กำลังซื้อจีนแผ่ว ฉุดแผนฟื้นเศรษฐกิจโลกระส่ำ
กำลังซื้อจีนแผ่ว ฉุดแผนฟื้นเศรษฐกิจโลกระส่ำ โดยเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นกลไกลขับเคลื่อนการเติบโตของเเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามในปีนี้ ชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนมานี้
Key Points:
- ผู้กำหนดนโยบายในประเทศต่างๆกำลังออกมาตรการเพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุกประเภทของจีนตั้งแต่วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์พากันปรับตัวร่วงลงอย่างมาก
- นักลงทุนทั่วโลกถอนเม็ดเงินกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ออกจากตลาดหุ้นจีน ส่วนใหญ่เทขายหุ้นบลูชิพออกจนหมด
- โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ และมอร์แกน สแตนเลย์เตือนว่า ผลกระทบของวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอาจจะลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งจะทำให้รายได้และผลตอบแทนในภูมิภาคเอเชียลดลง
- ญี่ปุ่น ส่งออกในเดือนก.ค.ลดลงครั้งแรกในรอบกว่า2ปี หลังจากจีนลดการนำเข้ารถยนต์และชิป
- ต่างชาติแห่เทขายพันธบัตรจีนคิดเป็นมูลค่า 3.02 หมื่นล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ต้นปี หลังจากจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ย และกำลังมองหาทางเลือกอื่นๆ เช่น พันธบัตรเกาหลีใต้และอินโดนีเซีย
เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นกลไกลขับเคลื่อนการเติบโตของเเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามในปีนี้ มีการชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เท่ากับส่งสัญญาณเตือนทั่วโลกว่าช่วงที่เหลือของปีนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่ประเทศต่างๆคาดหวัง
บรรดาผู้กำหนดนโยบายกำลังออกมาตรการต่างๆเพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุกประเภทของจีนตั้งแต่วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์พากันปรับตัวร่วงลงอย่างมาก
แคทเทอร์พิลลา อิงค์ ระบุว่า ความต้องการเครื่องจักรในจีนที่ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างปรับตัวร่วงลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และประธานาธิบดีโจไบเดนของสหรัฐเรียกขานปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็น “ระเบิดเวลา” เนื่องจากความท้าทายด้านเศรษฐกิจของจีน และว่าประเทศจีนกำลังประสบปัญหาเพราะการเติบโตที่อ่อนแอ
ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกถอนเม็ดเงินกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ออกจากตลาดหุ้นจีน ส่วนใหญ่เทขายหุ้นบลูชิพออกจนหมด โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ และมอร์แกน สแตนเลย์เตือนว่า ผลกระทบของวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอาจจะลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งจะทำให้รายได้และผลตอบแทนในภูมิภาคเอเชียลดลง
วิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนทำให้ทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ปรับลดเป้าหมายในระยะ 12 เดือนของดัชนี MSCI ตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิกไม่รวมญี่ปุ่น ลงเหลือ 555 จากเดิมที่ระดับ 580
มีนักวิเคราะห์หลายรายออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่า วิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์และความเสี่ยงที่จีนจะเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินฝืดเพิ่มขึ้นนั้น ได้สร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก และคาดว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะรุนแรงมากขึ้นในอีกไม่กี่ไตรมาสข้างหน้า
นอกจากนี้ ประเทศต่างๆในเอเชียต่างได้รับผลกระทบไปเต็มๆในด้านการค้าที่ลดลงเพราะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว เหมือนกับอีกหลายประเทศในแอฟริกา เริ่มจากญี่ปุ่น ส่งออกในเดือนก.ค.ลดลงครั้งแรกในรอบกว่า2ปี หลังจากจีนลดการนำเข้ารถยนต์และชิป
ส่วนบรรดาธนาคารกลางตั้งแต่เกาหลีใต้ จนถึงไทย ต่างพากันหั่นคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยอ้างว่าเป็นเพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่อ่อนแอ
