‘ไมโครซอฟท์’ เลิกจ้างพนักงาน 650 ตำแหน่ง ในแผนกเกม Xbox

‘ไมโครซอฟท์’ เลิกจ้างพนักงาน 650 ตำแหน่ง ในแผนกเกม Xbox

‘ไมโครซอฟท์’ ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 650 ตำแหน่ง ในแผนกเกม Xbox ถือเป็นการเลย์ออฟ ครั้งที่ 3 ในแผนกวิดีโอเกม หลังเข้าซื้อกิจการบริษัทผู้พัฒนาเกม 'Call of Duty'

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) ได้ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ผ่านมาว่า จะมีการเลิกจ้างพนักงานในแผนกเกม Xbox จำนวน 650 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานในองค์กร และฝ่ายสนับสนุน การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกมทั่วโลก

การเลิกจ้างครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ไมโครซอฟท์เข้าซื้อกิจการของ Activision Blizzard ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาเกมชื่อดัง ผู้สร้างเกมซีรีส์ Call of Duty ด้วยมูลค่า 69,000 ล้านดอลลาร์ และเป็นการเลิกจ้าง ครั้งที่ 3 ในหน่วยงานวิดีโอเกมของไมโครซอฟท์นับตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนี้ยังไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างชัดเจน การปรับโครงสร้างองค์กรเป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการควบรวมกิจการขนาดใหญ่

ฟิล สเปนเซอร์ ซีอีโอของ Microsoft Gaming ได้เปิดเผยถึงการตัดสินใจที่ยากลำบากของบริษัทในการปรับโครงสร้างทีมงาน หลังจากการเข้าซื้อกิจการ Activision Blizzard เมื่อเร็วๆ นี้ สเปนเซอร์ ระบุว่า การปรับเปลี่ยนครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ "จัดระเบียบธุรกิจของเราเพื่อความสำเร็จในระยะยาว"

ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากการเข้าซื้อกิจการ Activision Blizzard ไมโครซอฟท์ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานในแผนกเกมถึง 1,900 คน  ในเดือนม.ค.2567 ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพนักงาน และชุมชนเกม

สถานการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ประกาศปิดสตูดิโอเกมหลายแห่ง อาทิ Arkane Austin, Tango Gameworks และ Alpha Dog ส่งผลให้พนักงานจำนวนมากต้องสูญเสียงาน แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้เปิดเผยตัวเลขที่แน่ชัด แต่การปิดสตูดิโอหลายแห่งพร้อมกันย่อมส่งผลกระทบต่อพนักงานเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ Microsoft ไม่ใช่บริษัทเกมยักษ์ใหญ่เพียงแห่งเดียวที่เลิกจ้างพนักงาน สตูดิโอเกมรายใหญ่หลายแห่งทั่วโลกเลิกจ้างพนักงานหลายพันคน เริ่มตั้งแต่ปี 2567 จนถึงปีนี้

ก่อนหน้านี้ บริษัท Sony ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ก็ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานถึง 900 รายในหน่วยงาน PlayStation ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รวมไปถึงบริษัทซอฟต์แวร์เกมอย่าง Unity, บริการสตรีมมิ่งเกมยอดนิยมอย่าง Twitch ของ Amazon, ผู้จัดจำหน่ายเกมมือถือรายใหญ่ระดับโลกอย่าง Playtika และแม้แต่แพลตฟอร์มโซเชียลสำหรับเกมเมอร์อย่าง Discord ก็ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากเช่นกัน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์