'เงินเฟ้อสหรัฐ' +3.2% เดือน ก.พ. เทียบรายปี สูงกว่าคาดเล็กน้อย

'เงินเฟ้อสหรัฐ' +3.2% เดือน ก.พ. เทียบรายปี สูงกว่าคาดเล็กน้อย

ดัชนี CPI สหรัฐที่ใช้สะท้อน "เงินเฟ้อ" เพิ่มขึ้น 3.2% เดือน ก.พ. เทียบรายปี นับว่าสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เล็กน้อย ขณะที่ตลาดหุ้นล่วงหน้าบวกขานรับ เพราะดัชนีเงินเฟ้อส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามคาด

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือน ก.พ.ในวันนี้ (12 มี.ค.) โดยดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.1% จากระดับ 3.1% ในเดือน ม.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ก.พ. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.3% ในเดือน ม.ค.

บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อที่แท้จริง (underlying inflation) เพื่อใช้ในการตัดสินใจช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ตาม ดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.9% ในเดือน ม.ค. และยังสูงกว่าเป้าหมายระยะยาวของเฟด ซึ่งอยู่ที่ 2%

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ก.พ. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.4% ในเดือน ม.ค.

ทั้งนี้ เฟดได้ส่งสัญญาณว่าสามารถเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ตราบใดที่ความพยายามกดตัวเลขเงินเฟ้อลงนั้นมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ตัวเลข CPI ล่าสุดยังเพิ่มขึ้นเกินคาด อาจทำให้เฟดต้องรอ "เวลาที่ใช่" ในการปรับลดดอกเบี้ยต่อไปอีก ซึ่งเดิมนั้น ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้ม 84% ที่อาจจะลดดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.นี้

ด้านตลาดหุ้นล่วงหน้าของสหรัฐปรับเพิ่มขึ้นเป็นวันแรกในรอบ 3 วันทำการ หลังตัวเลขเงินเฟ้อข้างต้นส่วนใหญ่สอดคล้องกับการคาดการณ์ โดยดัชนีเอสแอนด์พี 500 ฟิวเจอร์เพิ่มขึ้น 0.6% ส่วนดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ดีดขึ้น 0.3% ขณะที่ดัชนีแนสแด็ก-100 ฟิวเจอร์เพิ่มขึ้น 0.8%