'70 ปี สมาชิกยูเนสโก' แนวรบวัฒนธรรมยูเครนไม่เปลี่ยน

'70 ปี สมาชิกยูเนสโก'   แนวรบวัฒนธรรมยูเครนไม่เปลี่ยน

องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ด้วยหลักคิดที่ว่า สันติภาพที่ถาวรจะต้องวางรากฐานอยู่บนความร่วมมือทางภูมิปัญญา และจิตสำนึกของมนุษยชาติ

สำหรับยูเครน ประเทศที่กำลังเผชิญสงครามหนักหน่วง ปีนี้ครบรอบ 70 ปีของการเป็นสมาชิกยูเนสโก พาฟโล โอเรล อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย ได้พูดคุยกับกรุงเทพธุรกิจในโอกาสอันสำคัญนี้ \'70 ปี สมาชิกยูเนสโก\'   แนวรบวัฒนธรรมยูเครนไม่เปลี่ยน

เริ่มต้นจากการทำความรู้จักวัฒนธรรมยูเครน ที่มีวัฒนธรรมสลาฟเป็นส่วนประกอบ

วัฒนธรรมสลาฟ รุ่มรวย หลากหลาย ครอบคลุมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา และศิลปะ ชาวสลาฟส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในยุโรปตะวันออก ยุโรปกลาง คาบสมุทรบอลข่าน และหลายพื้นที่ของเอเชียเหนือ  โดดเด่นด้วยการหยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ นิทานพื้นบ้านอันมีชีวิตชีวา และสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งในชุมชน วัฒนธรรมยูเครนประกอบด้วยประเพณีของชาวสลาฟ และคริสต์ศาสนาไบแซนไทน์ที่แบ่งแยกกันไม่ได้

  • ความโดดเด่นของวัฒนธรรมยูเครน 

อุปทูต กล่าวว่า ความยืดหยุ่นคือ ความโดดเด่น วัฒนธรรมยูเครนรอดพ้นการครอบงำ และกดขี่ของต่างชาติมาได้หลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าซาร์ และสหภาพโซเวียต  ยูเครนมีนิทานเพื่อนบ้าน เรื่องเล่า และตำนานพื้นบ้านมากมายเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของตน

"นอกจากนี้แม้จะมีแรงกดดันทางประวัติศาสตร์ให้ต้องผสมกลมกลืน ภาษา และอัตลักษณ์แห่งชาติของยูเครนยังคงแตกต่างอย่างโดดเด่น" 

การรุกรานทางทหารที่รัสเซียกำลังทำกับยูเครน โดยเฉพาะนับตั้งแต่การผนวกไครเมียในปี 2014 และรุกรานเต็มตัวในปี 2022 สร้างภัยคุกคามร้ายแรงให้กับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมยูเครน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกในพื้นที่ ที่ถูกยึดครอง เช่น เมืองโบราณเทาริค เชอร์โซเนส ในเซวาสโตโพล, เขตสงวนชีวมณฑล “อัสคาเนีย โนวา” และ “คอร์นอมอร์สกี” ในภูมิภาคเคอร์ซอน

  • ร่วมมือยูเนสโกปกป้องมรดกวัฒนธรรม

ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่ ยูเครนใช้ความพยายามอย่างหนักในยูเนสโก ปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของตน นับถึงวันที่ 10 เม.ย. ปีนี้ ยูเนสโกตรวจสอบแล้วพบว่า นับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2022 พื้นที่วัฒนธรรมเสียหาย 351 แห่ง \'70 ปี สมาชิกยูเนสโก\'   แนวรบวัฒนธรรมยูเครนไม่เปลี่ยน

“แม้เจอภัยคุกคามเหล่านี้ วัฒนธรรมยูเครนยังคงแข็งแกร่ง ประเพณี ภาษา อัตลักษณ์ชาติได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งจากในประเทศ และชาวยูเครนโพ้นทะเล ความพยายามอนุรักษ์ และส่งเสริมวัฒนธรรมก็ยิ่งเข้มข้น ได้แรงหนุนจากพันธมิตร และสถาบันวัฒนธรรมนานาชาติ” อุปทูตยูเครน กล่าว

  • วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ

ในฐานะสมาชิกยูเนสโก ยูเครนค่อนข้างมุ่งมั่นแข็งขันในโครงการวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ อุปทูตโอเรลขยายความว่า วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ หมายถึง ชุดของค่านิยม ทัศนคติ รูปแบบพฤติกรรม และวิถีชีวิตที่ปฏิเสธความรุนแรง ตั้งใจป้องกันความขัดแย้งตั้งแต่รากเหง้าผ่านการสนทนาและเจรจาระหว่างบุคคล กลุ่ม และประเทศ

