HackBKk เปลี่ยนกรุงเทพฯให้เป็นเมืองนวัตกรรม

HackBKk เปลี่ยนกรุงเทพฯให้เป็นเมืองนวัตกรรม

สมาคมไทยสตาร์ตอัป (Thai Startup) ร่วมกับกรุงเทพฯ ส่ง 6+3 โซลูชั่นช่วยแก้ปัญหาเพื่อชาวกทม. อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ, สร้างอาชีพให้คนพิการ, การเดินทางดี ภายใต้โครงการ “HackBKK เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรม”

สมาคม Thai Startup และกรุงเทพมหานคร จัดเวทีนำเสนอ 6+3 ผลงานจากงาน hackathon ภายใต้ “โครงการ HackBKK เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรม” หนึ่งในกิจกรรมภายใต้ “เทศกาลบางกอกวิทยา” ซึ่งงานนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ สมาคม Thai Startup, กรุงเทพมหานคร และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อคัดเลือก 6 สุดยอดสตาร์ทอัพ จาก 65 รายที่สมัครเข้ามานำเสนอไอเดียนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ

โดย 6 ผลงาน “Startup Track” มาจากการคัดเลือกทีมสตาร์ทอัพจาก 65 รายมาร่วมค้นหาโซลูชั่นกับตัวแทนจากสำนักงานภายใต้สังกัดกทม. และอีก 3 ผลงาน “Public Track” มาจากการนำเสนอจากภาคประชาชนที่ได้รับป๊อปปูลาร์โหวตจากเฟสบุ๊คของกรุงเทพฯ ที่ผ่านการคัดเลือกจาก 73 ไอเดีย 
 

HackBKk เปลี่ยนกรุงเทพฯให้เป็นเมืองนวัตกรรม

  • 6 ผลงาน Startup Track ได้แก่

1. การเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในกรุงเทพ (เศรษฐกิจดี) 

ทีม iTAX เสนอ “BKKredit สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อผู้ประกอบการรายย่อย” เช่น หาบเร่แผงลอย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ภายใต้แนวคิด “เป็นคนดี ที่หาเงินมาคืนได้” การประเมินเครดิตจะอาศัยเพียงข้อมูลที่มีอยู่แล้ว คือ ข้อมูลทะเบียนผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ที่ได้รับการรับรองจากตัวแทนผู้ค้า และเจ้าหน้าที่เทศกิจ

ถึงความประพฤติดีของผู้ค้าแผงลอยที่ขอสินเชื่อ ประเมินและบริหารความเสี่ยงการให้สินเชื่อด้วยเทคโนโลยีจัดทำบัญชีธนาคารและจัดการภาษีอัตโนมัติโดย iTAX bnk ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบได้

 

2. การสร้างโอกาสทางอาชีพสำหรับกลุ่มคนพิการ (บริการจัดการดี)

ทีม Vulcan Coalition เสนอ “แนวคิด Bangkok Care Live Chat Agent” ร่วมกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ในสำนักงานเขตต่าง ๆ ภายในพื้นที่กทม. คนพิการที่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อให้บริการเป็น Live Chat Agent จะทำหน้าที่สนับสนุนการตอบคำถาม และรับเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางต่าง ๆ และช่วยจัดประเภทข้อมูล-สถานะเรื่องร้องเรียนให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น

Vulcan Academy จะสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กทม. ทำให้เกิดการจ้างงานบุคคลกลุ่มนี้ได้มากขึ้น และช่วยให้ข้อมูลกับประชาชนมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ภายใต้กรอบ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรมที่คนพิการมีส่วนร่วมได้

 

3. ระบบจองพื้นที่สร้างสรรค์ทั้งกรุงเทพฯ (สร้างสรรค์ดี)

ทีม Zipevent เสนอ “แนวคิด Public Space Platform” ร่วมกับกรุงเทพฯ สร้าง “แพลตฟอร์มรวบรวมพื้นที่สร้างสรรค์กรุงเทพ” ช่วยให้ประชาชนที่ต้องการจัดงานในสถานที่ Public Space ของกรุงเทพฯ สามารถจองพื้นที่กว่า 500 สถานที่ได้หลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น เช่น หอศิลป์ สวนสาธารณะหลัก สนามกีฬา ศูนย์เยาวชน, พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ

HackBKk เปลี่ยนกรุงเทพฯให้เป็นเมืองนวัตกรรม

4. การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อฉุกเฉิน (สุขภาพดี)

