยคิดที่ 28% (GP 25% รวมค่าการตลาด 3%) ระยะแรกเน้นการเพิ่มออเดอร์ต่อวัน ดึงร้านค้า ดึงไรเดอร์กลับมา และทำงานร่วมกับพันธมิตร

ด้านเพย์เมนท์ ต่อไปจะขยายเพิ่มพร้อมเปิดกว้างให้พาร์ทเนอร์ใหม่ๆ กลุ่มธนาคาร รวมถึงวอลเล็ตต่างๆ เข้ามา ยอมรับว่าช่วงเปลี่ยนผ่านทีมงานต้องทำงานหนัก ฉะนั้นขอเวลาให้พวกเขาได้ทำงาน ไม่อยากให้มีความคาดหวังที่สูงเกินไป และหากมีข้อผิดพลาดขอให้ยกโทษ ขอความกรุณาด้วยว่าขอโอกาสและจะทำให้ดีที่สุด

ประเดิมสนาม ‘บีทูซี’ ครั้งแรก

มรกต เผยว่า โรบินฮู้ดจะเป็นธุรกิจใหม่แบบ “บีทูซี” ให้บริการรูปแบบ “แพลตฟอร์มแอสอะเซอร์วิส” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่บริษัทเข้าไปทำธุรกิจบีทูซี จากเดิมมีแต่บีทูบีอย่างเดียว โดยเชื่อว่าจะนำไปเชื่อมโยงกับฐานธุรกิจเดิมได้ในหลายมิติ ทั้งด้านการเกษตร เทคโนโลยี และพลังงานสะอาด เช่น รถมอเตอร์ไซค์อีวีซึ่งจะเป็นกรีนโลจิสติกส์ให้ไรเดอร์ได้

โรบินฮู้ดจะเป็นธุรกิจใหม่รูปแบบบีทูซียูนิตแรกของเรา ซึ่งน่าตื่นเต้นและท้าทายที่ได้เชื่อมโยงผู้คนด้วยดิจิทัล สัมผัสกับคนจริงๆ ได้รับผลตอบรับแบบทันที ซึ่งคิดว่าจะสามารถต่อยอดกับฐานธุรกิจเดิมได้เป็นอย่างดีต่างจากเดิมที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของธนาคาร รัฐบาล และบริษัทเอกชนต่างๆ

ด้านการบริหารงาน เนื่องจากเป็นการซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ดังนั้นจะยังคงให้ทีมเดิมเป็นผู้บริหารและดำเนินงานต่อ ขณะนี้มีพนักงานราว 50 คน และพร้อมจะเพิ่มทีมเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ ทั้งจะมีพาร์ทเนอร์อื่นๆ มาช่วยให้คำปรึกษา และมรกตเองจะมาดูในช่วงแรก

เฟสแรกนี้จะทำธุรกิจส่งอาหารให้แข็งแรงก่อน ส่วนด้านอื่นๆ ยังหยุดไปก่อน ปัจจุบัน มีไรเดอร์ในระบบ 2.5 หมื่นคน ร้านอาหาร 4 แสนร้านค้า และฐานลูกค้า 4 ล้านราย

อีกทางหนึ่ง พันธมิตรที่เข้ามาร่วมมือกัน ประกอบด้วยกลุ่ม Brooker Group ธุรกิจที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนหนึ่งในบริษัทที่ถือครองทรัพย์สินดิจิทัลรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, กลุ่ม SCT Rental Car ผู้นำด้านธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์สำหรับใช้งานส่วนบุคคลและเชิงพาณิชย์

รวมถึงบริษัทย่อยของ Loxley คือ LOXBIT ผู้ให้บริการไอทีโซลูชันของไทยอีกทั้งยังเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นการให้สินเชื่อดิจิทัลครบวงจรและบริการทางการเงินที่ฝังอยู่ในระบบต่างๆ ต่างมีความแข็งแรง ครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยี ดิจิทัลเพย์เมนท์ การลงทุนและการเงิน และโลจิสติกส์จึงมีความพร้อมที่จะดูแลงานหลังบ้านและฐานธุรกิจ

อีกหนึ่งจุดเด่นคือ แม้ไม่ใช่เทคคอมพานีระดับภูมิภาคหรือระดับโลกแต่เป็นแอปที่สามารปรับได้ตามความต้องการของคนไทยได้แบบทันที ไรเดอร์อาจน้อย แต่พวกเขาสุภาพ ทำงานอย่างมีความสุข