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ความหายนะไปเสียทั้งหมด การชะลอตัวของจีน จะฉุดราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ลดลง และภาวะเงินฝืดในประเทศ หมายความว่า ราคาสินค้าที่จัดส่งทั่วโลกกำลังร่วงลง ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐ และสหราชอาณาจักร ที่ยังต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง
แต่ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในจีน ตลาดเกิดใหม่บางแห่งอย่างอินเดีย เริ่มมองเห็นโอกาสและมีความหวังที่จะดึงดูดการลงทุนของต่างชาติที่ต้องการหนีออกจากตลาดจีนเข้าประเทศได้มากขึ้น แต่จีนในฐานะประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับสองของโลกที่ชะลอตัวยาวนานย่อมส่งผลกระทบในทางลบแก่ประเทศอื่นๆที่เหลือของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บรรดานักวิเคราะห์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)เผยข้อมูลที่ช่วยให้เข้าใจได้แจ่มแจ้งว่าการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลก โดยระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนประมาณ 1% ช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกประมาณ 0.3%
“ปีเตอร์ เบเรซิน” หัวหน้านักยุทธศาสตร์ระดับโลกจากบีซีเอ รีเสิร์ช อิงค์ ให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์ก ทีวีว่า “ภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นในจีนไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายต่อเศรษฐกิจโลก แต่ถ้าประเทศอื่นๆในโลก เช่น สหรัฐและยุโรป ก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนแอ ก็ถือว่าเป็นปัญหาแน่นอน และไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะกับจีนเท่านั้น แต่เป็นัญหากับเศรษฐกิจทั่วโลก”
นี่คือข้อมูลที่จะช่วยให้มองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนกำลังสร้างความระส่ำระสายและเศรษฐกิจและตลาดเงินทั่วโลกอย่างไร
ปริมาณการค้าลดลงฮวบฮาบ
หลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียพึ่งพาจีนในฐานะเป็นตลาดส่งออกสินค้าทุกประเภทรายใหญ่สุด ตั้งแต่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร โลหะและพลังงาน
มูลค่าการนำเข้าของจีนปรับตัวร่วงลงเป็นเดือนที่ 9 ในช่วง10 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการสินค้าทรุดลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่ความต้องการสินค้าจากจีนเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนมูลค่าการขนส่งสินค้าจากแอฟริกาและอเมริกาเหนือในเดือนก.ค.ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
แอฟริกาและเอเชียได้รับผลกระทบหนักสุด มูลค่าการนำเข้าร่วงลงกว่า 14% ในช่วง7เดือนแรกของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากเกาหลีใต้และไต้หวันลดลง ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆพากันปรับตัวลง เช่น เชื้อเพลิงจากฟอสซิลส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินค้าที่ส่งไปขายในจีน
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ ปริมาณที่แท้จริงของสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ แร่เหล็ก หรือ ทองแดงที่ถูกส่งไปจีนยังไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญแต่ถ้าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไป อาจจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อบรรดาเหมืองในออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และในพื้นที่อื่นๆทั่วโลก
แรงกดดันจากภาวะเงินฝืด
ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนในเดือนก.ค.ลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่การประเมินของรอยเตอร์ก่อนหน้านี้คาดว่า ดัชนีดังกล่าวจะลดลง 0.4% โดยดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปี 2564
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนอ่อนตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 โดยลดลงที่ 4.4% มากกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 4.1%
จีนเป็นประเทศแรกในกลุ่มจี20 ที่รายงานว่า ราคาผู้บริโภคลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นับตั้งแต่ญี่ปุ่นเผชิญภาวะเดียวกันเมื่อเดือนส.ค.ปี2564
การที่ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนร่วงลง เท่ากับต้นทุนการผลิตสินค้าจากจีนที่ส่งออกไปขายมีราคาถูกลง เป็นผลดีต่อผู้บริโภคทั่วโลกที่ยังคงดิ้นรนต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาสินค้าจากจีนที่ท่าเรือสหรัฐร่วงลงทุกเดือนในปีนี้ และมีแนวโน้มว่าจะร่วงลงไปเรื่อยๆจนกว่าราคาสินค้าหน้าโรงงานในจีนจัพลิกกลับมาอยู่ในแดนบวก
