ธุรกิจลิเทียมจีน 'ขาดทุนหนัก' เหตุ 'ราคาแร่ดิ่ง ตลาดซบ ผู้เล่นเยอะ'

ธุรกิจลิเทียมจีน 'ขาดทุนหนัก' เหตุ 'ราคาแร่ดิ่ง ตลาดซบ ผู้เล่นเยอะ'

ธุรกิจผลิตลิเทียมรายใหญ่ในจีน ขาดทุนหนักในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เนื่องจากราคาลิเทียมลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะตลาดซบ ประกอบกับมีผู้เล่นไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมจำนวนมาก

อุตสาหกรรมยานต์ไฟฟ้าจีนส่งคลื่นช็อกสะเทือนตลาดยานยนต์ทั่วโลก แต่ผู้เล่นท้องถิ่นที่ผลิต “ลิเทียม” ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่อีวี ต่างกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาลิเทียมที่ลดลงอย่างมาก

เทียนซี่ ลิเทียม (Tianqi Lithium) และก้านเฟิง ลิเทียม (Ganfeng Lithium) ผู้ผลิตแร่โลหะสำคัญรายใหญ่ในจีน ประกาศเมื่อคืนวันอังคาร (9 ก.ค.) ว่า บริษัทอาจขาดทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้

เทียนซี่ คาดว่า บริษัทจะขาดทุนราว 4,880 - 5,530 ล้านหยวน ในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อนได้กำไรสุทธิ 6,450 ล้านหยวน ส่วนก้านเฟิง คาดว่า บริษัทอาจขาดทุนราว 760 - 1,250 ล้านหยวน ลดลงจากปีก่อนที่ได้กำไรมากถึง 5,850 ล้านหยวน และทั้งสองบริษัทต่างโทษว่าเป็นเพราะ “ราคาลิเทียมลดลง”

เจียง อันฉี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เทียนซี่ บอกว่า บริษัทเผชิญกับราคาจำหน่ายลิเทียมที่ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และกำไรจากผลิตภัณฑ์ลิเทียมก็ดิ่งหนัก

ขณะที่เจียง เว่ยปิง ลูกสาวของซีอีโอเทียนซี่ เผยว่า การขาดทุนจะเกิดขึ้นชั่วคราว เนื่องจากวัฏจักรเวลาระหว่างการซื้อวัตถุดิบ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้ผู้ใช้งาน รวมถึงผู้ผลิตอีวีนั้น ไม่ตรงกัน โดยช่วงที่ซื้อวัตถุดิบแร่มีราคาแพง ทำให้บริษัทมีต้นทุนสูง เมื่อเจอภาวะราคาลิเทียมดิ่ง บริษัทจึงมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลิเทียมลดลง 

อย่างไรก็ตาม เว่ยปิงบอกว่า สินค้าคงคลังลิเทียม (ที่เคยซื้อมาตอนที่ราคาวัตถุดิบแพง) กำลังมีราคาลดลงเรื่อย ๆ จึงทำให้ช่องว่างระหว่างราคาต้นทุนวัตถุดิบกับราคาผลิตภัณฑ์ลิเทียม กำลังปรับตัวลดลง

ลี่ เหลียงปิน ซีอีโอจากก้านเฟิง บอกว่า ราคาเกลือลิเทียม และแบตเตอรี่ลิเทียม ลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมลิเทียมชะลอตัว ผลการดำเนินงานของบริษัทจึงลดลงอย่างมาก แม้ผลิต “ผลิตภัณฑ์ลิเทียม” ได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ตลาดจีนอีวีจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการเติบโตชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความต้องการของผู้บริโภคที่ซบเซา ตลาดลิเทียมทั่วโลกจึงเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างอันเนื่องมาจากผู้เล่นใหม่ที่ไหลเข้าตลาดจำนวนมาก และภาวะอุปทานส่วนเกินที่มีมานาน

แจ็ค ชาง นักวิเคราะห์จากซิตี้ (Citi) ที่จับตาดูอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด เผยเมื่อวันจันทร์ (8 ก.ค.) ตลาดลิเทียมยังคงซบเซา แม้ความต้องการแบตเตอรี่ปลายน้ำ (downstream battery) เพิ่มสูงขึ้น

ชาง อ้างอิงรายงานรายสัปดาห์ ระบุ “เรายังไม่เห็นว่าสต็อก (วัตถุดิบ) ในอุตสาหกรรมลิเทียมลดลง” ขณะที่ราคาจำหน่ายลิเทียมคาร์บอเนต และลิเทียมไฮดรอกไซด์เฉลี่ย ณ วันศุกร์ (5 ก.ค.) ลดลงประมาณ 1% จากสัปดาห์ก่อน

ลงทุนต่างประเทศฉุดรายได้ลด

นอกจากนี้ เทียนซี่และก้านเฟิง ได้อ้างถึงแรงกดดันจากการลงทุนในต่างประเทศว่าเป็นปัจจัยเบื้องหลังที่ทำให้รายได้ลดลงอย่างมาก

เทียนซี่ ถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 2 ในบริษัทลิเทียมสัญชาติชิลี Sociedad Quimica y Minera de Chile หรือ SQM ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ที่ระดับ 22.16% รองจาก Pampa Group ของชิลี ที่ถือหุ้น 25.76%

เทียนซี่ คาดว่า รายได้จากการลงทุนใน SQM มีแนวโน้มลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน

ขณะที่ก้านเฟิง ถือหุ้นใน บริษัทเหมืองแร่ลิเทียม Pilbara Minerals ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นออสเตรเลีย และมูลค่าการลงทุนในบริษัทนี้ลดลง และส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทเช่นกัน โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น Pilbara ร่วงกว่า 2% ทำให้สูญเสีย fair value อย่างมาก

ขณะที่เจ้อเจียง หัวโหยว โคบอลต์ (Zhejiang Huayou Cobalt) บริษัทจำหน่ายวัสดุที่เกี่ยวข้องกับอีวี ประกาศเมื่อวันอังคาร (9 ก.ค.) ว่า กำไรสุทธิครึ่งปีแรกลดลงราว 14-28% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวเมื่อปีก่อน สู่ระดับ 1,500 - 1,800 ล้านหยวน

บริษัทระบุว่ากำไรลดลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาแร่เหล็กสำคัญ ทั้งนิกเกิล และลิเทียม ลดลงต่อเนื่อง จึงส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถสร้างรายได้ของผลิตภัณฑ์ในบริษัท

อย่างไรก็ตาม บริษัทหัวโหยว คาดว่า ผลประกอบการครึ่งปีหลังอาจดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากโครงการเหมืองนิกเกิลจะค่อย ๆ ผลิตได้ตามเป้า

 

อ้างอิง: Nikkei Asia