ภายในปีนี้ต้องได้เห็นอะไรที่แปลกไปอย่างแน่นอน และเมื่อแข็งแรงมากขึ้นเฟสต่อๆ ไปก็เป็นไปได้ที่จะขยายตลาดไปทั่วประเทศ ส่วนปลายทางมีเป้าหมายที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้คนไทยทุกคนได้เป็นเจ้าของ คาดว่าจะสามารถทำได้ภายใน 3 ปี

ตำนานบทใหม่ ‘ธุรกิจ 100 ปี’

ยิบอินซอย เป็นหนึ่งในบริษัทสัญชาติไทยเก่าแก่มีอายุเกือบ 100 ปี มีจุดเริ่มต้นมาจากการทำธุรกิจค้าแร่ เป็นที่รู้จักในแวดวงของอุตสากรรมการเกษตร เทรดเดอร์ ผู้จัดจำหน่ายและนำเข้าสินค้าระดับโลก เช่น น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เท็กซาโก (Texaco) รถแทรกเตอร์ยี่ห้อ David Brown รถบรรทุก Isuzu เครื่องจักรทอกระสอบ

รวมถึงนำเข้าสินค้าอุปโภค บริโภค เช่น ตะเกียงเจ้าพายุตราโคลแมน กระดาษตราสแตบิโล เครื่องเขียน Pelikan, Swallo ผลิตภัณฑ์ตรา 3M กล้องถ่ายรูป Rolleiflex ฯลฯ เป็นผู้บุกเบิกการค้าปุ๋ยเคมีเป็นรายแรกของไทย เมื่อ พ.ศ.2489 โดยนำเข้าปุ๋ยเคมีคุณภาพสูงจากประเทศเยอรมนี เข้ามาจำหน่าย ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตราใบไม้”

สำหรับสมรภูมิเทคโนโลยีเริ่มมาตั้งแต่ปี 2500 ซึ่งในยุคนั้นเรียกกันว่าเครื่องทันสมัย มีส่วนร่วมมาตั้งแต่ยุคของการบุกเบิกเครื่องคอมพิวเตอร์ เรื่อยมาจนถึงวันนี้ที่ทายาทเจนถัดๆ มา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการไอที ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรชั้นนำต่างๆ ให้บริการโซลูชั่นทั้งคลาวด์, ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ,ดิจิทัล บิสิเนส โซลูชัน, ไฟแนนซ์เชียล แบงกิ้ง เซอร์วิส, ดาต้าอนาไลติกส์ ฯลฯ

ภาพรวมกลุ่มยิบอินซอยมีธุรกิจอยู่ 4 กลุ่มหลักๆ คือ เกษตรและเทคโนโลยี ดิจิทัลเทคโนโลยี พลังงานและพลังงานสะอาด และอื่นๆ ซึ่งมีทั้งการลงทุนในสตาร์ตอัป นวัตกรรมทางสังคม ความยั่งยืน ประกันภัย วิสาหกิจเพื่อสังคม ฯลฯ โดยรายได้หลักกว่า 60-70% มาจากไอทีและดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์

ปัจจุบัน มีบริษัทในเครือฯ กว่า 9 แห่ง จำนวนพนักงานมากกว่า 1,900 คน ศูนย์บริการกว่า 32 แห่งทั่วประเทศไทยและในเขตประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ เข้าไปลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัป 3-4 ราย ซึ่งขอบข่ายธุรกิจเกี่ยวข้องกับด้านไบโอเทค นาโทเทค เทคโนโลยีการเกษตร เอไอเพื่อการเกษตร มอเตอร์ไซค์อีวี พลังงานแอสอะเซอร์วิส พลังงานสะอาด ฯลฯ

ปัจจุบัน รายได้ของบริษัทแตะ 9 พันล้านบาท กำไร 200-400 ล้านบาท ส่วนของโรบินฮู้ดจะเริ่มชัดเจนในปีหน้าซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มแสงให้บริษัทและช่วยผลักดันทำให้รายได้แตะ  1 หมื่นล้านบาทได้

ยิบอินซอย มีการปรับเปลี่ยนและเขย่าโครงสร้างธุรกิจโดยให้บริษัทเป็นโฮลดิ้งคอมพานี ทำหน้าที่ผลักดันให้ลูกๆ เดินไปข้างหน้า เติบโต และท้ายที่สุดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งระหว่างเส้นทางก็จะมีการเข้าไปช่วยเหลือให้คำปรึกษาตามความเหมาะสมและคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

นับเป็นทศวรรษที่สองของยิบอินซอยที่ 'กล้า' ทรานส์ฟอร์มธุรกิจเกือบ 100 ปีได้อย่างท้าทาย และน่าจับตา...