ไขข่าวลือซาอุฯ ’ยกเลิกเปโตรดอลลาร์’ โอกาสเกิดมากน้อยเพียงใด อนาคตดอลลาร์สั่นคลอน?

ไขข่าวลือซาอุฯ ’ยกเลิกเปโตรดอลลาร์’ โอกาสเกิดมากน้อยเพียงใด อนาคตดอลลาร์สั่นคลอน?

ไขข้อสงสัยกระแสข่าวลือที่ว่า ‘ซาอุดีอาระเบีย’ ยกเลิกข้อตกลงผูกขาดการขายน้ำมันกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีโอกาสเป็นจริงมากน้อยเพียงใด และความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาตินี้ย่ำแย่ลงจริงหรือ เมื่อซาอุฯ เป็นประเทศในตะวันออกกลางที่ซื้ออาวุธจากสหรัฐมากที่สุด

KEY

POINTS

  • เพื่อรักษามูลค่าดอลลาร์และบัลลังก์สกุลเงินหลักของโลกต่อไป สหรัฐได้คิดระบบ “เปโตรดอลลาร์” ขึ้นหลังการยกเลิกระบบเบรตตัน วูดส์ในปี 2514
  • ซาอุฯเป็นประเทศในตะวันออกกลางที่ซื้ออาวุธจากสหรัฐมากที่สุด ด้วยสัดส่วน 15% ของการส่งออกอาวุธของสหรัฐ
  • สกุลดอลลาร์ครองส่วนแบ่งที่ราว 54-55% ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลก

เมื่อไม่นานมานี้เกิดข่าวลือแพร่สะพัดว่า ซาอุดีอาระเบียตัดสินใจ “ไม่ต่ออายุ” ข้อตกลงซื้อขายน้ำมันด้วยสกุลเงินดอลลาร์ หรือเรียกว่า “เปโตรดอลลาร์” (Petrodollar) ที่ใช้มายาวนานกว่า 50 ปี ซึ่งถ้าเป็นเรื่องจริง ก็จะสั่นคลอนดอลลาร์ หนึ่งในเสาหลักที่ค้ำจุนเศรษฐกิจสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ข่าวลือดังกล่าวได้ก่อให้เกิดคำถามขึ้นว่า เปโตรดอลลาร์สำคัญต่อสหรัฐมากขนาดไหน และโอกาสที่ยักษ์ใหญ่น้ำมันอย่างซาอุฯ จะไม่ผูกการซื้อขายน้ำมันด้วยดอลลาร์อีกต่อไป มีมากน้อยเพียงใด

เปโตรดอลลาร์ สิ่งที่ทำให้ดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้น

เดิมทีนั้น สหรัฐผูกสกุลเงินของตนกับทองคำในอัตรา 35 ดอลลาร์ต่อทองคำ 1 ออนซ์ และให้สกุลเงินประเทศอื่นผูกกับดอลลาร์อีกต่อหนึ่งในอัตราคงที่ จนทำให้ดอลลาร์กลายเป็นเงินสกุลหลักของโลกขึ้นมา เราเรียกระบบนี้ว่า “เบรตตัน วูดส์” (Bretton Woods System) ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่ปี 2487

แต่จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นเมื่อสหรัฐติดหล่ม “สงครามเวียดนาม” กว่าทศวรรษ ทำให้ประเทศขาดดุลงบประมาณอย่างหนักและได้พิมพ์เงินออกมาจำนวนมาก จน “สูงกว่า” ปริมาณทองคำที่มีอยู่ ความไม่สมดุลระหว่างดอลลาร์ที่ออกมากับทองคำที่มีอยู่ ทำให้หลายประเทศตั้งคำถามถึงอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่นี้ และเริ่มหันมาถือทองคำแทนดอลลาร์มากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นแรงกดดันให้สหรัฐต้องลดค่าเงินลง ยกเลิกระบบเบรตตัน วูดส์ในปี 2514 และเปลี่ยนเป็นอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแทน

เพื่อรักษามูลค่าดอลลาร์ และบัลลังก์สกุลเงินหลักของโลกต่อไป สหรัฐจึงคิดระบบ “เปโตรดอลลาร์” ขึ้น โดยในปี 2516 เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ได้ทำข้อตกลงกับซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้มีการขายน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกเป็นสกุลเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ความต้องการดอลลาร์ที่เคยอ่อนค่ากลับมาเพิ่มสูงขึ้น

