'ฝรั่งเศส' เปิดหีบเลือกตั้งรอบแรก ลุ้นขวาจัดชนะขาด? หรือต้องไปต่อรอบ 2

'ฝรั่งเศส' เปิดหีบเลือกตั้งรอบแรก ลุ้นขวาจัดชนะขาด? หรือต้องไปต่อรอบ 2

ฝรั่งเศสเปิดหีบเลือกตั้งรอบแรก ลุ้นพรรคขวาจัดชนะขาด? หรือจะต้องไปต่อในการเลือกตั้งรอบ 2 หากไม่มีใครได้เสียงข้างมากเกิน 50% ซึ่งพรรคของปธน.มาครงน่าห่วง หลังโพลชี้มีคะแนนความนิยมอันดับ 3

ขณะนี้ถึงเวลาที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวฝรั่งเศส สามารถออกมาลงคะแนนเลือกตั้งผู้นำประเทศ ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งในรอบแรกที่จัดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ประกาศยุบสภา เมื่อพรรคขวาจัดมีคะแนนเสียงนำห่างพรรคสายกลางของมาครงในการเลือกตั้งสหภาพยุโรป (อียู) ต้นเดือนมิ.ย. และการเลือกตั้งฝรั่งเศสครั้งนี้ดูเหมือนว่าพรรคขวาจัดมีแนวโน้มได้จัดตั้งรัฐบาล นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในประเทศใจกลางอียู

สำหรับการเลือกตั้งรอบแรก หน่วยเลือกตั้งในเมืองเล็ก ๆ จะเริ่มเปิดให้ลงคะแนนเสียงเวลา 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (11.00 น. เวลาไทย) และปิดในเวลา 16.00 น. (21.00 น. เวลาไทย) ส่วนกรุงปารีสและเมืองใหญ่ ๆ จะเปิดให้ลงคะแนนจนถึง 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (23.00 น. เวลาไทย)

หากผลการเลือกตั้งในรอบแรกไม่มีใครได้คะแนนเกิน 50% ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องเลือกตั้งรอบสอง ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 7 ก.ค. โดยพรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด 2 พรรคแรกในการเลือกตั้งรอบแรก จะแข่งขันกันอีกครั้งในการเลือกตั้งรอบที่ 2

อย่างไรก็ตาม จากระบบเลือกตั้งดังกล่าว ทำให้คาดการณ์ที่นั่ง 577 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้ยากลำบาก และผลการเลือกตั้งท้ายที่สุดจะยังไม่เปิดเผยจนกว่าจะสิ้นสุดการลงคะแนนในวันที่ 7 ก.ค.

มารีน เลอ แปง” ผู้นำพรรคการเมืองขวาจัดอาร์เอ็น (National Rally) ของฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เมื่อวันพุธ (26 มิ.ย.) ว่า “เราจะชนะเสียงข้างมากอย่างแน่นอน” และคาดว่า “จอร์แดน บาร์เดลลา” บุตรบุญธรรมวัย 28 ปีของเธอ จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หากพรรคอาร์เอ็น ที่มีนโยบายใช้จ่ายทางเศรษฐกิจสูงและต้องการลดจำนวนผู้อพยพ ได้รับชัยชนะเสียงข้างมาก ประชาธิปไตยฝรั่งเศสอาจต้องเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ฝรั่งเศสเคยมีช่วงเวลาแบบ “cohabitation” เกิดขึ้น 3 ครั้ง ในประวัติศาสตร์หลังสงคราม กล่าวคือ เป็นปรากฏการณ์ที่ประธานาธิบดีจำใจต้องเลือกนายกฯจากพรรคฝ่ายตรงข้ามที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภา เช่น ปธน.ฝ่ายขวาจำใจต้องเลือกนายกฯจากฝ่ายซ้าย หรือปธน.ฝ่ายซ้ายจำใจต้องเลือกนายกฯจากฝ่ายขวา เพื่อให้มีคณะรัฐมนตรีที่สามารถบริหารจัดการงานต่าง ๆ ได้แต่การบริการประเทศด้วยรูปแบบดังกล่าว ผู้นำทั้งสองไม่ได้มีโลกทัศน์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

บาร์เดลลา ได้เผยว่าตนจะท้าทายมาครงในประเด็นปัญหาระดับโลก ซึ่งรอยเตอร์สระบุว่า ฝรั่งเศสอาจพลิกผันจากการเป็นเสาหลักของอียู สู่ “ตัวปัญหา” โดยการเรียกร้องให้ฝรั่งเศสลดงบประมาณสนับสนุนอียู ขัดแย้งกับรัฐบาลบรัสเซลส์ให้เรื่องงานของคณะกรรมาธิการยุโรป และกลับคำเรียกร้องของมาครงที่ต้องการให้อียูมีความเป็นเอกภาพและมีความมุ่งมั่นในการปกป้องภูมิภาค

นอกจากนี้ชัยชนะของพรรคอาร์เอ็น อาจนำมาซึ่งความไม่แน่นอนว่าฝรั่งเศสจะมีจุดยืนต่อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่างไร ซึ่งเลอ แปง มีประวัติว่าเธอมีทัศนคติที่สนับสนุนรัสเซีย ขณะที่พรรคอาร์เอ็นก็บอกว่าจะช่วยให้ยูเครนช่วยเหลือตนเองในการต่อสู่กับการรุกรานของรัสเซีย แลกำหนดขอบเขตไว้ เช่น ปฏิเสธการจัดหาขีปนาวุธพิสัยไกลให้ยูเครน

ทั้งนี้ จากผลสำรวจหลายแห่งบ่งชี้ว่า พรรคอาร์เอ็นมีคะแนนความนิยมนำที่ระดับ 33-36% รองลงมาเป็นพรรคร่วมฝ่ายซ้ายเอ็นพีเอฟ (New Popular Front) มีคะแนนที่ระดับ 28-31% ส่วนพรรคร่วมฝ่ายกลางของมาครง มีคะแนนอยู่ที่ 20-23%