‘Apple’ รุกตลาด AI จีนยาก เซิร์ฟเวอร์ถูกจีนควบคุม ท้าทายความเป็นส่วนตัว?
“Apple” จากสหรัฐเผชิญความท้าทายสำคัญในการบุกตลาด AI ในจีน กฎระเบียบที่เข้มงวดของรัฐบาลปักกิ่งสร้างอุปสรรคให้ Apple ทั้งในเรื่องโมเดลภาษา และพันธมิตร AI ที่อาจต้องจับมือกับบริษัทท้องถิ่นจีนแทน
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า “แอปเปิ้ล” (Apple) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ กำลังเผชิญความท้าทายใหญ่ในการผลักดันลูกเล่นด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แบบใหม่ในจีน หนึ่งในตลาดสำคัญที่สุดของผู้ผลิต iPhone เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่งมีกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้
“เมื่อพูดถึง AI แล้ว จีนเหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง เนื่องจากสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เข้มงวด ดังนั้น ประกาศครั้งใหญ่ของ Apple เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ‘จีน’ จึงเป็นเหมือนเครื่องหมายดอกจันขนาดใหญ่” ไบรอัน หม่า (Bryan Ma) รองประธานฝ่ายวิจัยอุปกรณ์ที่ IDC บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีกล่าว
ที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งได้ออกกฎระเบียบต่างๆ มากมาย มุ่งเน้นไปที่หลายด้าน ตั้งแต่การปกป้องข้อมูล ไปจนถึงโมเดลภาษาขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นชุดข้อมูลมหาศาลที่รองรับแชตบอตอย่าง “ChatGPT”
สำหรับตลาดปัญญาประดิษฐ์ของจีนนั้น มีการควบคุมอย่างเข้มงวด กฎระเบียบบางอย่างรวมถึงข้อกำหนดให้ผู้ให้บริการโมเดลภาษาขนาดใหญ่ ต้องได้รับอนุมัติจากทางการก่อนนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการ AI เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) ยังมีหน้าที่ต้องลบเนื้อหาที่ “ผิดกฎหมายประเทศจีน” ออกไปด้วย
ขณะที่ความท้าทายด้าน AI ในจีนของ Apple ด่านแรกคือ คุณสมบัติบางอย่างของ Apple Intelligence อาศัยโมเดลภาษาของ Apple เอง ซึ่งทำงานบนทั้งโทรศัพท์ และเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทเอง ภายใต้กฎระเบียบของจีน Apple น่าจะต้องได้รับอนุมัติโมเดล AI ของตนจากหน่วยงานจีนที่เกี่ยวข้องก่อน
ความท้าทายด่านต่อมาคือ ผู้ช่วยเสียง Siri ของ Apple สามารถดึงข้อมูลจาก ChatGPT ของโอเพนเอไอ (OpenAI) สตาร์ตอัปด้านปัญญาประดิษฐ์ แต่ ChatGPT กลับถูกห้ามใช้ในจีน นั่นหมายความว่า Apple ต้องหาบริษัทพันธมิตรภายในประเทศที่มีศักยภาพเทียบเท่า และให้บริการข้อมูล AI กับ Apple ในลักษณะคล้าย ChatGPT ได้
ดังนั้น ไป่ตู้ (Baidu) และอาลีบาบา (Alibaba) ที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน มีโมเดลภาษา AI ขนาดใหญ่ และมีผู้ช่วยเสียงของตัวเอง ทำให้ทั้งสองบริษัทมีศักยภาพที่เหมาะจะร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ Apple แทน OpenAI ได้
ขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตของจีนยังถูกเซนเซอร์อย่างเข้มงวด โดยหน่วยงานกำกับดูแลกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของบริการ AI ที่อาจสร้างเนื้อหาที่ขัดแย้งกับมุมมองหรืออุดมการณ์ของรัฐบาลปักกิ่ง
“การทำให้ประสบการณ์ด้านปัญญาประดิษฐ์ของ Apple ให้เป็นไปตามมาตรฐานท้องถิ่น ถือเป็นความท้าทายสำคัญต่อ Apple โดยการให้บริการนั้น มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องเคารพประเพณี กฎระเบียบ และการใช้งานเฉพาะในแต่ละประเทศ” เบน วูด (Ben Wood) หัวหน้านักวิเคราะห์แห่ง CCS Insight บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยีกล่าว
นอกจากนั้น ข้อมูล iCloud Apple ในจีนถูกเก็บไว้ภายในเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทภายนอก นั่นหมายความว่า Apple อาจต้องการความร่วมมือที่คล้ายคลึงกันสำหรับเซิร์ฟเวอร์ประมวลผล AI และอาจเปิดช่องให้ผู้ผลิต iPhone ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่แท้จริง
“การรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ในตลาด AI ที่ถูกคุมอย่างเข้มงวดจากจีน จะเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ที่สุดของ Apple และถือเป็นความท้าทายที่เซิร์ฟเวอร์ประมวลผลส่วนตัวทั้งหมดได้ถูกควบคุมภายในจีน” นีล ชาห์ (Neil Shah) หุ้นส่วนของ Counterpoint Research บริษัทวิจัยด้านตลาดเทคโนโลยี กล่าว
อ้างอิง: cnbc
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์