ไขข่าวลือซาอุฯ ’ยกเลิกเปโตรดอลลาร์’ โอกาสเกิดมากน้อยเพียงใด อนาคตดอลลาร์สั่นคลอน? - เปโตรดอลลาร์ (เครดิต: Shutterstock) -

กลยุทธ์นี้ช่วยให้สหรัฐสามารถรักษาตัวเลขการขาดดุลการค้าได้ เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ต้องการเงินดอลลาร์เพื่อซื้อน้ำมัน อีกทั้งประเทศสมาชิกโอเปกก็ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจสหรัฐ โดยการนำกำไรที่ได้จากน้ำมันมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จนอเมริกาสามารถจัดการการขาดดุลงบประมาณได้โดยไม่เกิดผลกระทบรุนแรง

เราเรียกการที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน นำรายได้ที่เป็นเงินดอลลาร์ไปลงทุนต่อนี้ว่า “การรีไซเคิลเปโตรดอลลาร์” (Petrodollar Recycling)  

จะเห็นได้ว่าการที่จะซื้อน้ำมันก็ต้องแลกเปลี่ยนเป็นสกุลดอลลาร์ หรือแม้แต่เงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งสหรัฐมีอิทธิพลอยู่ภายใน ก็เป็นสกุลดอลลาร์ ได้ช่วยเพิ่มกระแสหมุนเวียนและความต้องการสกุลเงินนี้อย่างมาก จนทำให้ดอลลาร์ครองส่วนแบ่งที่ราว 54-55% ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลก ตามข้อมูลจากหน่วยงานสถิติ Statista ในไตรมาส 4 ปี 2566 

ซาอุฯไม่ผูกกับดอลลาร์ มีโอกาสเกิดมากน้อยเพียงใด

จากกระแสข่าวที่ซาอุดีอาระเบีย “ไม่ต่ออายุ” ข้อตกลงซื้อขายน้ำมันด้วยดอลลาร์นั้น พอล ดอโนแวน (Paul Donovan) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายการจัดการความมั่งคั่งโลกของธนาคาร UBS กล่าวว่า ยังไม่พบหลักฐานยืนยันข่าวลือนี้ ทั้งจากซาอุดีอาระเบียและอเมริกา โดยเขามองว่าความร่วมมือในระบบเปโตรดอลลาร์นั้น “ให้ประโยชน์ร่วมกัน” ทั้งต่อซาอุดีอาระเบียและสหรัฐ

ย้อนกลับไปในปี 2516 วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งใหญ่เกิดขึ้น เมื่อประเทศสมาชิกโอเปกในตะวันออกกลาง ประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันไปยังประเทศที่สนับสนุนอิสราเอลในช่วงสงครามยมคิปปูร์ ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก หนีไม่พ้นแคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐ

ไขข่าวลือซาอุฯ ’ยกเลิกเปโตรดอลลาร์’ โอกาสเกิดมากน้อยเพียงใด อนาคตดอลลาร์สั่นคลอน? - วิกฤตการณ์น้ำมันปี 2516 (เครดิต: The Center on Global Energy Policy) -

เพื่อไม่ให้เหตุการณ์วิกฤติน้ำมันนี้ซ้ำรอยอีก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงและปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และเพื่อรักษามูลค่าดอลลาร์ สหรัฐจึงหาทางกระชับความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียจนเกิดเป็นข้อตกลงเปโตรดอลลาร์ขึ้น และในขณะเดียวกัน ซาอุฯ ก็ขายน้ำมันให้ทั่วโลกคล่องตัวขึ้นด้วย เพราะดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่ทั่วโลกใช้กันเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังเกิด “ข้อตกลงลับ” ระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบียที่บรรลุในปลายปี 2517 โดยสหรัฐสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านการทหารและอาวุธ แลกเปลี่ยนกับการที่ซาอุฯ นำเงินดอลลาร์หลายพันล้านจากรายได้การขายน้ำมัน ไปลงทุนต่อในพันธบัตรสหรัฐ

