Trumponomics vs Kamalanomics | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ในเชิงการเมือง 1 สัปดาห์ดูเหมือนจะนานชั่วกัลป์ เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ก่อน พรรคเดโมแครตดูเหมือนจะปิดประตูสู่ทำเนียบขาว หลังจากผลการโต้วาทีที่ย่ำแย่ และการลอบสังหารที่ไม่สำเร็จของทรัมป์ แต่ภาพก็เปลี่ยนไป
เมื่อประธานาธิบดีไบเดนประกาศสละสิทธิการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยหน้า และสนับสนุนให้รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ลงสมัครแทน ทำให้การเลือกตั้งสหรัฐดูสูสีขึ้น
โพลของรอยเตอร์/อิปซอส จัดทำเมื่อวันที่ 22-23 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า แฮร์ริส มีคะแนนนำโดนัลด์ ทรัมป์ที่ 44% ต่อ 42% อย่างไรก็ตาม Realclearpolitics ซึ่งเป็นผลโพลเฉลี่ยของโพลต่าง ๆ ยังให้คะแนนของทรัมป์นำแฮร์ริสที่ 48 ต่อ 46 (ผล ณ วันที่ 26 ก.ค.)
คำถามสำหรับนักเศรษฐศาสตร์คือ หากแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลแฮร์ริสจะเป็นเช่นไร แตกต่างจากรัฐบาลทรัมป์อย่างไร ผู้เขียนขอนำเสนอ 6 แนวนโยบายรัฐบาลแฮร์ริส ดังนี้
1. ด้านการกำกับดูแลธุรกิจขนาดใหญ่ แฮร์ริสมีมุมมองที่ค่อนข้างเป็นปฏิปักษ์กับธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเห็นว่าจ่ายภาษีน้อยเกินไป และให้โบนัสผู้บริหารมากเกินไป
สมัยที่เธอเป็นอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนียระหว่างปี 2011-17 เธอฟ้องร้องธนาคารต่างๆ เช่น JPMorgan Chase, Bank of America และ ซิตี้กรุ๊ปและบริษัทจัดอันดับเครดิตรายใหญ่อย่างสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์
บริษัทส่วนใหญ่ยุติคดีความและจ่ายเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ให้กับรัฐ ทำให้เป็นไปได้ที่ทิศทางด้านกฎระเบียบอาจเข้มงวดขึ้นเมื่อรัฐบาลแฮร์ริสเข้าดำรงตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง บริษัทขนาดใหญ่ได้มีการให้เงินสนับสนุนในการหาเสียงแฮร์ริสมาก และบางส่วนส่งสัญญาณว่าจะมีสิทธิเสียงในการกำหนดนโยบาย
ทำให้ต้องติดตามว่า นโยบายของแฮร์ริสจะสนับสนุนภาคธุรกิจมากขึ้นหรือไม่ รวมถึงจะให้บริษัทขนาดใหญ่มีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายอย่างไร
2. ด้านผู้อพยพเข้าเมือง ในฐานะที่เป็นรองประธานาธิบดีหญิงผิวสีคนแรก และเป็นลูกสาวของผู้อพยพ แฮร์ริสให้ความสำคัญกับผลกระทบเชิงนโยบายผ่านมุมมองของผู้หญิง เด็ก และชุมชนชนกลุ่มน้อย
ในประเด็นผู้อพยพ เธอสนับสนุนให้รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนเงินช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจกับประเทศที่ผู้อพยพเข้ามา เช่น คิวบา โคลัมเบีย เวเนซูเอลา และเอกวาดอร์ ซึ่งแนวนโยบายดังกล่าวไม่ทำให้ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายลดลง ทำให้ยังมีแรงงานมากขึ้น และไม่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากในช่วงแรก
3. ด้านนโยบายสาธารณสุข ในฐานะวุฒิสมาชิก แฮร์ริสสนับสนุน Medicare for All ซึ่งจะเปลี่ยนระบบการรักษาพยาบาลจากการประกันเอกชนและนายจ้างไปเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยรัฐบาล
ขณะที่ในปี 2020 ระหว่างที่เธอลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เธอได้เสนอให้เพิ่มสิทธิของประชาชนในการเข้าถึง Medicare ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังรักษารูปแบบการประกันสุขภาพของเอกชน
รวมถึงสนับสนุนแนวคิดของประธานาธิบดีไบเดน ในการออกกฎหมายดูแลราคายา ทำให้เป็นไปได้ที่บริษัทยาอาจได้รับผลกระทบมากขึ้นบ้างหากแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดี แม้จะดีกับประชาชนในการทำให้ค่ารักษาพยาบาลถูกลง
4. ด้านการค้า ในด้านการค้าเสรี แฮร์ริสมีมุมมองค่อนข้างต่อต้านการค้าเสรีมากกว่าไบเดน
