‘ฟูจิตสึ’ ถอดกลยุทธ์ ‘ความยั่งยืน’ หนุนใช้ 'ดิจิทัล’ สร้างการเปลี่ยนแปลง
"ฟูจิตสึ" เสนอแนวทางการพัฒนาองค์กรสู่ "ความยั่งยืน" แนะวางบทบาทเป็น “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” ผู้นำด้านนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการริเริ่มด้านความยั่งยืน
KEY
POINTS
- การปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่ 'มีก็ดี' แต่เป็นสิ่งที่ 'ต้องมี'
- การใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจทำให้สามารถประมวลผลข้อมูล ESG ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
- 70% ของผู้บริหารระบุว่า ความยั่งยืนเป็นหนึ่งในความสำคัญอันดับต้นในอีก 5 ปีข้างหน้า
- มีเพียงองค์กร 4 ใน 10 เท่านั้น ที่เริ่มนำกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมาปฏิบัติ
- บทบาทที่องค์กรต้องไปให้ถึงคือ “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” ผู้นำด้านนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการริเริ่มด้านความยั่งยืน
อุทกภัยในภาคเหนือของประเทศไทยในปี 2567 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและแพร่หลายครอบคลุมพื้นที่กว่า 8.6 ล้านไร่ และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยประมาณระหว่าง 30,000 ถึง 40,000 ล้านบาท
การวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยวิจัยกรุงศรียังเผยให้เห็นภาพความเสียหายยิ่งกว่า โดยคาดการณ์มูลค่าความสูญเสียรวมสูงถึง 46,500 ล้านบาท ซึ่งรวมความเสียหายทั้งภาคการเกษตรมูลค่า 43,400 ล้านบาท และด้านทรัพย์สินอีก 3,100 ล้านบาท
กนกกมล เลาหบูรณะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดมุมมองว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศกำลังปรับโฉมเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
ไม่ใช่ ‘มีก็ดี’ แต่เป็นสิ่งที่ ‘ต้องมี’
ปัจจุบัน ภาคธุรกิจต่างเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถเติบโตต่อไปได้ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายนี้ ทว่าจากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับ C-level กว่า 600 คนจาก 15 ประเทศใน 11 อุตสาหกรรมของฟูจิตสึ เผยให้เห็นความจริงอย่างชัดเจน ที่แม้ว่า 70% ของผู้บริหารระบุว่า ความยั่งยืนเป็นหนึ่งในความสำคัญอันดับต้นในอีก 5 ปีข้างหน้า
แต่มีเพียง 4ใน 10 องค์กรเท่านั้น ที่เริ่มนำกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมาปฏิบัติ และในกลุ่มองค์กรที่นำกลยุทธ์ดังกล่าวมาใช้แล้ว กว่า 7ใน 10 องค์กร ยังไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้
การปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่ “มีก็ดี” แต่เป็นสิ่งที่ “ต้องมี” ธุรกิจในประเทศไทยเองกำลังเผชิญกับความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้โดยเร็ว
เนื่องจากภาครัฐได้เริ่มบังคับใช้นโยบายที่เข้มงวด เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้อาจได้รับโทษร้ายแรงและถูกกีดกันจากการค้าระดับโลกและตลาดระหว่างประเทศ
ต้องเป็น ‘ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง’
กนกกมล เสนอแนวคิดว่าบทบาทที่องค์กรต้องไปให้ถึงคือ “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” ผู้นำด้านนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการริเริ่มด้านความยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และกลุ่มนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จ
โดย “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” เหล่านี้มีลักษณะสำคัญร่วมกันสามประการ คือ การแบ่งปันข้อมูลภายในและภายนอกอย่างมีกลยุทธ์ ความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านความยั่งยืนที่มีความหมาย และความเข้าใจที่ชัดเจนว่าความยั่งยืนและประสิทธิภาพทางธุรกิจนั้นเป็นประโยชน์ร่วมกัน
เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่การทำตามข้อกำหนด แต่เป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจที่สำคัญ สอดคล้งอไปกับ ไอดีซี ที่เปิดเผยผลลัพธ์ที่น่าสนใจจากแผนการริเริ่มด้านความยั่งยืนที่นอกเหนือไปจากการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ
อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าในการปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน (SX) มักจะล่าช้า เนื่องจากความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับ บุคลากร กระบวนการ และ เทคโนโลยี
โดยองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ ทรัพยากรทางการเงินที่เพียงพอ กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่แข็งแกร่ง ความรับผิดชอบและการกำกับดูแล มาตรวัดความยั่งยืนที่มีคุณภาพสูง และแนวทางปฏิบัติด้านการดำเนินงานที่เหมาะสม
ขับเคลื่อนด้วย ‘เทคโนโลยี’
ผลสำรวจการปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืนประจำปี2567 ของฟูจิตสึ เผยว่า มีเพียง11% ขององค์กรที่เข้าร่วมการสำรวจ ที่สามารถบรรลุความยั่งยืนได้อย่างสมบูรณ์
ดังนั้นต้องมีกลยุทธ์และเครื่องมือที่เหมาะสม โดยการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล (DX)ช่วยเร่งการปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน (SX)ให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และการกำกับดูแล (ESG)
ไอดีซีพบว่า การใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ 46% ขององค์กรสามารถประมวลผลข้อมูล ESG ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ รวมถึงวัดประสิทธิภาพและผลกระทบของ ESG ได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้43% ได้พัฒนาความสามารถในการระบุและบรรเทาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับESGในเชิงรุก และ 41% สามารถทำให้กระบวนการและงานด้าน ESG ปรากฎและโปร่งใสยิ่งขึ้น
การผสานกลยุทธ์ความยั่งยืนเข้ากับแนวทางปฏิบัติของธุรกิจไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นเชิงกลยุทธ์สู่ความสำเร็จของธุรกิจในระยะยาวเพื่อให้สามารถบูรณาการความยั่งยืนเข้าสู่แกนหลักของการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการบูรณาการหลักการความยั่งยืนเข้ากับวิสัยทัศน์จะช่วยสร้างแนวทางที่เป็นเอกภาพ ทำให้สามารถเผยแพร่ความสำคัญของความยั่งยืนไปยังทุกฟังก์ชันของธุรกิจและเร่งการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิผล
ปลดล็อคคุณค่า สร้างจุดต่าง
ขณะที่ เป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้นับเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ควรกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก (KPIs)และระยะเวลาเพื่อติดตามความคืบหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนในองค์กรเข้าใจบทบาทของตนในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ความโปร่งใสเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมความรับผิดชอบและทำให้ทีมงานทำงานสอดคล้องกัน
พร้อมกันนี้ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์(AI), อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT)และบล็อกเชน ที่สามารถเร่งความพยายามด้านความยั่งยืนได้
ที่ผ่านมา ธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืนพบว่าประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการลดต้นทุนดีขึ้นถึง 50% นอกจากนี้ 40% พบว่าต้นทุนด้านทุนลดลง ขณะที่ 39% รายงานว่าความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ดีขึ้น และชื่อเสียงของแบรนด์ดีขึ้นตามเป้าหมายที่ต้องการ
ที่สำคัญคือ 37% ประสบความสำเร็จในการลดความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดจากแนวทางปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืน รวมทั้งรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ในท้ายที่สุด การปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืนจะทำหน้าที่เป็นตัวลดความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ กุญแจที่สร้างความแตกต่าง และเป็นตัวขับเคลื่อนคุณค่าที่สำคัญในระยะยาวขององค์กร