ทำไมซูเปอร์มาร์เก็ตในเยอรมนีที่ 'ใช้หุ่นยนต์ 100%' ต้องหยุดวันอาทิตย์ด้วย

ทำไมซูเปอร์มาร์เก็ตในเยอรมนีที่ 'ใช้หุ่นยนต์ 100%' ต้องหยุดวันอาทิตย์ด้วย

เปิดสาเหตุ ทำไมซูเปอร์มาร์เก็ต “ที่ไม่ใช้คนแม้แต่คนเดียว” ในเยอรมนี ถึงต้องปิดทำการในวันอาทิตย์ พบว่าเกิดจากธรรมเนียมตั้งแต่ยุคกำเนิดศาสนาคริสต์ ที่พระเจ้าทรงพักในวันที่ 7 และสหภาพแรงงานก็ปกป้องสิทธิแรงงานในวันหยุดดังกล่าว

KEY

POINTS

  • เมื่อพระเจ้าทรงสร้างโลก 6 วันแล้ว ทรงพักในวันที่ 7 เพื่อให้มนุษย์ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง จึงถือเป็นวันพักผ่อน
  • Tegut เป็นเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตแบบดั้งเดิม 300 แห่ง และร้านค้าขนาดเล็กที่ใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติแบบเต็มรูปแบบอีก 40 แห่ง
  • กฎหมายไม่ทำงานในวันอาทิตย์ถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญเยอรมนีตั้งแต่ปี 2462 และคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2552 ก็พิพากษายืนตาม

เทกุท”(Tegut) เชนซูเปอร์มาร์เก็ตในเยอรมนี แม้ว่าใช้ระบบหุ่นยนต์ให้บริการแบบเต็มรูปแบบเป็นเวลา 4 ปีแล้ว โดยไม่ต้องใช้พนักงานแม้แต่คนเดียว แต่กลับไม่สามารถเปิดทำการในวันอาทิตย์ได้

เหตุผลเพราะกฎหมาย “Ladenschlussgesetz” ในรัฐธรรมนูญเยอรมนีกำหนดให้ “วันอาทิตย์” เป็นวันหยุด ส่งผลให้ร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ต้องปิดทำการในวันอาทิตย์ ไม่ว่าร้านนั้นจะจ้างพนักงานหรือใช้ระบบอัตโนมัติอย่าง “หุ่นยนต์” แทนแล้วก็ตาม

“นี่เป็นเรื่องสุดพิลึกอย่างยิ่ง ร้านค้าขนาดเล็กที่ใช้หุ่นยนต์ไม่ควรถูกสั่งห้ามเช่นนี้” โธมัส สแตบ (Thomas Stäb) หนึ่งในกรรมการบริหารของ Tegut กล่าว 

สำหรับ Tegut เป็นเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตแบบดั้งเดิม 300 แห่ง และร้านค้าขนาดเล็กที่ใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติแบบเต็มรูปแบบอีก 40 แห่ง โดยจำหน่ายสินค้าเกือบ 1,000 รายการ ตั้งแต่ของชำ ผลไม้สด นม เนย ชุดตรวจครรภ์ ฯลฯ

ทำไมซูเปอร์มาร์เก็ตในเยอรมนีที่ \'ใช้หุ่นยนต์ 100%\' ต้องหยุดวันอาทิตย์ด้วย - เชนซูเปอร์มาร์เก็ต Tegut ที่ไม่ใช้พนักงาน (เครดิต: supermarktblog) -

กังวลกระทบสิทธิลูกจ้าง สหภาพฯค้านเปิดวันอาทิตย์

หนังสือพิมพ์ Financial Times รายงานว่า ประเด็นขัดแย้งดังกล่าวเริ่มต้นจาก การเปิดร้านแบบให้บริการด้วยระบบอัตโนมัติในเมือง Fulda เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ปรากฏว่าสหภาพแรงงานเวอดี (Verdi) อันทรงอิทธิพลของเยอรมนีออกมา “ประท้วง” การให้บริการในวันอาทิตย์ โดยยกเหตุผลว่า แรงงานในร้านค้าปลีกจะเผชิญตารางงานที่ไม่แน่นอนตลอดทั้งสัปดาห์ พวกเขาควรมีสิทธิหยุดในวันดังกล่าว เพื่อใช้เวลาอันมีค่ากับครอบครัวและเพื่อน โดยเวอดีสนับสนุนแนวคิดเวิร์ค-ไลฟ์บาลานซ์ และสวัสดิการของพนักงาน

