‘อีลอน มัสก์’เตือนนักลงทุนเลี่ยงก่อ‘หนี้มาร์จิ้น

‘อีลอน มัสก์’เตือนนักลงทุนเลี่ยงก่อ‘หนี้มาร์จิ้น

‘อีลอน มัสก์’เตือนนักลงทุนไม่ควรก่อ‘หนี้มาร์จิ้น’ หรือขายชอร์ตหุ้น ชี้อาจสร้างความตื่นตระหนกครั้งใหญ่ในตลาดหุ้น

นายอีลอน มัสก์ เตือนนักลงทุนไม่ควรก่อ ‘หนี้มาร์จิ้น’ หรือหนี้ที่ลูกค้าโบรกเกอร์ใช้บัญชีมาร์จิ้นซื้อ-ขายหลักทรัพย์ หรือขายชอร์ตหุ้น โดยระบุว่าการก่อหนี้ลักษณะนี้เพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดความตื่นตระหนกครั้งใหญ่ในตลาดหุ้น

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา นายมัสก์ ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทเทสลาทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ เข้าซื้อทวิตเตอร์ในราคา 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และทำให้บริษัทต้องแบกรับภาระหนี้ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บรรดาวาณิชธนกิจของมักส์กำลังพิจารณาที่จะเปลี่ยนหนี้ดอกเบี้ยสูงบางส่วน ไปเป็น Margin Loans ที่มีหุ้นเทสลาเป็นหลักค้ำประกัน ซึ่งมักส์ต้องชำระคืนเป็นการส่วนตัว

นอกกจากนี้ อีลอน มัสก์ ยังเทขายหุ้นเทสลาไปเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่มีส่วนผลักดันให้หุ้นเทสลาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี

หลังจากขายครั้งล่าสุด มัสก์ก็ให้สัญญาณเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะหยุดขายหุ้น พร้อมเสริมว่า การหยุดชั่วคราวอาจใช้เวลาถึง 2 ปี หรือมากกว่านั้น ทั้งยังย้ำความเชื่อของเขาว่า เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย และการชะลอตัวอาจใกล้เคียงกับระดับในปี 2552

เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ทันทีที่ อีลอน มัสก์ ก้าวขึ้นกุมอำนาจทวิตเตอร์ สถานการณ์ภายในบริษัทก็ปั่นป่วนไปหมด โดยในช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์ นายมัสก์สั่งเลิกจ้างพนักงานทวิตเตอร์จำนวนมากถึงครึ่งหนึ่ง และปลดผู้บริหารระดับสูงออกไปเกือบหมด ทั้งยังสั่งยกเลิกนโยบายทำงานจากที่บ้าน พร้อมเรียกตัวพนักงานที่เหลือกลับเข้ารายงานตัวที่สำนักงาน

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า นายโยเอล รอธและนายโรบิน วีลเลอร์ ผู้บริหารระดับสูงสองคนที่เหลืออยู่กำลังถูกไล่ออกจากบริษัทเช่นเดียวกัน แม้มีรายชื่อปรากฏอยู่ในคณะผู้บริหารชุดใหม่ของนายมัสก์ก็ตาม

แม้การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ทำให้ทวิตเตอร์รอดพ้นจากการตรวจสอบของตลาดสาธารณะ แต่นายมัสก์ก็สร้างภาระหนี้สินให้แก่องค์กรถึงเกือบ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งขณะนี้อยู่ในมือของธนาคารย่านวอลล์สตรีท 7 แห่งซึ่งไม่สามารถขายให้กับนักลงทุนได้