อียูตั้งรับ ‘สินค้าเกษตร’ หวั่นจีนโต้กลับ จับตา 'เนื้อหมู - ผลิตภัณฑ์นม'

อียูตั้งรับ ‘สินค้าเกษตร’ หวั่นจีนโต้กลับ จับตา 'เนื้อหมู - ผลิตภัณฑ์นม'

กลุ่มประเทศอียูตั้งรับ ‘สินค้าเกษตร’ หวั่นจีนดำเนินมาตรการโต้กลับ แก้แค้นภาษีรถยนต์อีวี จับตากลุ่ม 'เนื้อหมู - ผลิตภัณฑ์นม' ล่าสุดเอกชนจีนยื่นร้องเรียนให้สอบสวนอียูฐาน 'ทุ่มตลาด' เนื้อหมูแล้ว

บรรดาบริษัทอาหารในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ตั้งแต่กลุ่มผลิตภัณฑ์จากนมไปจนถึงเนื้อหมูต่างกำลังเฝ้าระวัง และตั้งรับความเป็นไปได้ที่ “จีน” อาจดำเนินมาตรการตอบโต้การขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ผ่าน “สินค้าเกษตร” ที่นำเข้าจากอียู

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นจากภาษีรถอีวีจีนล่าสุด ทำให้ยุโรปต้องตั้งรับความเป็นไปได้ที่อาจถูกตอบโต้ทางการค้าตามมา รายงานอ้างการเปิดเผยของสื่อท้องถิ่นในจีนว่า บริษัทบางรายในจีนกำลังดำเนินการร้องขอให้เปิดสอบสวนว่า บริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์นม และเนื้อหมูจากอียู กระทำผิดที่เข้าข่ายเป็นการอุดหนุนจากภาครัฐ หรือมีการทุ่มตลาดหรือไม่ 

 

ทั้งนี้แม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า จีนอาจตอบโต้ในสินค้ากลุ่มใด แต่ข้อมูลของกรมศุลกากรจีน พบว่า จีนนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากอียูมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากนิวซีแลนด์ คิดเป็นสัดส่วนอย่างน้อย 36% ของมูลค่านำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมดในปี 2566 โดยออสเตรเลียอยู่ในอันดับ 3

ด้านข้อมูลสำนักงานอธิบดีด้านการเกษตร และการพัฒนาชนบท คณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า อียูส่งออกสินค้าประเภทผงเวย์โปรตีน ครีม และนมสด ไปยังจีนราว 1,800 ล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว นำโดยเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ที่เป็นกลุ่มผู้ส่งออกหลักของสินค้ากลุ่มดังกล่าว

จีนยังมีการนำเข้า "เนื้อหมู" ราว 1.55 ล้านตันในปีที่แล้ว โดยมากกว่าครึ่งเป็นการนำเข้าจากยุโรป นำโดยสเปน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และฝรั่งเศส บราซิลตามมาในอันดับ 2 และสหรัฐเป็นอันดับ 3

ล่าสุดในวันนี้ (14 มิ.ย.67) เว็บไซต์โกลบอลไทม์ซึ่งเป็นสื่อของทางการจีน ได้รายงานอ้างข้อมูลจากบิสเนส อินไซเดอร์ว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเนื้อหมูในจีนได้ยื่นร้องเรียนอย่างเป็นทางการให้รัฐบาลจีนเปิดการสอบสวนผู้ส่งออกหมูจากอียูในประเด็นการ "ทุ่มตลาด" แล้ว โดยมีขึ้นตามมาเพียง 1 วัน หลังจากที่อียูประกาศขึ้นภาษีรถอีวีจีน 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู ประกาศเรียกเก็บ “ภาษีพิเศษ” สำหรับรถยนต์อีวีนำเข้าจากจีนในอัตราเพิ่มเติมสูงสุด 38.1% หรือเพิ่มเติมจากอัตราปัจจุบันที่ราว 10% ซึ่งเป็นมาตรการลงโทษการทุ่มตลาดของอุตสาหกรรมรถอีวีจีน โดยจะเรียกเก็บแต่ละบริษัทในอัตราที่ต่างกัน เช่น แบรนด์ SAIC จะถูกเรียกเก็บภาษีพิเศษเพิ่ม 38.1% แบรนด์ Gleely จะถูกเก็บเพิ่ม 20% และแบรนด์ BYD จะถูกเก็บเพิ่ม 17.4%

อีซี ระบุว่ามาตรการทางภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้วันที่ 4 ก.ค.67 แต่ยังขึ้นอยู่กับผลเจรจาแก้ไขปัญหาระหว่าง อีซี และบริษัทรถยนต์จีนแต่ละแห่งก่อน เพื่อพิจารณาว่า ทางบริษัทให้ความร่วมมือหรือไม่ ก่อนที่จะบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยอีซีเริ่มสอบสวนเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เดือนต.ค.2566

ยุโรปเสียงแตกค้านขึ้นภาษีอีวี

มาร์ตัน เนกี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของฮังการี ประณามว่า เป็นการกีดกันทางการค้ามากเกินไป เน้นย้ำว่าการกีดกันการค้าไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมต่อผู้ผลิตในจีน และขัดขวางการแข่งขันในตลาด พร้อมแนะว่า อียูควรเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันระดับโลกของอุตสาหกรรมอีวียุโรป แทนที่จะกำหนดอัตราภาษีพิเศษ เนื่องจากเป็นการขัดขวางการแข่งขัน และการเติบโตของตลาดอียูเอง

โอลิเวอร์ ซิปเซ ซีอีโอของบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) วิพากษ์วิจารณ์แผนอีซีว่า เป็น “แนวทางที่ผิด” โดยระบุว่า แผนดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้บริษัทในยุโรป และผลประโยชน์ของยุโรป พร้อมย้ำว่า การกีดกันการค้านำไปสู่การเก็บภาษี และการเก็บภาษีสูงขึ้น ก่อให้เกิดการแบ่งแยกมากกว่าการร่วมมือ

ด้านผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อื่นของเยอรมนี เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Benz) และโฟล์คสวาเกน (VW) ต่างแสดงจุดยืนสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม และการค้าโลกเสรี โฟล์คสวาเกน ค้านแผนเก็บภาษีพิเศษดังกล่าว และให้เหตุผลว่า “ผลกระทบด้านลบของการตัดสินใจครั้งนี้ มีมากกว่าผลประโยชน์สำหรับยุโรป และโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนี”

บลูมเบิร์ก รายงานว่า บริษัทเทสลา มอเตอร์ (Tesla) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากสหรัฐ ร้องขอไปยังอียู ขอให้พิจารณาจัดเก็บภาษีรถของตนเองที่นำเข้าจากจีนในอัตราที่ถูกกว่าบริษัทอื่น อ้างว่าเทสลาได้ประโยชน์จากการสนับสนุนของทางการจีนน้อยกว่ารถอีวีสัญชาติจีน ทั้งนี้ บริษัทรถยนต์รายอื่นที่ผลิต และส่งออกจากจีนสามารถร้องขอการพิจารณานี้ได้เช่นกัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์