บรรดานักเศรษฐศาสตร์จากเวลล์ส ฟาร์โก แอนด์ โค ประเมินว่าจะเกิดภาวะ“ฮาร์ด แลนดิ้ง”กับเศรษฐกิจจีน
การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแผ่ว
ผู้บริโภคชาวจีนใช้จ่ายเงินมากขึ้นกับอุตสาหกรรมการบริการ เช่น การเดินทางและการท่องเที่ยวมากกว่าการซื้อสินค้าประเภทต่างๆแต่ผู้บริโภคชาวจีนยังออกเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศในจำนวนเล็กน้อย
การที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนกำลังประสบปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทำให้บรรดาเจ้าของบ้านเกิดความไม่มั่นใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพราะรู้สึกว่ารายได้ในกระเป๋าลดลง บ่งชี้ว่าอาจต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดกันไว้ ในการเห็นการเดินทางไปต่างประเทศในหมู่คนจีนฟื้นตัวเท่าระดับก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งแน่นอนว่า สถานการณ์แบบนี้ส่งผลกระทบโดยตรงและอย่างมากแต่ประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ ไทย
ผลกระทบต่อสกุลเงิน
ภาวะขาลงทางเศรษฐกิจของจีนกดดันให้ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่ามากกว่า 5% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และเมื่อพิจารณารายปี เงินหยวนอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบดอลลาร์ในรอบเกือบ 30ปี
รัฐบาลปักกิ่งพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการแจ้งไปยังบรรดาสถาบันการเงินของรัฐให้เตรียมเทขายดอลลาร์ที่ถือครองอยู่ พร้อมเก็บตุนสำรองเงินหยวนนอกประเทศ
การอ่อนค่าของเงินหยวนในตลาดออฟชอร์ ส่งผลกระทบอย่างมากแก่ประเทศต่างๆในเอเชีย ละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและยุโรปตอนกลาง
บาร์เคลย์ แบงก์ ระบุว่า ความเชื่อมั่นที่อ่อนแอลงที่เกิดขึ้นในตอนนี้ อาจจะกดดันสกุลเงินท้องถิ่นในประเทศต่างๆ อาทิ สกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ เงินบาทไทยและเงินเปโซเม็กซิโก
“การที่เศรษฐกิจจีนอ่อนแอลง ทำให้ยากที่จะมองแง่ดีว่าเศรษฐกิจในเอเชียและสกุลเงินท้องถิ่นในเอเชียจะยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะสกุลเงินท้องถิ่นที่ใช้จ่ายเป็นค่าโลหะ การอ่อนแอในอุตสาหกรรมก่อสร้างอาจจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินของประเทศที่พึ่งพารายได้จากการก่อสร้าง เช่น เงินเปโซของชิลีและเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้”แม็กดาเลนา โปแลน หัวหน้าแผนกวิจัยเศรษฐกิจมหัพภาคจากพีจีไอเอ็ม จำกัด ให้ความเห็น
พันธบัตรจีนมีความน่าดึงดูดใจลดลง
ต่างชาติแห่เทขายพันธบัตรจีนคิดเป็นมูลค่า 3.02 หมื่นล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ต้นปี หลังจากจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ย และกำลังมองหาทางเลือกอื่นๆ เช่น พันธบัตรเกาหลีใต้และอินโดนีเซีย โดยเชื่อว่าธนาคารกลางของทั้งสองประเทศใกล้สิ้นสุดวงจรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนักลงทุนต่างชาติแห่เทเงินเข้าตลาดพันธบัตรเกาหลีใต้มากที่สุดในรอบ 8 เดือน
โดยตลาดพันธบัตรตลาดเกิดใหม่เอเชียได้รับอานิสงส์จากสกุลเงินที่มีความทนทาน และสัญญาณของอัตราเงินเฟ้อที่ใกล้แตะจุดพีค ท่ามกลางภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐผันผวนหนักที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ จุดชนวนให้นักลงทุนมองหาแหล่งหลบภัยทางเลือก เพื่อเอาตัวรอดในยุคที่อุตสาหกรรมธนาคารไม่แข็งแรง
หุ้นบริษัทสินค้าหรูทั่วโลกร่วง
บรรดาบริษัทชั้นนำโลก ไล่ตั้งแต่ไนกี้ อิงค์ ไปจนถึงแคเทอร์พิลลาร์ล้วนได้รับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนทั้งนั้น ดัชนี MSCI ที่ติดตามบริษัทชั้นนำโลกที่ดำเนินธุรกิจในจีนปรับตัวลง 9.3% ในเดือนนี้ ลดลงเกือบ 2 เท่า เช่นเดียวกับหุ้นบริษัทสินค้าหรูแราสัญชาติยุโรปและบริษัทเดินทาง-ท่องเที่ยวไทยก็ปรับตัวร่วงลง
บริษัทจำหน่ายสินค้าแบรนด์หรูอย่าง LVMH ที่ผลิตกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง ,เคอริง เอสเอ เจ้าของแบรนด์กุชชี และเออร์เมส อินเตอร์เนชั่นแนล ต่างมียอดขายลดลงเพราะความต้องการจากตลาดจีนดิ่งหนักจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง