ชำแหละ ‘ยูเออี’ มหาอำนาจเชื้อเพลิงฟอสซิล เจ้าภาพ COP28
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นประเทศส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิล ในประเทศบริโภคก๊าซอย่างหนัก แต่ตอนนี้กำลังรับหน้าที่หัวหอกต่อสู้โลกร้อนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่า ความมั่งคั่งของยูเออียังต้องพึ่งพาไฮโดรคาร์บอนอย่างหนัก
คาร์บอนฟุตปรินท์
ยูเออีอาจเป็นประเทศเล็กๆ ในอ่าวอาหรับประชากรเพียง 9 ล้านคน แต่ตามข้อมูลของโกลบอล คาร์บอน แอตลาส ยูเออีปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 237 ล้านตันในปี 2564 นี่ยังไม่รวมก๊าซมีเทนและก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เทียบกับสหราชอาณาจักรที่มีประชากร 67 ล้านคน ปีนั้นปล่อย CO2 ปริมาณ 348 ล้านตัน
หากพิจารณาในหน่วยย่อย ยูเออีปล่อย CO2 ปริมาณ 25 ตันต่อคนสูงกว่าซาอุดีอาระเบีย เพื่อนบ้านผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน 18 ตันต่อคน แต่ยังต่ำกว่ากาตาร์ ที่ทุบสถิติ 40 ตันในปี 2564
ยอดรวมดังกล่าวไม่นับน้ำมันและก๊าซที่ประเทศเหล่านี้ส่งออกไปยังประเทศอื่น พิจารณาเพียงแค่การปล่อย CO2 ที่ปล่อยโดยประชากรและภาคธุรกิจในประเทศเท่านั้น สะท้อนว่าเศรษฐกิจและวิถีชีวิตผู้คนในยูเออียังคงพึ่งพาการเผาไหม้ของน้ำมันและก๊าซอย่างมาก
การที่ประเทศทะเลทรายกลายมาเป็นตึกระฟ้า จำเป็นต้องอาศัยการก่อสร้างที่ใช้พลังงานอย่างเข้มข้น และระบบทำความเย็นใช้กันอย่างแพร่หลาย เครื่องปรับอากาศเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ท่ามกลางความร้อนที่แผดเผา ไฟฟ้าเกือบทั้งหมด (82.5% ในปี 2565) ในยูเออีมาจากการเผาไหม้ก๊าซ
ข้อมูลจากกลุ่มคลังสมองด้านพลังงาน “เอมเบอร์” ชี้ว่าพลังงานหมุนเวียนคิดเป็นเพียง 5% ของพลังงานที่ใช้ในประเทศ และกำลังการผลิตนิวเคลียร์ที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้สัดส่วนพลังงานนิวเคลียร์พุ่งขึ้นเป็นเกือบ 13% ในปี 2565
แผนการใหญ่ว่าด้วยภูมิอากาศ
ในเดือน ก.ค. ยูเออีประกาศปรับปรุงยุทธศาสตร์ปฏิบัติการโลกร้อน เช่นเดียวกับนานาประเทศที่มุ่งมั่นผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นสามเท่าภายในปี 2573
ยูเออีมีแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในทุกๆ อย่างตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรมไปถึงการขนส่ง รวมถึงหันมาให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งเปิดตัวทุ่งกังหันลม และสองสัปดาห์ก่อน COP28 จะเริ่มต้นขึ้นก็เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “อัล ดาฟรา”
แต่ดูเหมือนว่า ยุทธศาสตร์โลกร้อนของยูเออี “ไม่เพียงพอ” หรือ “ไม่เพียงพออย่างยิ่ง” ในมุมมองของ Climate Action Tracker (ซีเอที) กลุ่มจับตาปฏิบัติการต้านโลกร้อนของรัฐบาล และวัดความพยายามของโลกในการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนอุตสาหกรรม
การจัดอันดับของซีเอที พิจารณาจากแผนการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นของยูเออี การสำรวจก๊าซนอกชายฝั่ง และเป้าหมายเน็ตซีโร 2593 ที่ไม่มีนโยบายลดการปล่อยก๊าซที่น่าเชื่อถือ
แต่ยูเออีอ้างว่า แม้น้ำมันและก๊าซยังมีบทบาทสำคัญ คิดเป็น 30% ของจีดีพี เทียบกับซาอุดีอาระเบียที่ 42% ยูเออียังคงเน้นย้ำสร้างเศรษฐกิจให้หลากหลายมากขึ้น
บทบาทบริษัทน้ำมันแห่งชาติ
ยูเออีเป็นผู้ผลิตน้ำมันใหญ่อันดับเจ็ดของโลก มากกว่าอิหร่านและคูเวต รับผิดชอบโดยรัฐวิสาหกิจ “บริษัทน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบี” (เอดีเอ็นโอซี) ที่วางแผนลงทุน 1.5 แสนล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2566-2570 ขยายขีดความสามารถในการผลิตน้ำมันและก๊าซ
ในเดือน ต.ค.เอดีเอ็นโอซี ประกาศโครงการก๊าซนอกชายฝั่งโครงการใหม่ ที่รู้จักกันในนาม บ่อฮาอิลและกาชา
โครงการนี้ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตสงวนชีวมณฑลทางทะเล ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสุลต่าน อัล จาเบอร์ ซีอีโอเอดีเอ็นโอซี ตัวเขายังเป็นซีอีโอผู้ก่อตั้งบริษัทพลังงานหมุนเวียน “มาสดาร์” และเป็นประธาน COP28 ในปีนี้ด้วย เรียกเสียงวิจารณ์จากนักสิ่งแวดล้อมที่กล่าวหาว่า ยูเออีเร่งมือทำโครงการน้ำมันและก๊าซ
จาเบอร์เคยกล่าวว่า น้ำมันยูเออีถูกกว่าและมีคาร์บอนน้อยกว่าผู้ผลิตรายอื่น ด้วยเหตุนี้เอดีเอ็นโอซีจึงพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการขุดเจาะน้ำมันเพื่อให้ตอบสนองความต้องการในอนาคต โดยโต้แย้งว่า ควรทิ้งเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ต่อเมื่อพลังงานหมุนเวียนมีมากพอมาทดแทนได้แล้วเท่านั้น
ยูเออีสนับสนุนเทคโนโลยีดักจับและจัดเก็บคาร์บอน (ซีซีเอส) ที่ยังคงยากต่อการเก็บ CO2 หลายพันล้านตันได้
“การเน้นที่เชื้อเพลิงฟอสซิลปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์และซีซีเอส ชี้ให้เห็นว่ายูเออีกำลังผลักดันวาระชัดเจน เพื่อหันเหความสนใจจากการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” มียา มอยซิโอ จากองค์กรไม่แสวงหากำไร “สถาบันภูมิอากาศใหม่” ให้ความเห็น
สอดรับกับข้อมูลจากGlobal Witness องค์กรไม่แสวงหากำไรอีกรายหนึ่งชี้ว่า เอดีเอ็นโอซี กำลัง “เดินหน้า” เพิ่มการปล่อย CO2 โดยรวมทั้งจากน้ำมันและก๊าซกว่า 40% ซึ่งจะทะลุ 684 ล้านตันภายในปี 2573 เกือบสามเท่าจากที่เคยปล่อยในปี 2564
บทบาทการเป็นเจ้าภาพ COP28 ของยูเออี มหาอำนาจด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลจึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง