นโยบายตำรวจ สู่ชัยชนะการเลือกตั้งอังกฤษ? | กันต์ เอี่ยมอินทรา
การอภิปรายตอบโต้ของสองพรรคใหญ่ในอังกฤษทุกวันพุธ มักเป็นเรื่องของสวัสดิภาพประชาชน เช่น ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน แต่หากมองย้อนมาในไทย นักการเมืองบ้านเราไม่ค่อยหยิบยกขึ้นมาพูดมากนัก จะดีกว่าหรือไม่ ถ้ารัฐบาลใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น
สัปดาห์หน้าจะมีเหตุการณ์ใหญ่ที่สหราชอาณาจักร คือ การเลือกตั้งใหญ่ หลังจากการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก เมื่อเดือนที่แล้ว
และจะถือเป็นครั้งแรกที่ริชี ซูแน็กจะนำพรรคอนุรักษนิยมลงสู่สนามเลือกตั้ง และก็เป็นครั้งแรกของเซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ ที่จะนำพรรคแรงงานลงสู่สนามเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพราะการเลือกตั้งครั้งที่แล้วนั้นเป็นการแข่งขันของอดีตหัวหน้าพรรคทั้งสองฝั่ง โดยถึงแม้จะมีการเปลี่ยนตัวนายกฯเรื่อยมา ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงและการแก่งแย่งอำนาจและการนำภายในพรรคอนุรักษ์นิยมเท่านั้น
ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอังกฤษที่ประเทศไทยเรายึดถือมาเป็นแม่แบบนั้น มีเอกลักษณ์โดดเด่นหลายประการ แต่ประการหนึ่งที่อยากจะยกมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้คือ การตอบกระทู้ การอภิปรายตอบโต้ระหว่างสองพรรคใหญ่ ที่จะมีการถ่ายทอดสดในทุกวันพุธให้ประชาชนและผู้สนใจได้ฟัง ที่เรียกกันว่า PMQ (Prime Minister's Question) หรือแปลตรง ๆ ว่า คำถามสำหรับ/ของ นายกฯ
ทุก ๆ พุธ คนอังกฤษจึงจะเห็นการตอบคำถาม รวมถึงการโต้คารม ถกประเด็นต่าง ๆ ระหว่างฝ่ายรัฐบาลที่นำโดยนายกฯ กับฝ่ายค้าน และก็บ่อยครั้งที่ PMQ กลายเป็นเวทีของการโฆษณาผลงานของพรรคหรือการชี้ข้อบกพร่องของฝ่ายตรงข้าม และประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายนิยมหยิบยกมาโอ้อวดและหรือโจมตีอีกฝ่ายบ่อยครั้งก็คือ เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ และสวัสดิการของประชาชน
เทียบกับบ้านเรา หากจะบอกว่ารัฐบาลนี้ทำผลงานได้ดีกว่าคู่แข่ง ที่มักจะหยิบยกตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่าง GDP เข้ามาบลัฟฝ่ายตรงข้าม แต่อังกฤษมักจะหยิบยกเรื่องของ 1. ค่าครองชีพที่สูงขึ้น 2. การรักษาพยาบาล 3. ความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นหลักนี้ ล้วนมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น การรักษาพยาบาล ซึ่งตัวชี้วัดที่ชัดเจนคือ จำนวนสถานพยาบาล และจำนวนหมอ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเคลมผลงานคือ การสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม และจำนวนหมอที่เพิ่มมากขึ้น แบบเดียวกับที่ไทยเราพยายามกระจายการรวมศูนย์รักษาจากโรงพยาบาลใหญ่สู่ศูนย์การรักษาขั้นปฐมภูมิขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งในมุมนี้หากจะเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ผมว่าไทยของเราดีกว่าเยอะ ทั้งในแง่ของขั้นตอนและแนวคิดทัศนคติต่อการรักษาโรค
แต่อีกตัวอย่างหนึ่งที่ไทยของเราด้อยกว่า คือ ความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งที่อังกฤษ ผู้นำก็มักจะอ้างถึงอัตราความรุนแรงที่ลดลง และจำนวนตำรวจที่เพิ่มขึ้นเพื่อเคลมว่าเป็นผลงานที่ดีขึ้น ขณะที่ไทยของเรานั้น อัตราส่วนเหล่านี้ไม่ถูกให้น้ำหนักเท่าที่ควร มากไปกว่านั้นตำรวจและหน่วยความมั่นคงของไทยยังไม่สามารถรักษาความสงบในบ้านเมืองได้ โดยเฉพาะกรณีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่นับวันจะอาละวาดหนัก และมีเหยื่อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เป็นที่ประจักษ์ว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ล้วนมีฐานปฎิบัติการอยู่รายรอบประเทศไทย โดยมีคนไทยเป็นเหยื่อเพราะเรามีกำลังเงินที่มากกว่าคนในประเทศฐานนั้น ๆ โดยใช้ช่องว่างจากกฎหมายและความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในประเทศฐาน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้คือหน้าที่ของรัฐในการจัดการ นี่คือเหตุผลที่ประชาชนเสียภาษีให้รัฐ เพื่อเข้ามาดูแลให้ชีวิตและทรัพย์สินมีความมั่นคง ดังนั้นจึงสามารถพูดได้ว่า รัฐ คือทั้งรัฐบาล ตำรวจ และหน่วยความมั่นคงของไทยสอบตก
ที่อ้อมโลกไปซะไกล ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของอังกฤษมาให้เห็น เพื่อจะชี้ว่า การรักษาความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนั้นสามารถเป็นนโยบายที่ดีและได้ใจประชาชน ที่นอกจากจะทำให้ประชาชนใจชื้นขึ้นแล้วยังมีประโยชน์ในการได้มาซึ่งคะแนนเสียง เป็นหนึ่งในบันไดสู่การชนะเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองไทยใดเลยที่ชูธงยกประเด็นนี้ขึ้นมา ซึ่งน่าเสียดาย เสียโอกาสอย่างยิ่ง