Digitalize Agriculture: ฝันใหญ่ที่ (ยัง) ไปไม่ถึง
ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เทคโนโลยีการเกษตร (AgTech) เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนและตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน แต่การทำให้เทคโนโลยีการเกษตรเกิดการใช้งานในวงกว้าง ยังคงมีปัญหามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย
จากการสำรวจล่าสุดของ McKinsey พบว่ามีเพียง 9% ของเกษตรกรในเอเชียที่ใช้หรือมีแผนจะใช้เทคโนโลยีการเกษตรในอีกสองปีข้างหน้า อุปสรรคใหญ่ที่สุดคือต้นทุนและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่การเกษตรห่างไกล
นอกจากนั้นความไม่มั่นใจเรื่องผลลัพธ์จากการลงทุน ทำให้เกษตรกรยังขนาดความพร้อมในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ผลกระทบที่ตามมาก็คือปัญหาเรื่องผลผลิตและความสามารถในการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และโอกาสส่งออกเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดอาหารโลก
ถึงแม้การก้าวสู่โลกของ Agtech 5.0 จะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่หลายประเทศก็ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อินเดียประสบความสำเร็จกับการขับเคลื่อนโครงการ “Climate-Smart Villages” ที่มุ่งเน้นการขยายชุมชนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน
เช่น การใช้เทคโนโลยี AI และ IoT เพื่อบริหารจัดการน้ำและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ Genetics Technology เพื่อเลือกพันธุ์พืชที่ทนทานต่อสภาพอากาศ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการฟาร์ม
เกษตรกรที่ใช้ระบบการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการใช้ปุ๋ยที่ถูกปรับสภาพแล้ว สามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 20% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้โครงการขยายตัวจาก 1 หมู่บ้านที่ไปถึงกว่า 500 หมู่บ้าน นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ว่าเทคโนโลยีสามารถทำให้การเกษตรมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้นได้จริง
สำหรับภาคเกษตรไทยข้อมูลจาก TDRI ระบุว่าผลผลิตทางการเกษตรยังคงมีต้นทุนสูง ราคาต่ำและมีความเสี่ยงสูงมากจากสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภาครัฐควรเร่งสนับสนุนเงินทุนและสร้างแรงจูงใจทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนใน AgTech รวมถึงสร้างระบบนิเวศที่เน้นการมีส่วนร่วมของ รัฐ เอกชนและหน่วยงานสนับสนุนทางการเกษตร เพื่อช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมและทำให้เกิดการนำเอาเทคโนโลยีไปใช้งานจริง
การร่วมมือระหว่างองค์กรขนาดใหญ่และสตาร์ตอัป ก็เป็นอีกกลไกสำคัญในการนำเทคโนโลยีเข้าสู่ภาคเกษตร ในปี 2023 eFishery สตาร์ตอัประดับยูนิคอร์นจากอินโดนีเซียได้รับเงินลงทุน 200 ล้านดอลลาร์จากกองทุนในตะวันออกกลาง ทำให้สามารถขยายธุรกิจและเข้าถึงช่องทางการตลาดได้กว้างขึ้น
ในสหรัฐ บริษัท John Deere ได้ร่วมมือกับ Blue River Technology เพื่อนำ AI และ IoT ไปใช้ในฟาร์มขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้เพิ่มผลผลิตได้ถึง 20% และลดการใช้สารเคมีลงได้ 90%
การแสวงหาโอกาสจากความร่วมมือเหล่านี้ เป็นตัวอย่างของระบบนิเวศ AgTech ที่เอื้อต่อการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยเกษตรกร ปัจจุบัน การลงทุนในสตาร์ตอัปด้าน AgTech ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2023 สตาร์ตอัป AgTech ได้รับเงินลงทุนรวมถึง 5.7 พันล้านดอลลาร์
การเร่งทำให้เกิด Tech Adoption ในภาคเกษตรไม่เพียงแต่เป็นทางออกสำหรับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร แต่เป็นคำตอบของการทำเกษตรที่ยั่งยืน การร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และหน่วยงานด้านการวิจัยจะช่วยทำให้เกษตรกรสามารถปรับตัวและเติบโตได้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อผลผลิตทางการเกษตรที่เลี้ยงปากท้องของประชากรทั่วโลก นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งสร้างระบบนิเวศการเกษตรที่มั่นคง ยั่งยืน และขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เพื่อความอยู่รอดและการเติบโตของภาคเกษตรไทย