นอกจากนี้ สหภาพแรงงานกังวลว่า หากรัฐบาลอนุญาตให้ร้าน Tegut เปิดทำการในวันอาทิตย์ได้ ก็อาจเป็นตัวอย่างให้เกิดการผ่อนปรนกฎเช่นนี้กับร้านอื่น ๆ ตามมา จนในที่สุดอาจกระทบสิทธิพนักงานร้านค้าปลีกทั่วประเทศ

ทำไมซูเปอร์มาร์เก็ตในเยอรมนีที่ \'ใช้หุ่นยนต์ 100%\' ต้องหยุดวันอาทิตย์ด้วย - ภายในร้าน Tegut (เครดิต: tegut/X) -

กฎไม่เปิดร้านวันอาทิตย์ยังจำเป็นอยู่หรือ?

ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง โรเบิร์ท กราบิค (Robert Grabik) ผู้ที่อยู่อาศัยในละแวกซุปเปอร์มาร์เก็ตอัตโนมัติของ Tegut ให้ความเห็นว่า เขารู้สึกหงุดหงิดอย่างยิ่งที่ศาลของรัฐเฮสส์พิพากษายืนตามกฎหมายเดิมที่ไม่ให้ร้านค้าเปิดในวันอาทิตย์ เพราะหลายครั้งที่เผลอลืมซื้อสินค้าในวันทำการ การที่ร้านค้าปิดทำการวันอาทิตย์ ทำให้เขาต้องซื้อจากปั๊มน้ำมันหรือร้านเล็กแทน ซึ่งมักวางจำหน่ายสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่า

วัฒนธรรมชาวเยอรมนีไม่ทำงานวันอาทิตย์นั้น มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ยุคกำเนิดศาสนาคริสต์ โดยเมื่อพระเจ้าทรงสร้างโลก 6 วันแล้ว ทรงพักในวันที่ 7 เพื่อให้มนุษย์ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง จึงถือเป็นวันพักผ่อน ไม่ควรทำกิจกรรมใด ๆ 

ด้วยอิทธิพลทางศาสนาดังกล่าว กฎไม่ทำงานวันอาทิตย์จึงถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญเยอรมนีนับตั้งแต่ปี 2462 และคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญของประเทศในปี 2552 ก็พิพากษายืนตาม

สเตฟาน แนส (Stefan Naas) หัวหน้ากลุ่มพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ FDP ในรัฐเฮสส์มองว่า กฎหมายไม่เปิดทำการวันอาทิตย์ที่มีอยู่ ค่อนข้างไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อผู้คนในปัจจุบัน โดยเขาชี้ว่า สมาชิกของโบสถ์ได้ลดลงอย่างมีนัยยะมาตลอด 20 ปี และมีเพียง 1 ใน 20 คนที่เข้าร่วมพิธีศาสนาในวันอาทิตย์ ดังนั้น จึงควรปรับกฎข้อนี้ให้เป็นไปตามยุคสมัย

เมื่อย้อนดูอดีตที่ผ่านมา เยอรมนีได้ผ่อนปรนกฎดังกล่าวมากขึ้น โดยก่อนปี 2539 ในวันธรรมดา ร้านค้าต้องปิดทำการ 18.30 น. แต่ต่อมากฎข้อนี้ก็ถูกยกเลิก

อย่างไรก็ตาม กฎการปิดทำการในวันอาทิตย์ยังคงมีอยู่ ยกเว้นภัตตาคาร ปั๊มน้ำมัน ร้านค้าขนาดเล็ก และร้านยา 

จะเห็นได้ว่า การถกเถียงเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมเยอรมัน ในยุคที่เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น สังคมต้องหาจุดสมดุลระหว่างความสะดวกสบายของผู้บริโภค รายได้ธุรกิจ และสิทธิของแรงงาน บทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป
 

 

 

อ้างอิง: ft