ไทยติดอันดับท่องเที่ยวปลอดภัยในสายตาคนอเมริกัน

ไทยติดอันดับท่องเที่ยวปลอดภัยในสายตาคนอเมริกัน

ผลการศึกษาชิ้นใหม่ชี้ นักเดินทางชาวอเมริกันมองหลายประเทศเอเชียตอนนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัยกว่าเมื่อสี่ปีก่อน

บริษัทประกันภัยการเดินทาง Berkshire Hathaway Travel Protection เผยแพร่รายงาน สถานะประกันภัยเดินทาง ประจำปี 2565 พบว่า เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไทย ญี่ปุ่น จีน และเวียดนามมีอันดับความปลอดภัยประจำปีดีขึ้น

แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งที่คนอเมริกันเคยโปรดปรานในยุโรป และแคริบเบียน ได้แก่ อิตาลี บาฮามาส สเปน จาเมกา และสหราชอาณาจักร ถูกมองว่าเดินทางปลอดภัยน้อยลง

ออสเตรเลียก็ตกอันดับลงไปมาก จากปี 2561 ถึง 2565 ร่วงจากอันดับหนึ่ง มาอยู่อันดับ 10

สถานที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการเดินทาง

การสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันกว่า 1,500 คน ในเดือนก.ย.2564 ถามถึงการรับรู้เกี่ยวกับอาชญากรรม การก่อการร้าย การขนส่ง สุขภาพ รวมถึงความปลอดภัยของนักเดินทางที่เป็นผู้หญิง คนผิวสี และ LGBTQ พบว่าสามชาติเอเชียติดอันดับท็อปเทนจุดหมายปลายทางปลอดภัยที่สุด

สิงคโปร์ไม่ถูกรวมในอันดับประเทศ แต่ได้ที่ 3 ในการจัดอันดับเมืองปลอดภัยที่สุด เหนือกว่าโตเกียว (อันดับห้า) และกรุงเทพฯ (อันดับ 11)

ในการจัดอันดับจุดหมายปลายทางปลอดภัยที่สุดปีก่อนๆ สิงคโปร์เคยครองอันดับ 21 (จาก 56) ในปี 2563 และอันดับ 25 (จาก 53) ในปี 2562 ส่วนไต้หวันไม่ถูกรวมในการสำรวจ

ท็อป 10 ประเทศปลอดภัยที่สุด ได้แก่ แคนาดา ไอซ์แลนด์ สวีเดน ญี่ปุ่น ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ไทย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ตามลำดับ

ผู้หญิงและคนรุ่นมิลเลนเนียล (ปัจจุบันอายุ 27- 42 ปี) มีแนวโน้มมองจุดหมายปลายทางเอเชียปลอดภัยมากกว่าเดิมในสายตาคนรุ่นมิลเลนเนียล จุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยที่สุดในโลก ได้แก่ ไอซ์แลนด์ ตามด้วยเกาหลีใต้ ไทย ส่วนเวียดนามครองอันดับ 6 เหนือกว่ากรีซในอันดับ 7 เล็กน้อย

นอกจากนี้ คนมิลเลนเนียลยังจัดให้สิงคโปร์เป็นเมืองอันดับหนึ่งในแง่ความปลอดภัยโดยรวม เหนือกว่ามอนทรีออลและอัมสเตอร์ดัม

การรับรู้ความปลอดภัยเปลี่ยนแปลงไป

คารอล มุลเลอร์ รองประธาน Berkshire Hathaway Travel Protection กล่าวว่าก่อนโควิด-19 ระบาดนักเดินทางกังวลเรื่องการก่อการร้ายและอาชญากรรมรุนแรงมากที่สุด แต่การสำรวจในปีนี้ นักเดินทางกล่าวว่า พวกเขากังวลที่สุดเรื่อง “ความสามารถในการไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี” และ “อยู่อย่างปลอดภัยจากโรค” ผู้ให้ข้อมูลยังกังวลเรื่องติดอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งมากกว่ากลัวเรื่องไปป่วยที่นั่น

“กลายเป็นว่า โอเค ฉันจะเดินทางล่ะนะ ฉันฉีดวัคซีนแล้ว ฉันรู้สึกสบายดี แต่อะไรจะเกิดขึ้นถ้าฉันไปติดอยู่ที่นั่น” มุลเลอร์ กล่าวและว่า นี่อาจเป็นเหตุผลที่แคนาดาติดอันดับหนึ่ง แคนาดาเปิดประเทศรับชาวอเมริกันฉีดวัคซีนแล้วในเดือนส.ค.2564 หนึ่งเดือนก่อนสำรวจความใกล้ชิดกับสหรัฐใช้ได้ผลกับนักเดินทางที่อยาก “อยู่ใกล้บ้าน”

ส่วนการรับรู้ความปลอดภัยของออสเตรเลียลดลงอาจเป็นเพราะ “ข้อจำกัดโควิดเข้มงวด เป็นความปลอดภัยที่ไม่สามารถกลับบ้านได้เมื่ออยากกลับ” ทั้งนี้ ออสเตรเลียปิดประเทศตลอดช่วงที่สำรวจความคิดเห็นชิ้นนี้

อันดับที่เปลี่ยนแปลง

ไอซ์แลนด์และสวีเดนคงอันดับของตนในฐานะจุดหมายปลายทางปลอดภัย ขณะที่อิตาลีที่มักได้คะแนนสูงอันดับร่วงลงเพราะเข้าประเทศยาก และสถานการณ์โควิด

มุลเลอร์ กล่าวว่า การสำรวจนี้ไม่ได้ลงลึกถึงสิ่งที่อยู่ในใจผู้ให้ข้อมูล แต่สถานที่มีข่าวใหญ่เรื่องโควิดระบาด อย่างสหราชอาณาจักร ข่าวย่อมส่งผลต่อการรับรู้ของผู้คน นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงระเบียบวิธีสำรวจในปีนี้ส่งผลต่ออันดับด้วย

“มีแต่คนที่เคยไปที่นั่นจริงๆ เท่านั้นถึงจะรู้ว่าปลอดภัย ถ้าดูห่างๆ ก็คิดว่าประเทศยุโรปปลอดภัยกว่า แต่คนที่เคยไปประเทศเอเชียจึงจะรู้ด้วยตนเองถึงความปลอดภัย”

การรับรู้คงอยู่ตลอดไปหรือไม่

หลายชาติเอเชียที่อันดับดีขึ้นได้รับการยกย่องจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ถึงกลวิธีที่พวกเขาใช้ในการจัดการ การระบาดของโควิด-19

Deep Knowledge Analytics บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลในลอนดอน วิเคราะห์การรับมือโควิดใน 72 เมือง ยกให้อาบูดาบีเป็นอันดับหนึ่งของโลก สิงคโปร์เป็นอันดับสอง และโซลเป็นอันดับสามในด้านนี้

สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิดต่ำที่สุดในกลุ่มที่เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 1,000 คน

ราเชล ฟู ผู้อำนวยการสถาบันท่องเที่ยวเอริค ฟรีดไฮม์ มหาวิทยาลัยฟลอริดาเผยว่า การรับมือโควิดของประเทศต่างๆ มีผลต่อการรับรู้ถึงความปลอดภัยในการเดินทางของนักท่องเที่ยว “ข้อเท็จจริงจะถูกบันทึกไว้ด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาย้อนหลังว่าแต่ละประเทศจัดการการระบาดใหญ่อย่างไร ประวัติศาสตร์จะตรวจสอบเรา”

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์