‘ไทย-ออสเตรเลีย’ เปิดฉากเจรจา รมต.การค้า 'ฉลอง 20 ปี TAFTA'

‘ไทย-ออสเตรเลีย’ เปิดฉากเจรจา รมต.การค้า 'ฉลอง 20 ปี TAFTA'

ผู้ช่วยรัฐมนตรีการค้าออสเตรเลียเผยหลังเป็นประธานร่วมการประชุมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ TAFTA เปิดโอกาสการค้าการลงทุนมหาศาล ตัวเลขปี 66 พุ่งแตะ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เล็งต่อยอดความร่วมมือพลังงานสะอาด

 นายทิม แอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการค้าเครือรัฐออสเตรเลีย กล่าวหลังเป็นประธานร่วมกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในการประชุมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการค้าครั้งแรกระหว่างสองประเทศในวันที่ 23 ก.ย. เพื่อหารือประเด็นการค้าการลงทุนที่อยู่ในความสนใจของทั้งสองฝ่าย พร้อมทั้งต่อยอดและเสริมสร้างโอกาสความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าการลงทุน เสริมแกร่งผู้ประกอบการ และเร่งติดตามความคืบหน้าในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงเอฟทีเอทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ‘ไทย-ออสเตรเลีย’ เปิดฉากเจรจา รมต.การค้า \'ฉลอง 20 ปี TAFTA\'

นายแอร์กล่าวว่าตั้งแต่มีการลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ต่างฝ่ายต่างกลายเป็นท็อปเท็นของกันและกันในแง่ของการค้าและการลงทุน สร้างการเติบโตมหาศาลให้กับความสัมพันธ์ของภาคธุรกิจไทย-ออสเตรเลีย ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่คนงานและบริษัทกับโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นในทั้งสองประเทศ

ในปี 2566 การค้าระหว่างไทย-ออสเตรเลีย มีมูลค่าถึง 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ มีการจ้างงานเกิดขึ้นมากมาย สร้างโรงงานใหม่และเปิดโอกาสการลงทุนใหม่ในทั้งสองประเทศ

“แน่นอนว่าการมีข้อตกลงคุณภาพสูงแบบนี้เป็นเหตุผลหนึ่งให้มีการประชุมยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (strategic economic dialogue) ที่รัฐบาลสองประเทศสามารถทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดโอกาสการลงทุนและการเติบโตเพิ่มเติม” ผู้ช่วยรัฐมนตรีการค้าออสเตรเลียกล่าวและว่า ในทศวรรษที่ 3 ของ TAFTA ขณะที่ทั้งสองประเทศกำลังรับมือกับพัฒนาการของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงใหญ่คือการมุ่งสู่พลังงานสะอาดและปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ 

“จุดตัดระหว่างการให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและคำถามถึงความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มมากขึ้นทุกที จึงสำคัญอย่างยิ่งที่เรายังคงมุ่งเน้นการประชุมยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน” นายแอร์กล่าวถึงการหารือกันในวันนี้ 

“ผมยินดีมากกับการหารือในวันนี้ที่คืบหน้า เป็นการมีส่วนร่วมอย่างแข็งแกร่งมากและลงรายละเอียดที่กำหนดเส้นทางข้างหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในสาขาที่รัฐบาลออสเตรเลียและไทยให้ความสำคัญร่วมกัน”

นายแอร์กล่าวด้วยว่า  TAFTA เป็นพื้นฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจของไทยและออสเตรเลีย แต่การเจรจาที่มุ่งไปข้างหน้ามีความสำคัญทั้งในแง่เหตุผลเชิงยุทธศาสตร์ เหตุผลด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจและเหตุผลด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งไทยและออสเตรเลียต่างมุ่งเน้นไปที่การค้าการลงทุนระหว่างกัน

“ด้วยเหตุนี้ TAFTA และการประชุมยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจึงสำคัญมาก อีกทั้งความตั้งใจของออสเตรเลียผ่านกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ต้องการเพิ่มการลงทุนในไทยก็สำคัญมากเช่นกัน มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาลร่วมกันอยู่ในนั้น” 

ในการก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ของ TAFTA ผู้ช่วยรัฐมนตรีการค้าออสเตรเลียย้ำว่า การค้าการลงทุนระหว่างกันจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่ยังคงมีอยู่คือ การนำ TAFTA ไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง การเจรจาลดภาษีรอบล่าสุดจะเริ่มนำไปปฏิบัติตั้งแต่ต้นปี 2568 การเจรจาแต่ละรอบมีการเปิดเสรีมากขึ้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งนั่นจะสร้างผลประโยชน์ที่แท้จริงต่อคนงานไทยและออสเตรเลีย ต่อครอบครัว ต่อบริษัท และผู้ส่งออก

ทั้งนี้ ก่อนมาทำงานการเมืองนายแอร์เคยมีประสบการณ์ด้านสหภาพแรงงานมานานถึง 24 ปี และการมาเยือนไทยของเขาเกิดขึ้นในช่วงที่ไทยกำลังมีประเด็นเรื่องการขึ้นค่าแรงที่มักได้รับเสียงคัดค้านจากภาคธุรกิจ เจ้าตัวได้เสนอมุมมองของออสเตรเลียว่า  ในช่วงที่เศรษฐกิจและเทคโนโลยีเปลี่ยนไปสู่การใช้เครื่องจักรเข้มข้นมีเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้ามากขึ้น ออสเตรเลียมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันตรงที่มีความร่วมมือที่แข็งแกร่งในสถานประกอบการ 

"แน่นอนว่าสำหรับออสเตรเลียนั้นเรามีแร่ธาตุสำคัญใต้ดินที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่เน็ตซีโร การสำรองพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมหาศาลเหนือพื้นดิน เรารอคอยร่วมมือกับบริษัทและรัฐบาลไทยเพื่อโอกาสร่วมสำหรับแรงงานและภาคธุรกิจที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่เน็ตซีโร" นายแอร์กล่าว

ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ นายสุชาติกล่าวก่อนการประชุมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจว่า การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าและเร่งรัดการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและออสเตรเลีย (เซก้า) โดยมุ่งเน้นการยกระดับความสัมพันธ์ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของไทยและออสเตรเลีย และ ขยายความร่วมมือใน 8 สาขา ได้แก่ 1) เกษตร ระบบอาหารที่ยั่งยืน และเทคโนโลยี 2) การท่องเที่ยว 3) บริการสุขภาพ 4) การศึกษา 5) การค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล 6) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 7) การส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน และ 8) พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน พร้อมกับใช้โอกาสนี้ ร่วมเฉลิมฉลองความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียที่จะครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 1 มกราคม 2568

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลีย มีมูลค่า 10,827.25 ล้านดอลลาร์  ไทยส่งออกไปออสเตรเลีย 7,234.23 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว  10.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย 3,593.03 ล้านดอลลาร์  สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น