กรณีศึกษา: สีหนุวิลล์ จากกาสิโน สู่พื้นที่(จีน)สีเทา? | กันต์ เอี่ยมอินทรา
ถอดบทเรียน "สีหนุวิลล์" ในกัมพูชา พื้นที่ที่ใช้กาสิโนเป็นแม่เหล็กดึงดูดเงินลงทุน หนุนให้เมืองพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ได้จริงหรือไม่
หนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาลใหม่ คือ Entertainment complex ที่ถูกพูดถึงข้อดี-เสีย อย่างหนาหู
และสัปดาห์ก่อนผมเขียนถึงเกาะเซนโตซา ของสิงคโปร์ที่น่าจะสามารถพูดได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของนโยบาย ที่จะสามารถดึงจุดแข็ง พร้อมทั้งแนวทางการนำนโยบายไปใช้จริง ตลอดจนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนทำให้เซนโตซา ถือเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวของทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนสิงคโปร์เอง นำมาซึ่งเม็ดเงินมหาศาลสู่ระบบเศรษฐกิจสิงคโปร์
เมื่อศึกษาถึงตัวอย่างสู่ความสำเร็จแล้ว ก็จำเป็นต้องศึกษาถึงกรณีที่ล้มเหลวเพื่อเรียนรู้จากบทเรียน เพื่อป้องกันและไม่ทำซ้ำ และบทเรียนแห่งความล้มเหลวของนโยบาย Entertainment complex หรือบ่อนเสรีนั้น ก็ไม่ได้ไกลจากไทยเลย เพราะกรณีศึกษาที่หลายคนลงความเห็นแล้วว่าเกิดผลเสียมากกว่าดี คือที่ สีหนุวิลล์ กัมพูชา เพื่อนบ้านของเรานี่เอง
สีหนุวิลล์ แต่เดิมเคยเป็นชุมชนริมทะเลที่มีธรรมชาติสวยงามกลางอ่าวไทย มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปผสมผสานกันระหว่างวิถีพื้นบ้าน เช่น การประมง กับการโอบรับการพัฒนาอย่างช้าๆ ผ่านการท่องเที่ยว ถูกจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ของกัมพูชาเพื่อตอบสนองนโยบายการเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุน โดยเฉพาะจากจีน และหนึ่งในนโยบายลูกนั้นก็คือบ่อนเสรี
ราคาที่กัมพูชาต้องจ่ายเพื่อแลกมากับเม็ดเงินมหาศาล ทั้งท่าเรือน้ำลึก ถนน รถไฟ โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภคนั้นคือพื้นที่บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เอกชนต่างชาติ โดยเฉพาะจีนนั้นมีอำนาจเหนือที่ดิน ซึ่งกฎหมายของกัมพูชานั้นแทบจะไร้อำนาจบังคับ หรือหากใช้ภาษาโบราณเสียหน่อยเพื่อการทำความเข้าใจที่ง่ายขึ้นก็คือ เกิดภาวะสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
จะด้วยเหตุข้ออ้างอะไรก็ตามแต่ ในที่สุดแล้วแนวทางการจัดการและพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ อาทิสีหนุวิลล์ นั้นอยู่ในกลไกทุนต่างชาติ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็คือทุนจากประเทศจีน ดังนั้นการพัฒนาเติบโตของเมืองเหล่านี้จึงแปรผันตรงกับเศรษฐกิจของจีน สีหนุวิลล์ในช่วงหนึ่งนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีโรงแรม ตึกอาคารพาณิชย์ขึ้นมากมายเพื่อตอบสนองกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
แต่ในที่สุดแล้วการเจริญเติบโตนั้นก็ได้หยุดชะงักลงทันทีเมื่อเศรษฐกิจจีนมีภาวะฝืดเคือง และในที่สุดก็นำมาซึ่งภาวะชะงักงัน ไม่เพียงเฉพาะการหยุดไหลของเม็ดเงินเข้าสีหนุวิลล์ ตึกที่สร้างไม่เสร็จถูกปล่อยทิ้งร้าง ตึกสร้างเสร็จจำนวนมากไม่มีผู้เข้าอาศัย และหลังจากนั้นไม่นานที่รัฐบาลจีนได้ประกาศจัดการธุรกิจสีเทาอย่างเด็ดขาด ทำให้เครือข่ายธุรกิจเหล่านี้ย้ายฐานมาทำมาหากินนอกเมืองจีน โดยเฉพาะในประเทศที่สามารถเล่นซิกแซ็กได้ผ่านนักการเมือง เช่น กัมพูชา เมียนมา ลาว เป็นต้น
นโยบายการใช้กาสิโนเป็นแม่เหล็กดึงดูดเงินของสีหนุวิลล์ไม่นานก็สิ้นสุดลง หลังจากกัมพูชาได้รับแรงกดดันจากจีน จึงทำให้สีหนุวิลล์แปลงโฉมใหม่เป็นแหล่งซ่องสุมของเครือข่ายธุรกิจ(จีน)สีเทา ใช้เป็นฐานของแก๊ง Call Center การลักพาตัว การค้ามนุษย์ และธุรกิจสีเทาอื่นๆ เป็นที่รวมของแก๊งมิจฉาชีพ ที่กัดกินไม่เพียงแต่คนในกัมพูชาเอง แต่ยังมีเป้าหมายหลักคือเพื่อนบ้านอย่างคนไทย
นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของดอกผลจาก นโยบายและนักการเมืองที่เห็นแก่ตัว ผนวกกับประชาธิปไตย ภาคประชาสังคมและฝ่ายค้านที่อ่อนแอ ร่วมกับทุนจากต่างชาติ ซึ่งรูปแบบเช่นนี้สามารถเห็นได้ในอีกหลายพื้นที่ อาทิ เมืองเมียวดี-ชเวโก๊กโก่ ชายแดนไทยเมียนมา หรือสามเหลี่ยมทองคำชายแดนไทยลาวเมียนมา
หากไทยเราไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็ง และมีภาคประชาชนที่อ่อนแอ นโยบายนี้จึงจะนับว่าอันตรายยิ่งนัก