โจทย์ที่รอนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนใหม่
อาทิตย์ที่แล้ว นายลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) อายุ 51 ปี เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ เป็นผู้นําประเทศคนที่สี่ต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง ที่ปกครองสิงคโปร์นานถึง 20 ปี
การเข้าทําหน้าที่ของนายหว่องอยู่ในช่วงที่สถานการณ์ทั้งในสิงคโปร์และโลกกําลังเปลี่ยนแปลงและท้าทาย มีโจทย์สำคัญหลายโจทย์รออยู่ ซึ่งอาจมีผลต่อความเป็นตัวตนของสิงคโปร์ในอนาคต นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
สิงคโปร์เป็นประเทศที่โดดเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจช่วง 65 ปีที่ผ่านมา จากเกาะเล็กๆ ที่เป็นเมืองท่า ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศศูนย์กลางการเงินอันดับสามของโลก รองจากนิวยอร์กและลอนดอน
และเป็นประเทศอันดับห้าในแง่รายได้ประชาชาติต่อหัวที่ 91,100 ดอลลาร์ในปี 2023 แซงหน้า สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน และสูงกว่าประเทศไทยกว่าสิบเท่า เป็นตัวอย่างประเทศที่ไปได้ดีด้วยความตั้งใจพัฒนาประเทศ การศึกษา ระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ และการหาโอกาสทางเศรษฐกิจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของสิงคโปร์คือ ความสำเร็จของสองพ่อลูกตระกูลลี คือ นายลีกวนยูและนายลีเซียนลุง ที่ได้สร้างประเทศสิงคโปร์มาตั้งแต่เริ่มต้นให้เติบโตก้าวหน้าอย่างที่เห็นโดยเป็นผู้นำประเทศรวมกันนานถึง 51 ปีจากทั้งหมด 65 ปีของการเมืองสิงคโปร์
การเมืองที่ถูกมองว่าเป็นประชาธิปไตยแบบชี้นําหรือ Guided democracy ที่พรรค People's Action Party (PAP) ของสองพ่อลูกตระกูลลีชนะการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลมาตลอด นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผสมกับภาครัฐที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นโมเดลของประเทศสิงคโปร์มาตลอด 65 ปีเช่นกัน
นายลอว์เรนซ์ หว่อง เป็นผู้นํารุ่นที่สี่ของสิงคโปร์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองพรรค PAP ที่มีประสบการณ์มาก เคยเป็นรองเลขาธิการพรรค รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีคลัง การศึกษา และพัฒนาเศรษฐกิจ
มีบทบาทโดดเด่นในฐานะประธานร่วมคณะทำงานช่วงวิกฤติโควิด เป็นผู้ที่พรรค PAP คัดเลือกให้รับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อสานต่อความสำเร็จของพรรคและประเทศสิงคโปร์
ดังที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่กล่าวในวันรับตําแหน่งว่า งานของเขาคือ สานต่อความมหัศจรรย์ของสิงคโปร์ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนไปเพื่อคนสิงคโปร์ โดยยึดมั่นในคุณค่า (Values) ที่คนรุ่นก่อนได้ปลูกฝังไว้ คือ ซื่อสัตย์ ค่าของผลงาน สังคมหลายเชื้อชาติ ความยุติธรรม และความเท่าเทียม
แต่ภายใต้ความสําเร็จ สิงคโปร์ก็มีหลายปัญหาซ่อนอยู่ เป็นต้นทุนของความสําเร็จที่รอการแก้ไข เพราะคนส่วนใหญ่ในสิงคโปร์ตามไม่ทันความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น
