ChatGPT เปิดตัวฟีเจอร์ ‘ค้นหาอัจฉริยะ’ ท้าชน Google บนสนามเสิร์ชเอนจิน
บุกตลาดเสิร์ชเอนจิน! ChatGPT เปิดตัวฟีเจอร์ ‘ค้นหาอัจฉริยะ’ ช่วยให้ผู้ใช้ค้นหาข้อมูลได้ง่าย เรียลไทม์ พร้อมแสดงแหล่งที่มาชัดเจน อ้างอิงได้ เริ่มให้บริการแล้วสำหรับสมาชิก Plus ก่อนเปิดให้ใช้ฟรีต้นปีหน้า
OpenAI ผู้พัฒนา “แชตจีพีที (ChatGPT)” เพิ่งเปิดตัว “ฟีเจอร์ค้นหาอัจฉริยะ (Search Engines)” หลังจากที่เคยประกาศเป็นต้นแบบมาก่อนหน้านี้ 3 เดือน โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ ChatGPT เป็นแพลตฟอร์มที่ดีที่สุดสำหรับการตอบคำถามทุกประเภท รวมถึงการเสิร์ชหาข้อมูลเรียลไทม์จากอินเทอร์เน็ต
ฟีเจอร์ดังกล่าวจะเปิดให้ใช้งานสำหรับผู้ใช้แบบ ChatGPT Plus ที่เสียค่าบริการเดือนละ 20 ดอลลาร์ และผู้ใช้แบบ Teams ก่อน ส่วนผู้ใช้ Enterprise และ Education จะทยอยเปิดให้ใช้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และ “ผู้ใช้ฟรีจะได้ใช้งานประมาณต้นปีหน้า”
ความสามารถใหม่
- ค้นหาด้วยภาษาธรรมชาติ ผู้ใช้สามารถพิมพ์คำถามได้เหมือนคุยกับคน ไม่จำเป็นต้องใช้แค่คำค้นหาสั้นๆ
- ช่วยให้ผู้ใช้ได้คำตอบที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องค้นหาหลายรอบหรือเข้าหลายเว็บไซต์
- แสดงข้อมูลเรียลไทม์ เช่น ราคาหุ้น ข่าวสาร แผนที่ ผลกีฬา สภาพอากาศ
- มีการอ้างอิงแหล่งที่มา และแสดงลิงก์ที่มาของข้อมูลชัดเจน
- เน้นด้านลิขสิทธิ์มากขึ้น โดยทำความร่วมมือกับสำนักข่าวและเว็บไซต์ชั้นนำระดับโลก เช่น Time, Financial Times, The Atlantic, Vox Media และ Condé Nast
- เพิ่มฟีเจอร์ช็อปปิ้ง สามารถค้นหาและแนะนำสินค้าได้ แต่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา
ข้อจำกัด
- อาจให้ข้อมูลผิดพลาดหรือแต่งเรื่องขึ้นมาได้ (Hallucination)
- ระบบช็อปปิ้งยังไม่สมบูรณ์เท่า Google
- มีการกรองเนื้อหาไม่เหมาะสมออกอย่างเข้มงวด
- อาจแสดงข้อมูลที่มีอคติในบางกรณี
“เราเห็นชัดว่าในไม่ช้า คนรุ่นต่อไปจะใช้ AI เป็นเครื่องมือหลักในการค้นหาข้อมูล การจับมือกับ OpenAI ทำให้ Le Monde เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เราได้ลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น โดยที่ยังรักษามาตรฐานและจรรยาบรรณของสื่อไว้ได้อย่างครบถ้วน” หลุยส์ เดรย์ฟัส (Louis Dreyfus) ซีอีโอและผู้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ Le Monde กล่าว
ด้าน แพม วาสเซอร์สไตน์ (Pam Wasserstein) ประธาน Vox Media กล่าวเพิ่มเติมว่า “ฟีเจอร์ค้นหาของ ChatGPT จะช่วยเน้นย้ำและอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ในขณะเดียวกันก็ช่วยขยายการเข้าถึงสำหรับผู้ผลิตสื่อคุณภาพสูงอย่างพวกเรา”
อนาคตของวงการค้นหาออนไลน์
ฟีเจอร์ค้นหาของ ChatGPT สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งให้กับวงการเทคโนโลยี โดยเฉพาะการท้าทาย Google ที่ครองตลาดเสิร์ชเอนจินมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี นอกจากนี้ก็ยังกระตุ้นให้บริษัทยักษ์ใหญ่รายอื่นต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองตาม อย่างเช่น Meta ที่กำลังพัฒนาระบบค้นหาด้วย AI
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า แม้ ChatGPT จะมีจุดเด่นด้านการโต้ตอบที่เป็นธรรมชาติ แต่การจะก้าวขึ้นมาแข่งขันกับ Google ได้อย่างเต็มตัวนั้น ยังต้องพัฒนาอีกหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องความแม่นยำของข้อมูลและความครอบคลุมในการค้นหา รวมถึงระบบช็อปปิ้งออนไลน์ที่ยังต้องปรับปรุงอีกมาก อีกทั้งการรองรับภาษาต่างๆ ทั่วโลกก็เป็นอีกความท้าทายสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา
แผนต่อไปของ OpenAI คือ พัฒนา ChatGPT ในปี 2025 อย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายที่จะยกระดับการให้บริการทุกด้าน ทั้งการเพิ่มความแม่นยำในการค้นหา การขยายฐานข้อมูลให้ครอบคลุมมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการวิจัยเชิงลึก พัฒนาระบบช็อปปิ้งให้สมบูรณ์แบบ ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มภาษาที่รองรับและปรับปรุงระบบกรองเนื้อหาไม่เหมาะสมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น