ทีม กรุงเทพ-เกาเหลาเป็ด-เวชการ เสนอ “แนวคิด BKK Med for All” ภายใต้หลักคิด “อยู่กรุงเทพฯ รักษาได้ไม่ต้องใช้เส้น” ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดจากระบบสาธารณสุข ที่ก่อนหน้านี้มีแค่เพียงบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงได้ แต่กลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มคนที่มีความต้องการจริง ๆ กลับไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขได้โดยตรง

ดังนั้น Bangkok Medical for All จึงถูกพัฒนาและออกแบบมาเพื่อให้กรุงเทพฯ สามารถบริหารจัดการการให้บริการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้เงื่อนไขของระเบียบภาครัฐ และผู้ที่อาศัยในกรุงเทพฯ ทุกคนที่ต้องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ด้วยเทคโนโลยี และแนวคิดการจัดการแบบ citizen-centric และ open innovation

แนวคิดนี้จะช่วยส่งเสริมให้กับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุช และสามารถเปิดให้มี trusted nodes จากกลุ่มชุมชนที่หลากหลาย เข้ามาช่วยทำหน้าที่คัดกรอง และตอบสนองแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินของกรุงเทพได้หลากหลายระดับ

 

5. ฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยในราคาที่เข้าถึงได้ (โครงสร้างดี)

ทีม Horganice เสนอ “แนวคิด Housing Stock for First-Jobber” ร่วมกับกรุงเทพฯ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลห้องพักในราคาที่เหมาะสมกับรายได้ของ First-Jobber ที่มีมากกว่า 400,000 คน ด้วยเป้าหมายให้มีที่อยู่อาศัย และมีเงินเก็บภายใน 5 ปีของ การทำงาน ผ่านหลักการทำงาน คือ 

  • Rentini ซึ่งใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มของ Horganice เป็นตัวกลางในการจับคู่หอพัก และ First-Jobber ได้หลากหลายตามความต้องการของแต่ละบุคคล และช่วยลดราคาค่าห้องพักได้ประมาณ 10% โดยการนำรายได้ในส่วนของ commission ที่เก็บจากหอพัก มาอุดหนุนในส่วนค่าห้องและอัตราคงที่ตลอด 5 ปี 
  • จัดตั้งกองทุนอยู่ดีมีออม เพื่อให้ First-Jobber หักเงิน 20% จากฐานเงินเดือนในทุกเดือน เงินเดือนที่หักไว้จะถูกจัดสรรเพื่อจ่ายค่าห้องพักและเก็บออม โดยบริษัทนายจ้างร่วมสมทบเงินทุนในกองทุนเท่ากับหรือมากกว่ายอดออมสุทธิ 5 ปี แบ่งจ่ายเป็นอัตราขั้นบันไดตลอด 60 เดือน (5 ปี) เป็นส่วนช่วยให้ First-Jobber ซึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษาจบใหม่เข้าถึงแหล่งที่อยู่ในราคาที่เข้าถึงได้ และยังมีเงินออมใน 5 ปี

 

6. ฐานข้อมูลชุมชนและที่อยู่อาศัยกรุงเทพ (โครงสร้างดี)

ทีมบาเนีย (ประเทศไทย) Government Big Data Institute และกรุงเทพฯ เสนอ “แนวคิด Open Data for Better Bangkok” เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยี Big data โดยผนวกฐานข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทั้งสามหน่วยงานมี ในด้านอสังหาริมทรัพย์ และข้อมูลที่กรุงเทพฯ ที่มีอยู่ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานสะท้อนศักยภาพของแต่ละเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ

ทั้งในด้านการเดินทาง การเข้าถึงร้านค้าหรือบริการอื่น ๆ สำหรับต่อยอดในการวางแผนการพัฒนาพื้นที่รายเขตให้สอดคล้องกับดัชนีความอยู่สบาย อยู่ปลอดภัยของชุมชน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หรือจัดทำผังเมือง เพื่อลดความแออัดของพื้นที่เมือง รวมถึงการออกแบบพื้นที่เพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับประชาชนทุกวัย และทุกเพศสภาพ

HackBKk เปลี่ยนกรุงเทพฯให้เป็นเมืองนวัตกรรม

  • 3 ผลงานจาก Public Track ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการส่งไอเดียพัฒนาเมืองและได้รับคะแนนโหวตสูงสุด (Popular vote) ได้แก่

