‘เศรษฐกิจจีน’ ยังคงไม่ฟื้นตัว หลังจากช่วงซบเซายาวนานที่สุดในรอบ 5 ไตรมาส

‘เศรษฐกิจจีน’ ยังคงไม่ฟื้นตัว หลังจากช่วงซบเซายาวนานที่สุดในรอบ 5 ไตรมาส

เศรษฐกิจจีนชะลอตัวหนักกว่าคาด! ภาวะซบเซาที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนอย่างหนัก ขณะที่ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่เห็นผลชัดเจน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “ภาวะเศรษฐกิจซบเซา” ของจีนที่ยืดเยื้อสู่ไตรมาสที่สาม กระตุ้นให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เนื่องจากความต้องการภายในประเทศอ่อนแอลงภายใต้ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการชะลอตัวของการลงทุนสินทรัพย์ถาวรที่ลงเหลือ 3.6% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี

แม้ว่ายอดค้าปลีกจะสูงขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวตามฤดูกาล จนส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้น แต่ยังคง “ต่ำกว่า” การเติบโตในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 อย่างมาก ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวเล็กน้อย และยังคงเติบโตเร็วกว่าการบริโภค 

สำหรับภาพรวมล่าสุดของเศรษฐกิจจีนมูลค่า 17 ล้านล้านดอลลาร์นี้ บ่งชี้ว่ากำลังสูญเสียพลวัตโดยรวม และเกิดสัญญาณการชะลอตัวลง เนื่องจากผู้บริโภค และภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ความพยายามของรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นการบริโภค และการลงทุน ยังไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนี้

“โมเมนตัมของเศรษฐกิจชะลอตัวลง สร้างความท้าทายมากขึ้นต่อเป้าหมายการเติบโตประมาณ 5% ในปีนี้ และผู้กำหนดนโยบายก็เห็นเช่นกัน” ติง ซวง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกรุงเทพฯ และเอเชียเหนือของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าว 

ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะตกต่ำของอสังหาริมทรัพย์ยังไม่แสดงสัญญาณของการฟื้นตัว แม้ว่าอัตราการตกต่ำจะคงที่ก็ตาม ราคาบ้านลดลงในอัตราที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบเป็นรายเดือน แต่ลดลงเร็วขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปี การเริ่มต้นสร้างบ้านใหม่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน

อีกทั้งการลงทุนโดยรวมขยายตัว 1.9% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งแย่กว่าการเติบโต 3.7% ในเดือนก่อนหน้า ตามการคำนวณของ Goldman Sachs 

ไม่เพียงเท่านั้น ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากจีนรายงานการหดตัวครั้งแรกของสินเชื่อต่อเศรษฐกิจจริงในรอบเกือบสองทศวรรษ

“เราเชื่อว่าเศรษฐกิจเผชิญกับภัยคุกคามที่สำคัญจาก ‘เงินฝืด’ ความสำคัญอันดับแรกของรัฐบาลควรเป็นการทำลายวงจรขาลงนี้ในช่วงต้น ด้วยมาตรการที่แน่วแน่มากขึ้น” เซเรน่า โจว นักเศรษฐศาสตร์จีนอาวุโสของ Mizuho Securities Asia Ltd กล่าว 

แม้ว่า ธนาคารกลางจีน มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ แต่การดำเนินการดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่น เพราะช่องว่างในการผ่อนคลายนโยบายยังถูกจำกัดด้วยความกังวลด้านค่าเงินหยวน รวมถึงความจำเป็นในการสกัดกั้นการดีดตัวของพันธบัตร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หากผ่อนคลายทางการเงินอย่างไม่เป็นระเบียบแบบแผน

อ้างอิง: bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์