เอ็นไอเอ โชว์อันดับนวัตกรรมไทยปี 67 ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า

เอ็นไอเอ โชว์อันดับนวัตกรรมไทยปี 67 ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า

เอ็นไอเอ โชว์อันดับนวัตกรรมไทยปี 67 “ขยับขึ้นสู่อันดับ 41” ของดัชนีนวัตกรรมโลก พร้อมจับมือพันธมิตรเจาะลึกโรดแมปพัฒนาระบบนวัตกรรม พา “ประเทศไทย” สู่ “ชาตินวัตกรรม”

KEY

POINTS

  • ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2567 หรือ GII 2024 ประเทศไทยขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 41 ด้วยคะแนน 36.9 (เดิมอันดับ 43) 
  • ไทยมีอันดับตัวชี้วัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่น่าสนใจ อาทิ จำนวนคำขอรับอนุสิทธิบัตรในประเทศ สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก จากเดิมอันดับที่ 6 
  • เกือบทุกประเทศในอาเซียนมีอันดับดัชนี GII ดีขึ้น อินโดนีเซียก้าวกระโดดสูงขึ้น 7 อันดับ (อันดับ 54) เวียดนามดีขึ้น 2 อันดับ (อันดับ 44) และมาเลเซียดีขึ้น 3 อันดับ (อันดับ 33) 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี 2567 (Global Innovation Index 2024 หรือ GII 2024) ภายใต้ธีม “ปลดล็อกศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสังคม” (Unlocking the Promise of Social Entrepreneurship)

การจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก จัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของ 133 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 41 ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า 

เอ็นไอเอ โชว์อันดับนวัตกรรมไทยปี 67 ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การจัดอันดับดัชนี GII ในปีนี้ให้ความสำคัญกับประเด็นการปลดล็อกศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระแสการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ประกอบการเพื่อสังคมจำนวนมาก ที่กำลังค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาสังคมที่สำคัญด้วยนวัตกรรม

การศึกษาเรื่องนี้ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายนวัตกรรม และโครงการสนับสนุนด้านนวัตกรรม สามารถขยายและปรับปรุงโครงการของผู้ประกอบการเพื่อสังคม ที่สามารถขยายขอบเขตการดำเนินงาน เพื่อสร้างผลกระทบในวงกว้างที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในปีนี้นับเป็นข่าวดีของวงการนวัตกรรมไทย ที่ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2567 หรือ GII 2024 ประเทศไทยขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 41 ด้วยคะแนน 36.9 (เดิมอันดับ 43)

ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นทั้งปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) ขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 41 (เดิมอันดับ 44) และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) ขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 39 อันดับ (เดิมอันดับ 43)

เอ็นไอเอ โชว์อันดับนวัตกรรมไทยปี 67 ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า

 

สะท้อนถึงประสิทธิภาพของปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลผลิตทางนวัตกรรมได้ออกมามากกว่าปัจจัยนำเข้าที่ใส่ลงไปเพื่อพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม ทั้งนี้ ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่คาดหวังตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ซึ่งประเทศไทยมีพัฒนาการด้านนวัตกรรมดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (Upper middle-income economies) ในทุกปัจจัย เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบนจำนวน 34 ประเทศ

เช่นเดียวกันในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 จากจำนวน 17 ประเทศ และยังคงอยู่อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

อย่างไรก็ตาม เกือบทุกประเทศในอาเซียนมีอันดับดัชนี GII ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่ก้าวกระโดดสูงขึ้น 7 อันดับ อยู่อันดับที่ 54 เวียดนามดีขึ้น 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 44 และประเทศมาเลเซียดีขึ้น 3 อันดับ อยู่อันดับที่ 33

เอ็นไอเอ โชว์อันดับนวัตกรรมไทยปี 67 ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า

เมื่อพิจารณาความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ทั้ง 7 ปัจจัย ประเทศไทยมีอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้นในเกือบทุกปัจจัยจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะปัจจัยด้านระบบธุรกิจ (Business Sophistication) ขยับดีขึ้น 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 41

โดยตัวชี้วัดสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา ที่ลงทุนโดยองค์กรธุรกิจต่าง ๆ (GERD financed by business) ประเทศไทยยังคงครองอันดับที่ 1 ติดต่อกัน 5 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ ที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

“นภินทร” ยินดีไทยประสบความสำเร็จยกระดับนวัตกรรม

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีนวัตกรรมโลกหรือ GII เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดโลก

การขยับอันดับขึ้นของไทยแสดงถึงความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาที่มุ่งมั่นส่งเสริมการวิจัยและการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอ็นไอเอ โชว์อันดับนวัตกรรมไทยปี 67 ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า

ปีนี้ประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 41 จาก 133 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ จากเดิมอันดับ 43 ซึ่งประเทศไทย มีจุดแข็งที่โดดเด่นในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเฉพาะจากภาคธุรกิจซึ่งทำให้ไทย ครองอันดับ 1 ของโลกในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง

มีการพัฒนาทุนมนุษย์โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ซึ่งไทยมีผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม ในสัดส่วนที่สูง ส่งผลให้ประเทศอยู่ในอันดับที่ 14 ของโลก รวมทั้งศักยภาพของนักวิจัยในภาคธุรกิจไทยยังได้รับการยอมรับในอันดับที่ 13 ของโลก

สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีของประเทศ และมีการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา ซื้อสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจากต่างประเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้และพัฒนาภายในประเทศ

การพัฒนาเหล่านี้แสดงถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของไทย ในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เน้นการนำเข้าความรู้จากภายนอก เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

เอ็นไอเอ โชว์อันดับนวัตกรรมไทยปี 67 ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า

ในการเสวนาหัวข้อ “การพัฒนาระบบนวัตกรรมและการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรม” นางสาวนุสรา กาญจนกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับดัชนี GII ของไทย โดยได้เน้นย้ำถึงบทบาทของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ในรายงาน GII 2024 ไทยยังมีอันดับตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาที่น่าสนใจอีกหลายด้าน อาทิ จำนวนคำขอรับอนุสิทธิบัตรในประเทศ สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก จากเดิมอันดับที่ 6 ในปีที่ผ่านมา จำนวนการยื่นคำขอสิทธิบัตรออกแบบของไทย สูงเป็นอันดับที่ 33 ของโลก แสดงถึง การเติบโตของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการตระหนักรู้ของประชาชนในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายในประเทศที่มีมากขึ้น

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านนวัตกรรมของไทยที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และพร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของภูมิภาคอาเซียนด้วยเป้าหมายที่จะสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาที่มั่นคงและยั่งยืนในอนาคต 

ผลจากตัวชี้วัด GII สะท้อนให้เห็นว่า ไทยมีจุดเด่นที่ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของไทย โดยนำเทคโนโลยี AI มาช่วยพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มประสิทธิภาพงานบริการประชาชนและ ภาคธุรกิจให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ตลอดจนการร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ตามนโยบายรัฐบาลรวมถึงการยกระดับการบริการ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืน.