Generative AI ต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ | ต้องหทัย กุวานนท์
เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา มีการเปิดตัว Chatbot GPT ซึ่งเป็น Chatbot ตัวใหม่ ของบริษัท Open AI ที่ทำวิจัยงานด้านปัญญาประดิษฐ์
บริษัทนี้ก่อตั้งโดยผู้ทรงอิทธิพลในวงการเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง แซม อัลท์แมน อีลอน มัสค์ และ เกรก บร็อกแมน โดยได้รับเงินลงทุนจากไมโครซอฟท์ไปแล้วถึงกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ การเปิดตัว Chatbot GPT เวอร์ชั่น 3.5 ที่ปรับปรุงจากเวอร์ชั่นที่เปิดตัวไปแล้วก่อนหน้า ทำให้ปี 2022 ถูกขนานนามว่าเป็นปีทองของ “Generative AI”
ด้วยความสามารถของ ChatGPT เวอร์ชั่นใหม่ ที่สามารถสื่อสารโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติและสามารถสร้างคอนเทนต์ เช่น บทความ, งานวิชาการ, แต่งเพลง, เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้อย่างดีจนบางชิ้นงานอาจเทียบเท่าหรือดีกว่าผลงานที่ถูกสร้างสรรค์โดยมนุษย์
ก่อนหน้านี้การใช้เทคโนโลยี AI จะเน้นที่การใช้งานเพื่อลดการทำงานซ้ำซากจำเจของมนุษย์เช่นงานคัดแยก จำแนกกลุ่มหรือการรวบรวมข้อมูลประเมินผลต่างๆ เพื่อนำมาใช้ทดแทนแรงงานไร้ฝีมือในภาคอุตสาหกรรม
แต่ Generative AI หรือ AI “ผู้สร้าง” จะไม่ได้มาเพื่อทดแทนแรงงานไร้ฝีมือ แต่จะสามารถเข้ามาทดแทนแรงงานทักษะสูงได้อีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยีส่วนใหญ่มองว่า Generative AI อาจจะเขียนโปรแกรม หรือเขียนบทความทางวิชาการได้ดีกว่ามนุษย์ภายในระยะเวลาอันใกล้
การเข้ามาของ Open AI ได้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในวงการเทคโนโลยีโลก คู่แข่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างกูเกิลถึงกับประกาศ “Code Red” สัญญาณเตือนภัย สั่งโปรแกรมเมอร์เร่งพัฒนา AI ตัวใหม่ เพื่อแข่งกับ ChatGPT ให้ได้
นอกจากนั้น การลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน Generative AI ในระยะเริ่มต้น (Seed) ก็พุ่งสูงขึ้นถึง 1.37 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกลุ่มที่ได้รับเงินลงทุนและมีมูลค่าบริษัทในระดับร้อยล้านเหรียญขึ้นไปก็มี
- Runway สตาร์ทอัพที่พัฒนาเครื่องมือ image-to-text
- Jasper สตาร์ทอัพที่พัฒนาเครื่องมือช่วยในการเขียนคอนเทนต์ในงานโฆษณา การตลาด และงานเขียนบล็อก
- Descript สตาร์ทอัพที่ใช้ AI ช่วยในการตัดต่อวิดีโอและสร้างคอนเทนต์
บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ McKinsey ได้ทำบทวิเคราะห์ระบุว่า Generative AI จะนำไปสู่การใช้งานเพื่อต่อยอดธุรกิจในหลายทางเช่น การทำการตลาดและการขายแบบ Personalized สำหรับธุรกิจค้าปลีก การออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานในภาคอุตสาหกรรมโดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรม
การใช้ AI เพื่อให้บริการทางด้านกฏหมายและวิเคราะห์ความเสี่ยงสำหรับองค์กร และการนำเอา Generative AI มาใช้เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมมูลค่าสูงเช่น อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรพลังงาน
ในส่วนของอาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นในยุคของ Generative AI ก็คืออาชีพ AI Prompt Engineer หรือผู้ที่ทำหน้าที่ป้อนคำสั่งเพื่อให้ AI สามารถประมวลผลข้อมูลออกมาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
อาชีพนี้จะเป็นที่ต้องการของทุกองค์กรโดยเป็นการผสมผสานความรู้ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและศิลปะในการเลือกข้อมูลที่จะสั่งการให้ AI ทำงานได้บรรลุผล
พัฒนาการของ Generative AI ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นก้าวกระโดดของ AI เข้าสู่กระแสหลักและคลื่นลูกนี้กำลังพัดเข้าสู่ฝั่งอย่างรวดเร็ว องค์กรธุรกิจที่ไม่ได้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของ AI “ผู้สร้าง” คงไม่ต่างกับการนิ่งดูดายและปล่อยให้คลื่นสึนามิซัดทุกอย่างหายไปในพริบตา
Business Transform: Corporate Future
• ต้องหทัย กุวานนท์
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม