เปิดบทบาท‘กษัตริย์มาเลเซีย’ ผ่าความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

เปิดบทบาท‘กษัตริย์มาเลเซีย’ ผ่าความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย กำลังเป็นที่จับตามอง เนื่องจากพระองค์ต้องตัดสินพระทัยว่า ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนต่อไป หลังการเลือกตั้งในประเทศ ไม่มีพรรคการเมืองฝ่ายใดที่มีเสียงข้างมากในสภา และการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลล้มเหลว

สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน อับดุลละฮ์ เรียยาตุดดิน อัล-มุซตาฟา บิลละฮ์ ชะฮ์ อิบนี อัล-มาร์ฮุม สุลต่าน ฮาจี อะฮ์มัด ชะฮ์ อัล-มุซตาอิน บิลละฮ์ เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียพระองค์ที่ 16 ตรัสเมื่อวันอังคาร (22 พ.ย.) ว่า พระองค์จะตัดสินพระทัย เลือกนากยกฯ ระหว่างอัมวาร์ อิบราฮิม และมูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตนายกฯมาเลเซีย เร็ว ๆนี้

ถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 2 ปีของมาเลเซีย ที่กษัตริย์เข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งนายกฯ  โดยครั้งนี้เป็นการแต่งตั้งนายกฯครั้งแรกหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไป เพราะว่าการแต่งตั้งสองครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีลาออก  

 

สมเด็จพระราชาธิบดีที่ 16 คือใคร?

มาเลเซียมีการปกครองระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยกษัตริย์จะได้รับเลือกขึ้นมาปกครองประเทศรัชสมัยละไม่เกิน 5 ปี จากสมาชิกราชวงศ์ทั้ง 9 รัฐ ในแต่ละภูมิภาค และสมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลละฮ์ รีอายาตุดดิน แห่งรัฐปะหังทางชายฝั่งตะวันตกของมาเลเซีย ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2562 ด้วยพระชนม์มายุ 59 พรรษา และมีคะแนนนิยมจากภาพลักษณ์ติดดินตั้งแต่เริ่มรัชกาลของพระองค์ 

พระองค์ทรงเข้าแถวที่ร้านอาหารไก่ทอดเคนตักกีและพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์รักษาเหยื่ออุบัติเหตุบนทางหลวง นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเป็นนักกีฬาตัวยง เป็นตัวแทนรัฐในการแข่งขันฟุตบอลเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ เป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารฟีฟ่าและประธานสหพันธ์ฮอกกีแห่งเอเชีย

อำนาจแต่งตั้งนายกฯของกษัตริย์มาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม การเลือกนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ไม่ใช่หน้าที่ของกษัตริย์เสมอไป แม้รัฐธรรมนูญระบุให้อำนาจพระมหากษัตริย์สามารถเลือกนายกฯได้ และกษัตริย์มาเลเซียไม่ค่อยได้ใช้อำนาจบ่อยนัก แต่ความไม่มั่นคงทางการเมืองในช่วง 2 ปีมานี้ ทำให้กษัตริย์ต้องใช้อำนาจเลือกนายกฯอีกครั้ง

แม้ครั้งนี้เป็นการเลือกนายกฯครั้งแรกหลังมีการเลือกตั้งทั่วไป แต่สมเด็จพระราชาธิบดีที่ 16 แห่งมาเลเซีย เคยใช้อำนาจลักษณะนี้มาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรก พระองค์ทรงแต่งตั้งมูห์ยิดดิน ขึ้นเป็นนายกฯ เมื่อเดือน ก.พ. ปี 2563 เมื่อมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกฯคนก่อนลาออกเนื่องจากมีปัญหากับรัฐบาลผสม โดยในการแต่งตั้งพระองค์ต้องร่วมประชุมกับฝ่ายนิติบัญญัติกว่า 222 คน เพื่อเลือกว่าใครจะได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ จากนั้นไม่กี่เดือน หลังการจัดตั้งรัฐบาลของมูห์ยิดดินล้มเหลว ฝ่ายนิติบัญญัติได้ส่งจดหมายถึงสมาชิกสภาแต่ละคน ให้แสดงความจำนงค์ว่าต้องการให้ใครเป็นนายกฯ จนนำมาสู่การตัดสินใจแต่งตั้งอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ ขึ้นเป็นนายกฯจนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

ลุ้นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

หลังจากที่อันวาร์และมูห์ยิดดินเข้าพบกษัตริย์เมื่อวันอังคาร (22 พ.ย.) มูห์ยิดดิน กล่าวว่า พระองค์แนะนำให้ทั้งสองคนจัดตัั้ง ‘รัฐบาลเอกภาพ’ ร่วมกัน แต่เขาไม่เห็นด้วย พระองค์จึงเรียกประชุมฝ่ายนิติบัญญัติ 30 คน จากแนวร่วมแห่งชาติในวันนี้ (23 พ.ย.) เพื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และไม่ว่าใครจะได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ ต่างต้องเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นอยู่ดี