1. นัดหมายแพทย์ทางออนไลน์ง่าย-รวดเร็ว

ทีม Dr. ASA ซึ่งเป็นการรวมตัวของบุคลากรทางการแพทย์ เสนอ “แนวคิดเราอาสามาเป็นหมอในบ้านคุณ” เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานด้านสาธารสุข ภายใต้สโลแกน “อยู่กับหมอก่อนที่จะป่วย ดีกว่าป่วยแล้วค่อยไปหาหมอ” โดยทีมงานได้พัฒนาแอปพลิเคชันทางการแพทย์ ที่จะมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำและทําให้ทุกคนเข้าถึงสุขภาพได้ด้วยปลายนิ้ว ผ่านกลไก 3C คือ 

  • Community เติมโอกาสด้วยเครือข่ายหมอและบริการทางการแพทย์ เพื่อทําให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายและตอบโจทย์สุขภาพได้มากขึ้น 
  • Community เพิ่มเติมความรู้ด้านสุขภาพ และป้องกันปัญหาสุขภาพ
  • Coach เติมเวลาด้วยการให้บริการ AI scan เปรียบเสมือนหมอประจําตัวผู้ใช้บริการที่จะช่วยดูแลสุขภาพของคุณตลอด 24 ชั่วโมง 

แนวคิดนี้จะช่วยลดภาระการทํางานของหมอและการมาโรงพยาบาลโดยไม่จําเป็น ทำให้การบริการสาธารณสุขเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน ด้วยสโลแกน “Dr. Asa, Doctor for People

 

2. การเดินทาง วางแผนได้

ทีม ViaBus เสนอ “แนวคิด ViaBus แอปขนส่งโดยสารเรียลไทม์” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันฟรีบนสมาร์ทโฟน ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางในการนำเสนอข้อมูลระหว่างผู้โดยสาร และผู้ประกอบการรถสาธารณะ สำหรับให้ผู้โดยสารติดตามและวางแผนการเดินทาง ซึ่งในปัจจุบันเปิดให้ใช้บริการแล้วจริงสำหรับการดำเนินการผ่านรถโดยสาร ผ่านการติดตามรถได้แบบ Real-time (ด้วยระบบ GPS) 

โดยมีแผนจะขยายการให้บริการให้ครอบคลุมการขนส่งโดยสารในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมให้ครอบคลุมการเดินทางทั้งรูปแบบ รถ ราง เรือ เพื่อให้ผู้โดยสารในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่เกือบ 3 ล้านคนสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางได้ง่ายขึ้น สามารถตัดสินใจในการเดินทาง รวมถึงบริหารเวลาและวางแผนการการเดินทางได้ดีขึ้น ไม่ต้องรอคอยอย่างไร้ความหวังอีกต่อไป

 

3. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานระดับเขต

ทีมหวังเมืองดี เสนอ “แนวคิดเขตประชุมชนแพลตฟอร์มที่ทำให้สภาประชาคมเขตมีความเป็นดิจิตอล เข้าถึงคนได้ง่ายและมากที่สุด โดยเชื่อมโยงชาวกรุงเทพฯ ที่เป็นตัวแทนประชาชนผู้อาศัยในย่านนั้นและกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ ให้สามารถเสนอวาระในสภาประชาคมขึ้น และแบ่งปันเพื่อรับการสนับสนุนจากบุคคลทั่วไป หรือกลุ่มชุมชนต่าง ๆ ในเขต เพื่อเสนอเรื่องไปยังผู้บริหารเขต และยังสามารถตรวจสอบติดตามความคืบหน้าของวาระต่าง ๆ ได้อย่างโปร่งใส 

แพลตฟอร์มนี้ ผู้อำนวยการเขตจะได้รับทราบวาระที่เกิดขึ้น พิจารณารับเรื่อง รายงานหรือติดตามความคืบหน้าของวาระต่าง ๆ ได้ ช่วยสร้างกลไกการสื่อสารระหว่างคนกทม. และผู้บริหารเขต เพื่อสร้างโมเดลการออกแบบนโยบายภายใต้กรอบ People-centred design approaches และเพื่อให้ผู้อำนวยเขตปฏิบัติต่อประชาชนแบบ “หันหลังให้ผู้ว่า และหันหน้าให้ประชาชน” อย่างเต็มประสิทธิภาพ