ญี่ปุ่นร่วมมือกลยุทธอาเซียน หนุนผลิตรถยนต์แข่งอีวีจีน
ญี่ปุ่นร่วมมือกลยุทธอาเซียน หนุนผลิตรถยนต์แข่งอีวีจีน โดยญี่ปุ่นมีแผนนำงบฯ 1.4 แสนล้านเยน (899.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น จัดสรรไว้มาเป็นงบฯสนับสนุนด้านการฝึกอบรมบุคลากรในประเทศซีกโลกใต้
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ญี่ปุ่นและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีแผนร่วมกันวางกลยุทธ์ในการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ภายในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก เพื่อรับมือกับอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
รายงานข่าวระบุว่า ความร่วมมือดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อร่างกลยุทธ์ชั่วคราวจนถึงประมาณปี 2578 เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกอาเซียนจะพบปะกันอย่างเร็วที่สุดในเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้
คาดว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะครอบคลุมการฝึกอบรมบุคลากร การลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิต การจัดซื้อทรัพยากรแร่ และการลงทุนในสาขาใหม่ ๆ เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีแผนนำงบประมาณ 1.4 แสนล้านเยน (899.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ได้รับการจัดสรรไว้เป็นงบประมาณสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมบุคลากรในประเทศซีกโลกใต้
อาเซียน เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของผู้ผลิตรถญี่ปุ่นหลายแห่ง รวมทั้ง โตโยตา มอเตอร์ และฮอนดา มอเตอร์ และบรรดาผู้ผลิตรถญี่ปุ่นผลิตรถปีละกว่า 3 ล้านคัน ขณะที่รถที่ผลิตในอาเซียนประมาณ 80% ผลิตเพื่อส่งออกไปขายในตะวันออกกลางและประเทศอื่นๆ
รถยนต์ไฟฟ้าของจีนกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในต่างประเทศ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การลงทุนของจีนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศ มีแนวโน้มจะทำสถิติสูงสุดใหม่ในปี 2566 และคาดว่าส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนจะเพิ่มเป็นเท่าตัวในปี 2573
แต่ยังคงต้องรอดูว่าจีนจะสามารถรับมือกับความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ ความเหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงและการปรับนโยบายอีวี ในประเทศ การทำให้การลงทุนอีวีในต่างประเทศระหว่างฝ่ายปกครองและฝ่ายค้านเป็นเอกฉันท์ในประเทศเจ้าบ้าน และสุดท้าย จีนจะจัดการทำให้บริษัทอีวีกลายเป็นสากลแบบก้าวกระโดด ท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์กับชาติตะวันตกที่เพิ่มขึ้นนี้ต่อไปอย่างไร
ในช่วงที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นวาระสำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับโลก จีน สามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าและการลงทุนด้านพลังงานสะอาดอื่นๆ เพื่อชนะใจพันธมิตร โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเทศได้นำนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ เพื่อมุ่งสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีและวิจัยยานยนต์จีน (CATRC) ระบุว่า บีวายดีมียอดจดทะเบียนประกันภัยรถยนต์ใหม่ในจีน 2.4 ล้านรายการเมื่อปีที่แล้ว ทำให้บริษัทสามารถคว้าส่วนแบ่งตลาดจากทั่วประเทศได้ 11% ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.2 % เมื่อเทียบรายปี
ยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้ำหน้าของบีวายดีในด้านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด และไฮเทค ซึ่งกำลังได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างรวดเร็ว จนทำให้บริษัทต่างๆ เช่น สเตลแลนทิส เอ็นวี และโฟล์คสวาเกน เริ่มหันมาพึ่งพาบริษัทรถยนต์จีนในกลยุทธ์ด้านรถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง
ในบรรดาแบรนด์รถยนต์ 5 อันดับแรกอื่นๆ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และฮอนด้า มอเตอร์ โค ต่างมีส่วนแบ่งตลาด และยอดขายที่ลดลง ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศจีนอย่างบริษัทฉงชิ่ง ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด ได้รับผลประโยชน์จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าส่วนแบ่งตลาดของบริษัทจะทรงตัว
นอกจากนี้ ทั้งญี่ปุ่นและอาเซียนยังร่วมมือกันคาดการณ์ตลาดยานยนต์โลก ที่รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายไปจนถึงปี 2578
ปัจจุบันนี้ รถยนต์ญี่ปุ่นแต่ละค่ายทำธุรกิจในอาเซียนแบบต่างคนต่างทำ แต่ด้วยการรุกเข้ามาของค่ายรถจีนเช่น บีวายดี และเอสเอไอซี มอเตอร์ ที่ค่อยๆสร้างความแข็งแกร่งและสร้างความจดจำแบรนด์ในหมู่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ค่ายรถญี่ปุ่นอยู่เฉยไม่ได้ ต้องหันมาจับมือกันด้านกลยุทธในการผลิตและการทำตลาดรถยนต์ในภูมิภาคนี้
ญี่ปุ่นวางตัวในฐานะหุ้นส่วนที่ซื่อสัตย์และวางใจได้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการฝึกอบรมบุคลากร ที่ถือเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ภูมิภาคอาเซียน
การเติบโตอย่างต่อเนื่องของค่ายรถจีนเพิ่มความท้าทายอย่างมากแก่ค่ายรถญี่ปุ่น โดยไทยให้การอุดหนุนทั้งด้านภาษีและด้านอื่นๆแก่บรรดาค่ายรถที่ผลิตรถอีวี ซึ่งค่ายรถจีนอย่างบีวายดีก็ได้ประโยชน์จากมาตรการอุดหนุนของรัฐบาลไทย และ 85% ที่วางขายในไทยเมื่อปีที่แล้ว เป็นรถที่ผลิตจากบรรดาผู้ผลิตจีน
“ความต้องการรถยนต์โดยรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงเพราะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและตัวแปรอื่นๆ แต่การอุดหนุนรถอีวีถือเป็นข้อดีและเป็นประโยชน์ และค่ายรถจีนก็ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ไปเต็มๆ” ผู้บริหารในอุตสาหกรรมรถยนต์ กล่าว
ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของรถยนต์ไฟฟ้าจีนและการลงทุนที่เกี่ยวข้องในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถย้อนไปตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ที่จีนมีความสนใจด้านเทคโนโลยียานยนต์พลังงานใหม่ จนกระทั่งปี 2552 จีนประกาศให้การพัฒนาอุตสาหกรรมอีวีเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องของจีนจึงได้เพิ่มการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมากนับตั้งแต่นั้น
นอกจากการย้ายฐานการผลิตเข้ามายังภูมิภาคนี้แล้ว ค่ายรถจีนยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันความทะเยอทะยานในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย