IMF ลดจีดีพี 'ไทย' ปีนี้เหลือ 2.7% คาดแผนกระตุ้นดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่ได้คลอด
IMF ปรับลดคาดการณ์จีดีพี 'ไทย' ปีนี้เหลือ 2.7% จากคาดการณ์เดิมเดือนต.ค. ที่ 3.2% เหตุแนวโน้มแผนกระตุ้นทางการคลังเริ่มเลือนราง แต่ปรับเพิ่มจีดีพีเอเชียขึ้นเป็น 4.5% ตามแรงหนุน อินเดีย-จีน
ในวันนี้ (30 เม.ย.) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือขยายตัว 2.7% ซึ่งลดลง 0.5 จุดเปอร์เซ็นต์จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในรายงานเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว โดย IMF ระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลงเนื่องจาก "ความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังเลือนรางลง"
นอกจากจีดีพีแล้ว IMF ได้ระบุถึงสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับ "จีน" คือเป็นสถานการณ์เงินเฟ้อติดลบ โดยนอกจากเป็นเพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงแล้ว ประเทศไทยยังมีการขยายการอุดหนุนราคาพลังงานซึ่งเป็นตัวกดเงินเฟ้อให้ติดลบ แต่สถานการณ์นี้จะช่วยกระตุ้นดีมานด์และทำให้เงินเฟ้อกลับมาสู่แดนบวกในที่สุด
ส่วนในปี 2568 นั้น IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงเหลือ 2.90% ซึ่งลดลง 0.2 จุดเปอร์เซ็นต์จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ปรับเพิ่มจีดีพีเอเชียเป็น 4.5%
IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียสำหรับปี 2567 เพิ่มขึ้น 0.3 จุดเปอร์เซ็นต์ เป็นขยายตัว 4.5% ในปีนี้ เนื่องจากยังคงมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ "อินเดีย" และมุ่งความสนใจไปที่ความจำเป็นในการออกมาตรการกระตุ้นมากขึ้นจาก "จีน" ขณะที่คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเชียในปีหน้าไว้ดังเดิมที่ 4.3%
"แนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในปี 2567 สดใสขึ้น โดยขณะนี้เราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคดังกล่าวจะชะลอตัวลงน้อยกว่าที่เราเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง" กฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิกของ IMF ระบุ
IMF ระบุว่า การปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียดังกล่าวเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีน เนื่องจาก IMF คาดการณ์ว่า จีนจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
ขณะเดียวกัน IMF ยังระบุด้วยว่า อินเดียนั้นเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งการลงทุนสาธารณะยังคงเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ โดยปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลกด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และตั้งเป้าจะเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลกภายในปี 2570 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่งจะหนุนการเติบโตให้กับตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ในเอเชียอย่างต่อเนื่อง
ส่วนมุมมองภาพรวมต่อเศรษฐกิจเอเชียเป็นมุมบวก เนื่องจากการใช้นโยบายการเงินเชิงคุมเข้ม, ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และภาวะติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทานบรรเทาลง รวมถึงเงินเฟ้อที่ลดลง แม้ว่าอุปสงค์จะเติบโตในระดับสูงก็ตาม
อย่างไรก็ตาม IMF เตือนว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจเอเชียคือ "วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน" ซึ่งจะบั่นทอนอุปสงค์และเพิ่มโอกาสที่จะเกิดภาวะเงินฝืดยาวนาน ซึ่งเพิ่มโอกาสที่จะกระทบเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ผ่านการค้าทางตรง
IMF ระบุว่าจีนจำเป็นต้องออกมาตรการเชิงนโยบายที่ช่วยเหลือกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังประสบปัญหา รวมถึงต้องส่งเสริมการสานต่อโครงการที่อยู่อาศัยให้แล้วเสร็จ และจัดการความเสี่ยงหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นจีน พร้อมยอมรับว่า มาตรการกระตุ้นที่จีนบังคับใช้ในเดือน ต.ค. ปีที่แล้วและเดือน มี.ค. ปีนี้ ช่วยบรรเทาผลกระทบของการปรับลดลงของกิจกรรมภาคการผลิตและภาคบริการที่ซบเซา
ทั้งนี้ IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนสู่ 4.6% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.4 จุดเปอร์เซ็นต์จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และคงคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าที่ 4.1% ขณะเดียวกันได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียปีนี้สู่ 6.8% ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.5 จุดเปอร์เซ็นต์จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และขยายตัว 6.5% ในปีหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.2 จุดเปอร์เซ็นต์
ส่วนทางด้าน "เวียดนาม" นั้นคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 5.8% ในปีนี้ ซึ่งเท่ากับการคาดการณ์ก่อนหน้า และ 6.5% ในปีหน้า ซึ่งลดลง 0.4 จุดเปอร์เซ็นต์จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้