โดยคัดค้านข้อตกลงการค้าสำคัญสองฉบับล่าสุดที่ไบเดนสนับสนุน ได้แก่ ข้อตกลงสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) และความร่วมมือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (TPP)
แฮร์ริสเป็นหนึ่งในวุฒิสมาชิกเพียง 10 คนที่ลงคะแนนคัดค้าน USMCA ที่ออกในสมัยทรัมป์ โดยกล่าวว่าบทบัญญัติด้านสิ่งแวดล้อมไม่เพียงพอ เธอยังคัดค้าน TPP ในฐานะผู้สมัครวุฒิสภา
โดยกล่าวว่าไม่ได้ทำอะไรเพียงพอที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมและกฎระเบียบของคนงาน ทำให้ผู้เขียนมองว่า ในยุคแฮร์ริส สหรัฐอาจไม่สนับสนุนการทำข้อตกลงการค้าเพิ่ม แต่ก็ไม่รุนแรงเทียบกับรัฐบาลทรัมป์
5. ด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศ แนวคิดของแฮร์ริสมีความเป็นเสรีนิยมมากที่สุด เธอสนับสนุน Green New Deal (มาตรการสนับสนุนพลังงานสะอาดที่ใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ไปกับเครดิตภาษี เงินช่วยเหลือ และเงินกู้เพื่อพลังงานสะอาด)
และสนับสนุนการห้ามขุดเจาะน้ำมันและก๊าซใต้หินดินดาน (Shale oil) โดยใช้น้ำและสารเคมีอัดฉีดเข้าหินดินดาน (Fracking) ผู้เขียนจึงมองว่า นโยบายการสนับสนุนพลังงานสะอาด รวมถึง EV และ Clean energy จะเข้มข้นขึ้นในสมัยของเธอ
6. ด้านภาษี ในฐานะผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2020 แฮร์ริสเสนอให้ยกเลิกการลดหย่อนภาษีของทรัมป์ในปี 2017 ขณะที่ในช่วงที่เป็นรัฐบาล ทั้งไบเดนและแฮร์ริสสนับสนุนการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 400,000 ดอลลาร์ โดยเก็บภาษีใหม่ของบริษัทและครัวเรือนที่มีรายได้สูงมาทดแทน
นอกจากนั้น แฮร์ริสยังสนับสนุนการขึ้นภาษีอสังหาริมทรัพย์ด้วย ในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก เธอเสนอให้เครดิตภาษี (หรือการลดหย่อนภาษี) อย่างกว้างขวางสำหรับคนงานที่มีรายได้น้อยและมีรายได้ปานกลาง
ทำให้เป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลแฮร์ริสน่าจะยกเลิกการลดหย่อนภาษีของทรัมป์ในปี 2017 ขณะที่อาจสนับสนุนด้านการลดหย่อนภาษี (Tax credit) สำหรับผู้ด้อยโอกาสมากขึ้น แต่ก็นำมาซึ่งการเก็บภาษีเพิ่ม
โดยสรุป ผู้เขียนมองว่านโยบายของรัฐบาลทรัมป์เมื่อเทียบกับรัฐบาลแฮร์ริสนั้นจะแตกต่างกัน โดยรัฐบาลทรัมป์อาจเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากกว่า แต่อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้าง และผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น (เพราะตลาดจะกังวลเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ย)
ทั้งจาก
(1) การขึ้นภาษีการค้าจากจีน 60% และจากทั่วโลก 10% จะเพิ่มต้นทุนการนำเข้า (
2) การเนรเทศหรือส่งกลับผู้อพยพหรือแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายอาจผลักดันค่าจ้าง
(3) การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาเป็นการถาวรจะทำให้การขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง (Fed)
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าหากทรัมป์ชนะจริง นโยบายหลายประการอาจทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ความเสียหายจะถูกจำกัด โดยมีสภาคองเกรส สถาบันตุลาการ ตลาดการเงิน หรือแม้แต่สมาชิกในคณะบริหารของทรัมป์เองตรวจสอบ
ขณะที่รัฐบาลแฮร์ริสดูจะไม่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจมากนัก โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายลดภาษีของทรัมป์ตั้งแต่ปี 2017 สิ้นสุดลงในปีหน้า จะทำให้ภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาปรับเพิ่มขึ้น แต่จะมีส่วนลดหย่อนให้กับผู้ด้อยโอกาส รวมถึงมีแนวนโยบายที่จะสนับสนุนพลังงานสะอาด และทำให้ธุรกิจเหล่านี้ไปต่อได้ และดูจะเป็นบวกกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
แต่ที่แน่นอนคือ นับจากนี้ไป ภาษีและความผันผวนปั่นป่วนจะมากขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้อ่านทุกท่าน โปรดระวัง
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่