“ฉิน กัง” รัฐมนตรีต่างประเทศจีนคนใหม่ กับความหวังปรับสัมพันธ์สหรัฐ
เร็วไปถ้าจะบอกว่า การแต่งตั้ง “ฉิน กัง” เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศจีนจะนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์ระหว่างจีน และสหรัฐ แต่สิ่งที่เป็นไปได้แน่ๆ นั่นคือ ไม่ใช่ว่านโยบายจะเปลี่ยนไป เพราะฉินไม่อยู่ในฐานะตัดสินใจได้ แต่การแทนที่หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศจีน อาจแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างจีน และสหรัฐจะไปในทิศทางใด ต้องจับตาฉิน ผู้ที่ยืนหนึ่งในแถวหน้าการดำเนินนโยบายการทูตแบบนักรบหมาป่า (wolf warrior diplomacy) เป็นสไตล์การทูตอีกแบบหนึ่งต่างไปจากการทูตจีนในอดีตที่เต็มไปด้วยการสงวนท่าที
แม้ว่าตอนนี้ หวังได้ส่งไม้ต่อให้กับฉินไปแล้ว แต่เขาเองก็ยังไม่ได้หายไปไหน ยังดูแลนโยบายด้านการต่างประเทศของจีนอยู่ โดยรับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการ ฝ่ายการต่างประเทศกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดในด้านการต่างประเทศของจีน และมีบทบาทสำคัญในกรมการเมืองของคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประกอบไปด้วยสมาชิก 24 คนและเป็นฝ่ายตัดสินใจสูงสุดของพรรค
เว็บไซต์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ระบุว่า ถ้อยแถลงแรกของฉิน วัย 56 ปีได้ย้ำ "แนวทางการทูตของจีนที่ขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาดังเดิม ข้อริเริ่ม และความแข็งแกร่งของจีน"
โดยทั่วไปแล้ว นักการทูตได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานเพื่อประเทศตนเอง บางครั้งไม่จำเป็นต้องรับบทบาทหนักแน่น และเคร่งขรึมใต้สปอร์ตไลต์เพียงอย่างเดียว แต่นักการทูตยังทำหน้าที่นักประชาสัมพันธ์ที่สุขุมนุ่มลึกอีกด้วย
ในช่วงที่ฉินดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเวลา 17 เดือน ทั้งสองประเทศมีปัญหากระทบกระทั่งกันมาตลอด ทั้งเรื่องสงครามทางการค้า (trade war) หรือ สงครามทางเทคโนโลยี (tech war) รวมไปถึงจุดยืนที่มีต่อไต้หวัน แต่ตัวเขาเองนั้นแสดงความเต็มใจที่จะร่วมมือทำงานกับทางสหรัฐ จึงทำให้มีการคาดการณ์กันว่า เมื่อฉินก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐก็คงไม่ได้ต่างไปจากเดิมมาก
“แม้ฉินจะไม่ประสบความสำเร็จมากนักในเรื่องปรับความสัมพันธ์จีนและสหรัฐ ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตที่นั้น แต่ก็ไม่ถึงขั้นเลวร้ายลงไป ซึ่งมีข้อสังเกตว่า การปรากฏตัวของฉินในมิติหนึ่งได้แสดงความเป็นมิตร แต่ก็ไม่ได้ช่วยคลายความสัมพันธ์สองประเทศที่ตึงเครียด” ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์วิเคราะห์
เมื่อต้นเดือนม.ค. กระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกแถลงการณ์ที่ฉิน ได้สนทนากับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐทางโทรศัพท์เมื่อวันปีใหม่ ที่ผ่านมาฉินก็ย้ำว่า มุ่งมั่นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐให้ดียิ่งขึ้น พร้อมที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับบลิงเคน บนพื้นฐานความร่วมมือที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์สองประเทศดียิ่งขึ้น
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ขณะนี้จีนกำลังจะกลับมาดำเนินนโยบายทางการทูตแบบ ถ้อยทีถ้อยอาศัยมากขึ้น หลังการแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวในช่วงที่ผ่านมา ก็เผชิญกับแรงต่อต้านไม่น้อย
สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ในระยะหลังประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้แสดงให้เห็นว่าอยากจะกลับมาผูกสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ อย่างเช่น สหรัฐ รวมทั้งผู้นำของประเทศพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น, นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี และ นายแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย
ผู้สังเกตการณ์บางคนเตือนว่าอย่ามองว่า จีนกำลังถอยห่างจากการทูตแบบเผชิญหน้า ขณะที่บิล บิชอป นักข่าวสหรัฐเขียนในบล็อก Sinocism ว่าแนวทางการทูตดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็น “หลักการพื้นฐาน” ของรูปแบบการทูตของผู้นำ สี จิ้นผิง
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาภารกิจแรกของฉินที่จะให้การต้อนรับบลิงเคนเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ในเดือนม.ค.นี้ ซึ่งมีขึ้นหลังจากการพบปะแบบตัวต่อตัวครั้งแรกกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐในระหว่างการประชุมจี20 โดยการเดินทางไปจีนครั้งนี้ของบลิงเคนก็เพื่อติดตามผลการหารือดังกล่าว และหาทางลดความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างจีน และสหรัฐที่ไม่ค่อยราบรื่นนัก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์