ดอโนแวนกล่าวว่า การมีอยู่ของข้อตกลงลับนี้ไม่ได้ถูกเปิดเผยจนถึงปี 2559 เมื่อสำนักข่าวบลูมเบิร์กยื่นคำขอภายใต้พระราชบัญญัติเสรีภาพในการขอข้อมูล (Freedom of Information Act) ไปยังหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐ

แม้ว่าในปัจจุบัน ดอลลาร์จะเผชิญความท้าทายมากขึ้น เมื่อซาอุฯกำลังพิจารณาสกุลเงินตัวเลือกอื่น ๆ อย่าง “เงินหยวน” ของจีน แต่เจฟฟรีย์ ไคลน์ท็อป (Jeffrey Kleintop) หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทให้บริการทางการเงินอย่าง Charles Schwab มองว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทหารที่แน่นแฟ้นระหว่างซาอุฯกับสหรัฐ  รวมไปถึงความจริงที่ว่าระบบการเงิน ประกันภัย และขนส่งน้ำมันเกือบทั้งหมดทั่วโลกต้องใช้ดอลลาร์ น่าจะเป็นแรงจูงใจให้ซาอุฯ ยังคงต้องการดอลลาร์ และใช้เป็นสกุลหลักในการชำระเงิน 

หากดูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ สหรัฐกับซาอุดีอาระเบีย มีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงมายาวนาน โดยซาอุฯ เป็น “ลูกค้ารายใหญ่ที่สุด” ของสหรัฐในโครงการขายอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารแก่ต่างประเทศ (Foreign Military Sales) ซึ่งมีมูลค่าโครงการที่ยังดำเนินการอยู่มากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute) ระบุว่า ในช่วงปี 2562-2566 สัดส่วนการส่งออกอาวุธของสหรัฐส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งคิดเป็น 38% โดยมี 4 ประเทศในตะวันออกกลางที่ติดอันดับ “10 ประเทศผู้รับอาวุธจากสหรัฐมากที่สุด” ในปี 2562-2566 ได้แก่

1. ซาอุดีอาระเบีย คิดเป็น 15% ของการส่งออกอาวุธของสหรัฐ

2. กาตาร์ คิดเป็น 8.2%

3. คูเวต คิดเป็น 4.5%

4. อิสราเอล คิดเป็น 3.6%

จะเห็นได้ว่า ด้วยความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างซาอุฯ กับสหรัฐที่ค่อนข้างใกล้ชิด โดยซาอุฯเป็นประเทศในตะวันออกกลางที่ซื้ออาวุธจากสหรัฐมากที่สุด และเป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกาในปฏิบัติการสงครามตะวันออกกลางด้วย จึงค่อนข้างยากที่ซาอุฯจะยกเลิกเปโตรดอลลาร์ในขณะนี้ดังข่าวลือที่ออกมา

ไม่เพียงเท่านั้น เงินสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกยังคงอยู่ในรูปของดอลลาร์กว่า 55% และเมื่อธนาคารกลางสหรัฐและทั่วโลกต่างขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อปราบเงินเฟ้อ เงินทุนต่างหลั่งไหลไปยังสกุลเงินสหรัฐจน “ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น” ปรากฏการณ์ที่เห็นอาจสะท้อนได้ว่า ยังไม่มีสกุลเงินใดที่จะมาแทนที่ดอลลาร์ได้ในเวลาอันใกล้นี้

อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ได้ตลอดกาล เราจะเห็น “พลวัตของเงินตรา” ในช่วงหลังนี้ว่า ซาอุฯ เปิดกว้างมากขึ้นในการยอมรับสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์ สำหรับการชำระเงินค่าน้ำมันบางส่วน ดังจะเห็นจากซาอุฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับปักกิ่ง เพื่อพิจารณาใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินชำระค่าน้ำมัน

อีกทั้งรัสเซียได้ประกาศว่า “เงินหยวน” จะกลายเป็นสกุลหลักควบคู่กับรูเบิลแทนดอลลาร์ อันสะท้อนถึงความพยายามลดทอนอิทธิพลของดอลลาร์ กระจายความเสี่ยง และมุ่งสู่ระบบการเงินโลกที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งพลวัตในระยะยาวเหล่านี้เป็นที่น่าติดตามอย่างยิ่ง  

อ้างอิง: statistalinkedininvestsiprimarketstatevoanews