ไบโอเทคจับมือพันธมิตรลุ่มน้ำโขง ชูโครงการอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง
ไบโอเทคร่วมกับพันธมิตรแถลงข่าวความสำเร็จโครงการยกระดับ อุตสาหกรรมมันสำปะหลังทั้งห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ผ่านโครงการ CCC เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านมันสำปะหลังของภูมิภาคและของโลกในอนาคต
มันสำปะหลัง ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลกมีส่วนแบ่งตลาดโลกมากกว่า 68%
ทั้งนี้ หากรวมผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม จะพบว่ามีส่วนแบ่งตลาดโลกสูงถึง 90%
ด้านไบโอเทคจึงได้ริเริ่มโครงการ Capacity Building on Circular Economy, Resource and Energy Efficiency for Productivity and Sustainability of Cassava Chain to High Value Products: Cassava Root, Native Starch, and Biogas in Mekong Countries หรือ โครงการ CCC เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านการจัดการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง และผลักดันอุตสาหกรรมมันปะหลังให้เติบโตขึ้นต่อไปภายในอนาคต
วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค เปิดเผยว่า โครงการ CCC ได้รับทุนสนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐเกาหลี ผ่านกองทุนความร่วมมือแม่โขงและสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-Republic of Korea Cooperation Fund – MKCF)
ซึ่งมีสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง หรือ Mekong Institute (MI) เป็นผู้จัดการกองทุน จำนวนงบประมาณ 12,960,105 บาท (394,005 USD) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 กรกฎาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2565
โดยโครงการ CCC มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านการจัดการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง
โดยหลักสูตรอบรมครอบคลุมหัวข้อสำคัญเริ่มตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือ การบริหารจัดการเทคโนโลยีการปลูกมันสำปะหลังและการปรับปรุงพันธุ์เพื่อการเพิ่มผลผลิตและทำให้มันสำปะหลังมีคุณสมบัติเหมาะกับการแปรรูปหรือใช้งานในอุตสาหกรรมเฉพาะ
ต่อด้วย “กลางน้ำ” คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ลดการใช้พลังงานและทรัพยากรในกระบวนการผลิต จนถึง “ปลายน้ำ” คือ การใช้เทคโนโลยีในการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต
ได้แก่ น้ำเสียและกากมันสำปะหลังมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีมันสำปะหลัง (ASEAN Cassava Center) ในประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านมันสำปะหลังของภูมิภาคและของโลกในอนาคต
จากการดำเนินโครงการ มีผู้เข้าร่วมการอบรมจาก CLMVT ทั้งหมดกว่า 102 คนจากทุกภาคส่วนของห่วงโซ่มูลค่าในอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้
มีการจัดตั้งศูนย์ ASEAN Cassava Center ในประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังหน่วยงานพันธมิตรในภูมิภาค การจัดตั้งศูนย์มันสำปะหลังแห่งชาติ (National Cassava Center) แบบ virtual center ที่กำกับดูแลโดยหน่วยงานพันธมิตรในประเทศลุ่มน้ำโขง
โดยศูนย์มันสำปะหลังแห่งชาติดังกล่าวมีแผนที่จะยกระดับเป็นศูนย์ฯ ที่เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานพันธมิตร (physical center) ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีโครงการใหม่เพิ่มเติมอีก 2 โครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการ CCC คือ
- “โครงการการวิเคราะห์ฐานข้อมูลค่ามาตรฐานกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรการผลิต และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมแป้งมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย โดยมีโรงงานแป้งมันสำปะหลังมากกว่า 60% จากจำนวนโรงงานทั้งหมดในประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ
- “โครงการการพัฒนาโมเดลนำร่องในการสนับสนุนและขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบองค์รวมโดยผ่านกลไกมหาวิทยาลัย (CIGUS Model) อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง ระยะที่ 1”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)” โครงการทั้งสองจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค และยังมีส่วนช่วยในการขยายผลโครงการ CCC อีกด้วย
โครงการ CCC ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการยกระดับอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ ถึงแม้โครงการจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2565 แต่ทีมวิจัยฝ่ายไทยยังคงทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรในโครงการจากประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง
ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ศูนย์ ASEAN Cassava Center ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแบ่งปันข้อมูลเชิงวิชาการ และบริการให้คำปรึกษาด้านเทคนิคและแก้ปัญหาที่พบในอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในภูมิภาค
และผ่านโครงการ Train-the-Trainer Program under Lancang – Mekong Cooperation to Enhance Production Capacity and People’s Livelihood by Improving the Value Chain for Cassava Cultivation and Application: Clean Cassava Chips, Native Starch, Modified Starch, Ethanol and Biogas Production ที่ได้รับสนับสนุนทุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง (Lancang-Mekong Cooperation Special Fund)