สิงคโปร์โชว์โครงกระดูก‘ทีเร็กซ์’ ก่อนเปิดประมูลที่ฮ่องกง
คนรักไดโนเสาร์ในสิงคโปร์ได้ชมโครงกระดูกไทแรนโนซอรัสเร็กซ์ ก่อนเปิดประมูลในเดือนหน้า ด้านผู้เชี่ยวชาญประนามการค้ากระดูกไดโนเสาร์ที่ทำเงินมหาศาล “เป็นอันตรายต่อวิทยาศาสตร์”
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน บริษัทประมูลคริสตีส์ จัดแสดงโครงกระดูกไทแรนโนซอรัสเร็กซ์ (ทีเร็กซ์) ประกอบด้วยกระดูกราว 80 ชิ้น หนัก 1,400 กิโลกรัม โดยไม่ได้บอกราคาประเมิน
โครงกระดูกที่เรียกกันว่า “เฉิน” แปลว่า “ดั่งเทพเจ้า” จะแสดงในสิงคโปร์สามวันก่อนขนส่งไปประมูลที่ฮ่องกงในเดือน พ.ย. ถือเป็นการประมูลโครงกระดูกทีเร็กซ์ครั้งแรกในเอเชีย
นายฟรานซิส เบลิน ประธานคริสตีส์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเผย “ทีเร็กซ์ 20 โครงที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่มีสถาบันหรือนักสะสมเอเชียคนใดเป็นเจ้าของเลย เราหวังจริงๆ ว่า เฉินจะได้บ้านใหม่ไปอยู่กับนักสะสมเอเชียคนใดคนหนึ่งที่นี่”
โครงกระดูกไดโนเสาร์โตเต็มวัยตัวนี้ ซึ่งสูง 4.6 เมตร ยาว 12 เมตร เชื่อว่าเป็นตัวผู้ ขุดได้จากที่ดินเอกชนในเฮลส์ครีกฟอร์เมชัน รัฐมอนแทนา สหรัฐ เมื่อปี 2563
“ฉันไม่เคยเห็นฟอสซิลจริงๆ มาก่อน เห็นแล้วก็ทึ่งเพราะมันสง่างาม” ลอเรน ลิม วัย 33 ปี ผู้ชมนิทรรศการในสิงคโปร์ให้ความเห็น
ข่าวร้ายสำหรับวิทยาศาสตร์
เฉิน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียส ราว 67 ล้านปีก่อน ไม่ใช่ไดโนเสาร์ตัวเดียวที่ถูกประมูลช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เมื่อเดือน ก.ค. โครงกระดูกกอร์โกซอรัสตัวแรกถูกนำมาประมูลที่นิวยอร์กวงเงิน 6.1 ล้านดอลลาร์ “สแตน” ทีเร็กซ์อีกตัว คริสตีส์เปิดประมูลได้ 31.8 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 แต่เทรนด์นี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวล
“เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไดโนเสาร์กำลังกลายเป็นของเล่นสะสมในหมู่คนมีเงิน ผมได้แต่หวังว่ากระแสนี้จะจบลงในไม่ช้า” นายสตีฟ บรูแซ็ตต์ นักบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวและว่า เทรนด์นี้เป็น “ข่าวร้ายสำหรับวิทยาศาสตร์” และโครงกระดูกในพิพิธภัณฑ์
นายโทมัส คาร์ นักบรรพชีวินวิทยาอีกคนจากสหรัฐ กล่าวว่า การประมูลแบบนี้กำลังเป็น“อันตรายต่อวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน” แม้ว่าโครงกระดูกจะถูกนำไปใช้ศึกษาก่อนนำมาขายก็ตาม
“การเก็บไว้อย่างถาวรปลอดภัยสร้างหลักประกันว่า นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าไปสังเกต ทดสอบ และทำซ้ำได้ ซึ่งฟอสซิลที่ถูกนำไปขายในเชิงพาณิชย์ไม่มีการรับประกันแบบนี้” ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเป็นห่วง
ด้านนายเบลินจากคริสตีส์ หวังว่า จะมีหน่วยงานสาธารณะมาประมูลเฉิน และว่าโครงกระดูกทั้งร่างได้รับการวิจัยเต็มที่แล้ว และบันทึกภาพไว้ในระบบสามมิติ
“องค์ประกอบทั้งหมดของโครงกระดูกพร้อมให้สาธารณชนได้วิจัย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้าของใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันหรือบุคคล จะรับรองว่าสาธารณชนสามารถชมมันได้” ตัวแทนจากคริสตีส์กล่าวทิ้งท้าย