ในปี 1993 ยูเครนเปิดตัวโครงการวัฒนธรรมแห่งสันติภาพซึ่งปรับทิศทางกิจกรรมของยูเนสโกไปสู่การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ ความไว้วางใจ และความอดทน   ตั้งโครงการสหวิทยาการ “สู่วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ” ภายใต้สามกิจกรรมหลัก ได้แก่  ให้การศึกษา และฝึกอบรมด้านสันติภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ความอดทนอดกลั้น และความเข้าใจระหว่างประเทศ, การวิจัยเชิงนโยบาย สนับสนุน แลกเปลี่ยน และเผยแพร่ข้อมูล และการเสริมสร้างศักยภาพ และสนับสนุนทางเทคนิคให้กับโครงการระดับชาติ อนุภูมิภาค  และระดับระหว่างประเทศ

ต่อมาโครงการนี้ได้หลอมรวมเข้ากับทิศทางยุทธศาสตร์ของยูเนสโก จนกระทั่งปี 2001 การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ สมัยที่ 56 สนับสนุนข้อเสนอของยูเครน ประกาศให้ปี 2002 เป็นปีสากลแห่งการปกป้องมรดกวัฒนธรรมโลก

  • บทบาทของวัฒนธรรมในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

 ในประเด็นนี้อุปทูตโอเรลมองว่า วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดอัตลักษณ์ ทำให้บุคคล ชุมชน เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ในสถานการณ์ความขัดแย้งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสามารถเป็นจุดระดมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และความอดทน

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมถูกใช้สร้างความแตกแยก และต่อต้านได้ 

 ความเข้าใจ และเคารพอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมจึงช่วยลดความตึงเครียด และสร้างสะพานเชื่อมระหว่างคู่ขัดแย้ง อีกทั้งการส่งเสริมความรู้ด้านวัฒนธรรมจะช่วยลดช่องว่างความไม่เข้าใจ อำนวยความสะดวกในการสื่อสารที่ดีขึ้น และลดโอกาสเกิดความขัดแย้ง

เมื่อเกิดสงคราม และความขัดแย้ง มรดกทางวัฒนธรรม อาทิ อนุสาวรีย์ ศิลปะ และขนบธรรมเนียมประเพณีมักตกอยู่ในอันตรายเสมอ อุปทูตยกตัวอย่างสิ่งที่ยูเครนกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้  เช่น เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2023 ขีปนาวุธยูเครนถล่มเมืองโอเดซา ทำลายศูนย์กลางประวัติศาสตร์ อนุสรณ์สถานด้านสถาปัตยกรรมเสียหาย 25 แห่ง มหาวิหารพระเยซูจำแลงกาย (Transfiguration Cathedral) ใหญ่สุดในเมืองเสียหายบางส่วน

“แต่ในเวลาเดียวกันการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมช่วยบ่มเพาะความรู้สึกต่อเนื่อง ปกติ ช่วยให้ชุมชนรักษาอัตลักษณ์และขวัญกำลังใจไว้ได้” อุปทูตกล่าวและว่า ความพยายามเพื่อปกป้องและฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมยังทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ และความปรองดองได้ด้วย

ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมมีส่วนสร้างความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างประเทศ และโดยทั่วไปโครงการด้านวัฒนธรรมก็ช่วยเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับความไม่ลงรอยกันระหว่างฝ่ายต่างๆ รวมถึงรากเหง้าของพวกเขา และระดมความสนับสนุนเพื่อสันติภาพ 

“ด้วยเหตุนี้ยูเนสโก และยูเครนในฐานะรัฐสมาชิก จึงใช้ข้อได้เปรียบด้านวัฒนธรรมสร้างเครือข่ายโลกสนับสนุนการหาทางออกให้กับความขัดแย้ง และการพัฒนาที่ยั่งยืน” 

  • วันรัฐธรรมนูญยูเครน

อุปทูตโอเรลยังกล่าวถึงวาระสำคัญที่กำลังจะมาถึง เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญยูเครน 28 มิ.ย.67 เฉลิมฉลองการประกาศรัฐธรรมนูญเมื่อปี 1996 ถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยของยูเครน มีการทำกิจกรรมหลากหลาย เช่น การแสดงสุนทรพจน์ของผู้นำรัฐบาล  การแสดงทางวัฒนธรรม และการศึกษาเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และการรับประกันสิทธิของประชาชน

การเฉลิมฉลองวันรัฐธรรมนูญเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของยูเครนต่อคุณค่าประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกับการเป็นสมาชิกยูเนสโกที่ยูเครนเข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 1954

ความเชื่อมโยงระหว่างวันรัฐธรรมนูญกับการเป็นสมาชิกยูเนสโกของยูเครนเน้นย้ำถึงการอุทิศตนเพื่อสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ พร้อมๆ กับส่งเสริมค่านิยมของโลกว่าด้วยสันติภาพและการศึกษา

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์