กูรูเชื่อจีนตอบโต้ไม่แรง สหรัฐยิงบอลลูน
นักวิเคราะห์เผย จีนอาจตอบโต้สหรัฐยิงบอลลูนต้องสงสัยสอดแนม หลังเตือนให้ระวัง “ผลกระทบร้ายแรง” ตามมา แต่ไม่น่าจะทำให้ความสัมพันธ์เลวร้ายลง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน นักวิเคราะห์และนักการทูตในเอเชียกำลังจับตาการตอบโต้ของจีนอย่างใกล้ชิด หลังสหรัฐยิงบอลลูนที่จีนบอกว่าใช้สำรวจอากาศ ตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติกนอกฝั่งเซาท์แคโรไลนาเมื่อวันเสาร์ (4 ก.พ.) ตามเวลาสหรัฐ จีนประณามทันทีว่าเป็นการกระทำ “เกินกว่าเหตุ” และขอสงวนสิทธิ์ใช้วิธีการที่จำเป็นรับมือกับ “สถานการณ์แบบเดียวกัน” แต่จีนไม่ได้เผยรายละเอียด
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาจะจับตาน่านฟ้า และน่านน้ำเอเชียตะวันออกเพื่อหาสัญญาณความตึงเครียด เนื่องจากทั้งจีน สหรัฐ และพันธมิตรต่างส่งเรือ และเครื่องบินมามากขึ้น แต่เมื่อเกิดความตึงเครียดช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาเรื่องบอลลูน ทั้งปักกิ่ง และวอชิงตันต่างพยายามปรับสัมพันธ์
การพบบอลลูนในบรรยากาศชั้นสูงเหนืออเมริกาเหนือ กระตุ้นให้สหรัฐเลื่อนการเยือนปักกิ่งในสัปดาห์นี้ของแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทริปนี้เป็นผลพวงจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประชุมทวิภาคีร่วมกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อเดือนพ.ย. ที่บาหลี อินโดนีเซีย
หลายฝ่ายมองว่า ทั้งสหรัฐ และจีนต่างต้องการปรับความสัมพันธ์หลังปั่นป่วนมาหลายปี รัฐบาลไบเดนกังวลว่าความตึงเครียดจะบานปลายกลายเป็นการเผชิญหน้า ส่วนสีต้องการฟื้นเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก หลังเสียหายหนักเพราะโควิด-19 ระบาด
จ้าว ตง นักวิจัยอาวุโสประจำสำนักงานจีน มูลนิธิคาร์เนกี เพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ และนักวิจัยรับเชิญมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน กล่าวว่า หนทางการสร้างสัมพันธ์สหรัฐ-จีน ครั้งใหม่น่าจะยังคงเป็นไปตามแผน
“ทั้งสองฝ่ายยังสนใจสร้างสัมพันธ์ทวิภาคีให้มีเสถียรภาพ และรับผิดชอบเหมือนๆ กัน”
คอลลิน โก๊ะห์ นักวิจัยด้านความมั่นคง วิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา เอส ราชารัตนัม ของสิงคโปร์คาด จีนจะตอบโต้กองเรือลาดตระเวนสหรัฐอย่างทรงพลังแต่จะไม่เผชิญหน้า
แม้แต่ในช่วงสงบ กองทัพจีนสอดแนมการลาดตระเวนของกองทัพสหรัฐอย่างแข็งขันอยู่แล้ว โดยเฉพาะในทะเลท่ามกลางความตึงเครียดเรื่องไต้หวัน และทะเลจีนใต้
“กับแพลตฟอร์มที่มีมนุษย์ เราอาจคาดได้ว่าจีนจะยับยั้งชั่งใจ แต่กับแพลตฟอร์มที่ไม่มีมนุษย์อาจไม่แน่ใจเช่นนั้นได้ โดยเฉพาะถ้าปักกิ่งเชื่อว่า สามารถควบคุมความเสียหายได้เนื่องจากไม่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง” โก๊ะห์กล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า จีนเคยยึดเครื่องร่อนใต้น้ำสหรัฐปล่อยจากเรือวิจัยมหาสมุทรลำหนึ่งที่นอกน่านน้ำฟิลิปปินส์ในเดือนธ.ค.2559 ต่อมากองทัพเรือจีนคืนให้กับเรือรบสหรัฐ
คริสโตเฟอร์ ทูมี นักวิชาการด้านความมั่นคง วิทยาลัยบัณฑิตศึกษากองทัพเรือสหรัฐในแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า จีนจะตอบโต้แบบจำกัด
“ผมคาดว่าพวกเขาประท้วงพอหอมปากหอมคอ แล้วกวาดเรื่องนี้ไว้ใต้พรม จากนั้นกลับมาสานต่อการเยือนระดับสูงภายในเวลาไม่กี่เดือน” ทูมีย์วิเคราะห์
จู เฟิง คณบดีวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยหนานจิง กล่าวว่า ทางการสหรัฐควรหยุด “ปั่นกระแส” เพื่อสร้างหลักประกันว่าการกลับมาสื่อสารกันแบบปกติที่พวกเขาร้องขอจากปักกิ่งก่อนหน้านี้เป็นไปอย่างราบรื่น
จูแสดงความหวัง “สองรัฐบาลสามารถพลิกเหตุการณ์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพื่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ จะกลับไปสู่ช่องทางการสื่อสารและสนทนาเชิงสถาบัน”
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งใช้วิธีจับตาสื่อรัฐ และกิจกรรมในโลกออนไลน์เพื่อหานัยโหมโรงการตอบโต้ที่รุนแรงยิ่งขึ้น หลังสื่อทางการกระแสหลักมัวแต่รายงานแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ แต่บนโซเชียลมีเดียจีนที่ทางการตรวจสอบอย่างหนักมีหลักฐานเพียงเล็กน้อยบ่งบอกว่าความรู้สึกชาตินิยมกำลังถูกปลุกเร้า ชาวเน็ตหลายคนตั้งคำถามว่าจะอะไรนักหนากับบอลลูนลูกเดียว
“ตอนนี้จีนสามารถปลดระวางดาวเทียมได้เลยนะเนี่ย!” ชาวเน็ตคนหนึ่งยิงมุข
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์