'เซี่ยงไฮ้' นำร่องรวม 'บริการเพื่อผู้มีบุตรยาก' ในประกันสุขภาพ หวังบรรเทาการเกิดต่ำ

'เซี่ยงไฮ้' นำร่องรวม 'บริการเพื่อผู้มีบุตรยาก' ในประกันสุขภาพ หวังบรรเทาการเกิดต่ำ

เซี่ยงไฮ้นำร่องเพิ่มบริการเทคโนโลช่วยเจริญพันธุ์ (ART) ไว้ในโครงการประกันสุขภาพ เพื่อสนับสนุนผู้มีบุตรยาก หวังบรรเทาอัตราการเกิดต่ำ โดยผู้ใช้สิทธิอาจเสียค่าบริการดังกล่าวน้อยลงราว 70%

ในช่วงเวลาที่จีนเผชิญกับปัญหาอัตราการเกิดต่ำสุด “เซี่ยงไฮ้” เริ่มนำร่อง รวมบริการเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ (เออาร์ที) ไว้ภายใต้โครงการประกันสุขภาพตั้งแต่ดือนมิ.ย. เป็นต้นไป

ตามข้อมูลที่ประกาศจากรัฐบาลท้องถิ่นเมื่อเดือนพ.ค. ระบุว่า คู่รักคู่ใดในเซี่ยงไฮ้ที่ต้องการมีบุตรด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ 12 ประเภท อาจมีค่าใช้จ่ายเข้ารับบริการลดลงสูงสุด 70% จากการขยายสิทธิของโครงการประกันสุขภาพเพื่อสนับสนุนการมีบุตร

ทั้งนี้ เซี่ยงไฮ้ เมืองที่มีประชากรราว 25 ล้านคน มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 0.6 ในปี 2566 หมายความว่า ผู้หญิงแต่ละคนมีบุตรเพียง 0.6 คน ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ขณะที่อัตราเจริญพันธุ์รวมที่สามารถรักษาความมั่นคงทางประชากรควรอยู่ที่ระดับ 2.1

ตัวเลขอัตราเจริญพันธุ์ของเซี่ยงไฮ้ดังกล่าว ต่ำกว่าอัตราเจริญพันธุ์ของเกาหลีใต้ ประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำที่สุดในโลกที่ระดับ 0.72 ในปี 2566

ส่วนข้อมูลอัตราเจริญพันธุ์ประเทศจีนในปีก่อนยังไม่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ แต่นักวิเคราะห์คาดว่าอยู่ที่ระดับ 1.0

ขณะที่กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund) รายงานเมื่อเดือน เม.ย. ว่าอัตราเจริญพันธุ์ของฮ่องกงอาจอยู่ที่ประมาณ 0.8

ทั้งนี้ ประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี เมื่อปี 2565 เนื่องจากจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ และแนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 2566 โดยมีรายงานบ่งชี้ว่า จีนเสียสถานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกให้กับอินเดีย

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถาบันวิจัย Sunglory Education ในกรุงปักกิ่ง พบว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ โดยครูอนุบาลลดลงกว่า 170,000 คน ในปีก่อน ซึ่งลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553

ในการรับมือกับวิกฤติประชากร จีนได้ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว และแทนที่ด้วยนโยบายลูก 2 คน ในปี 2559 และต่อมาในปี 2564 รัฐบาลเริ่มสนับสนุนให้ชาวจีนมีลูกได้ 3 คน

อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวไม่ได้ผลนัก เพราะคนจำนวนมากแต่งงานช้า และยังคงลังเลเรื่องการมีบุตรเนื่องจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่แต่ละคนมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป และมีความตระหนักถึงสตรีนิยมมากขึ้น

 

อ้างอิง: South China Morning Post