หนึ่ง ความตึงเครียดในสังคม จากผู้อพยพจํานวนมากที่เข้ามาทํางานในสิงคโปร์เพื่อพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาล ประชากรสิงคโปร์เพิ่มจาก 4 ล้านคนเป็น 6 ล้านคนโดยกว่า 1.5 ล้านคนเป็นแรงงานต่างชาติ คิดเป็นร้อยละ 38 ของกําลังแรงงาน
แรงงานต่างชาติเหล่านี้กดดันการใช้ทรัพยากร ฐานะการคลังของภาครัฐ และโอกาสในการทำงานของประชากรท้องถิ่น และส่งผลให้ค่าครองชีพในสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นมาก ไม่ว่าค่าเช่า ราคาที่อยู่อาศัย ราคาอาหาร การรักษาพยาบาล การศึกษา กระทบความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชาวสิงคโปร์ที่เป็นคนท้องถิ่น
ผลคือสิงคโปร์กลายเป็นเมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกเก้าปีติดต่อกัน คนสิงคโปร์ไม่มีความสุข เด็กจบใหม่หางานทํายาก และ 80 เปอร์เซนต์ของคนสิงคโปร์ต้องอยู่ในคอนโดที่รัฐจัดหาให้ ไม่สามารถซื้อบ้านอยู่เองได้เพราะราคาแพงมาก สะท้อนความเหลื่อมล้ำในประเทศที่มีมาก
ที่สำคัญการเข้าสู่สังคมสูงวัยของสิงคโปร์ ปัจจุบันสัดส่วนคนอายุเกิน 65 อยู่ที่ร้อยละ 19 และอีกหกปีจะเป็นร้อยละ 25 ทําให้จํานวนแรงงานที่เป็นคนท้องถิ่นในสิงคโปร์จะยิ่งลดลง
รัฐบาลต้องนําเข้าผู้อพยพมากขึ้นเพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะสร้างความตึงเครียดให้มีมากขึ้น รวมถึงโครงสร้างสังคมที่จะเปลี่ยนไป เพราะสัดส่วนคนต่างชาติในสิงคโปร์อาจเกินร้อยละ 50 ในอนาคตจากที่อัตราการเกิดในสิงคโปร์ตํ่ามากคือ 0.97 กระทบความเป็นตัวตนของคนสิงคโปร์
สอง เศรษฐกิจที่จะไปได้ดีต้องมีการปฏิรูปและพัฒนาต่อเนื่องทั้งด้านนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน ผลิตภาพแรงงาน และยุทธศาสตร์การเติบโตที่จะนําพาประเทศ สิงคโปร์ก็เช่นกัน
แต่ประเทศที่มาถึงระดับรายได้อย่างสิงคโปร์จะไม่มีตัวอย่างประเทศอื่นให้เดินตาม ต้องคิดเองว่าจะนําพาประเทศไปทางไหนอย่างไร
ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ ที่ต้องหาความสมดุลระหว่างทิศทางการเติบโตของประเทศกับความสมานฉันท์ในสังคมที่ต้องมี จากที่จะมีแรงงานทักษะสูงอพยพเข้ามาทํางานในสิงคโปร์มากขึ้นๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต
สาม เรื่องภูมิรัฐศาสตร์และการถดถอยของโลกาภิวัตน์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตของสิงคโปร์ช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมาได้ประโยชน์เต็มๆ จากโลกาภิวัตน์และความเป็นปึกแผ่นของสังคมโลก คือใกล้ชิดกับจีนเรื่องเศรษฐกิจและใกล้ชิดกับอเมริกาเรื่องความมั่นคง แต่เมื่อโลกแตกแยก โลกาภิวัตน์ถดถอย และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนมีมากขึ้น
คําถามคือสิงคโปร์จะวางตัวต่อไปอย่างไร และจะทําอย่างไรไม่ให้การวางตัวสร้างความล่อแหลมต่อการเมืองในสิงคโปร์เองและความเป็นตัวตนของสังคมสิงคโปร์จากที่สัดส่วนคนต่างชาติในสังคมจะมีมากขึ้นๆ โดยเฉพาะผู้อพยพที่มั่งคั่งและมีฐานะจากจีน
ทั้งหมดนี้คือปัญหาและความท้าทายที่รออยู่ ซึ่งคําตอบจะต้องมาจากภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่และการสนับสนุนของประชาชนท้องถิ่นของสิงคโปร์ ที่สำคัญความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ควรต้องมีภายในหนึ่งปี ก่อนการเลือกตั้งคราวหน้าในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล