ธุรกิจ 'เวอร์ชวลแบงก์' ไม่ง่าย! 8 แบงก์ในฮ่องกง 'ขาดทุนยับ' ครึ่งปีแรก
ประกอบ ‘ธุรกิจธนาคารเสมือน’ ไม่ง่าย! แม้ล้ำสมัยและได้รับการสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่ยังคงขาดทุนหนัก แม้จะผ่านมาแล้ว 4 ปีนับตั้งแต่เปิดตัว แสดงให้เห็นว่าการแข่งขันในตลาดเวอร์ชวลแบงก์นั้นรุนแรงกว่าที่คิด และโมเดลธุรกิจอาจต้องปรับตัวครั้งใหญ่
KEY
POINTS
- บรรดาธนาคารทั้ง 8 แห่งในฮ่องกง มีผลขาดทุนก่อนภาษีที่ราว 5,500 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
- รายได้หลักของธนาคารเสมือน ยังคงมาจากการรับฝากเงินและให้สินเชื่อ และแม้เห็นการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมการจัดการลงทุนลูกค้า แต่การเติบโตนี้เริ่มจากฐานต่ำมากและยังไม่โดดเด่นเท่าไร
- ธนาคารเสมือนจริง 8 แห่งมีผู้ฝากเงินรวมกว่า 2.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 8.8% ของส่วนแบ่งตลาดธนาคารค้าปลีกในฮ่องกง
ธุรกิจ “ธนาคารเสมือน” (Virtual Bank) หรือธนาคารที่ไม่มีสาขา ไม่ต้องมีพนักงาน ไม่มีเวลาปิด และไม่มีวันหยุดราชการ เคยถูกมองว่าจะเป็นอนาคตของการเงินรูปแบบใหม่ที่เข้ามาดิสรัปต์ธนาคารแบบดั้งเดิมครั้งใหญ่ เพราะบริการด้วยระบบดิจิทัลที่ลดต้นทุนได้อย่างมาก แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในหลายประเทศกลับไม่เป็นเช่นนั้น
ใน “ฮ่องกง” ศูนย์กลางการเงินแห่งเอเชียที่เปิดไลเซนส์ให้มีการดำเนินธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์มานานถึง 4 ปีแล้ว แต่ธนาคารทั้ง 8 แห่งกลับยังไม่สามารถทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอเนื่องมาจากปริมาณธุรกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำ บางแห่งทำได้เพียงใกล้ถึงจุดคุ้มทุน และอีกหลายแห่งยัง "ขาดทุนหนัก"
เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า บรรดาธนาคารทั้ง 8 แห่งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทชั้นนำ เช่น แอนท์ กรุ๊ปในเครืออาลีบาบา, เท็นเซนต์, เสียวหมี่, ผิงอัน อินชัวรันซ์, ธนาคารไอซีบีซี และธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด รายงาน “ผลขาดทุนรวม” ก่อนหักภาษีเงินได้ที่ 1,280 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 5,500 ล้านบาท) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ แม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นเพราะขาดทุนน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเล็กน้อยก็ตาม
- รายงานผลขาดทุนรวมของ Virtual Bank ทั้ง 8 แห่ง -
ทั้งนี้ ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ได้ริเริ่มการออกใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ในปี 2560 เพื่อเริ่มต้นยุคสมัยของ "สมาร์ตแบงก์กิ้ง"
อย่างไรก็ตามแม้จะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่ ณ สิ้นปี 2566 เวอร์ชวลแบงก์ทั้ง 8 แห่งในฮ่องกงยังคงมีผู้ฝากเงินรวมกว่า 2.2 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8.8% ของส่วนแบ่งตลาดรีเทลแบงก์กิ้งในฮ่องกงเท่านั้น และเมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดอื่นๆ เช่น ยอดเงินกู้ทั้งหมด สินทรัพย์รวม และเงินฝาก พบว่ามีส่วนแบ่งตลาดเพียง 0.3%
“เวอร์ชวลแบงก์ยังไม่สามารถเปลี่ยนโมเมนตัมนี้ให้กลายเป็นปริมาณธุรกรรมที่สูงขึ้นได้” ธนาคารกลางฮ่องกงกล่าว
กำไรยังไม่มา แต่โอกาสยังมีอยู่
ในช่วงปีแรกๆ ของการดำเนินธุรกิจนั้น Virtual Bank ยังไม่ถูกคาดหวังในเรื่องของการทำกำไร เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงในการดึงดูดลูกค้าใหม่ในตลาดการแข่งขันที่ท่วมไปด้วยธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
แม้ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจะทำให้เวอร์ชวลแบงก์เห็นการเติบโตของรายได้จากดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของรายได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้แบงก์ทำกำไรได้ และยิ่งปัจจุบันที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังเริ่มวัฎจักรการลดดอกเบี้ย บรรยากาศการทำกำไรของแบงก์ก็ยิ่งแย่ลง
สำหรับเวอร์ชวลแบงก์แล้ว "เงินฝากและการปล่อยสินเชื่อ" ยังคงเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้แบงก์สามารถทำกำไรได้ เพราะแม้ว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมการจัดการความมั่งคั่งจะกำลังเติบโตดีขึ้นแต่ก็ยังเป็นฐานที่ต่ำมาก
อย่างไรก็ดี เวอร์ชวลแบงก์บางแห่งคาดว่าในยุคที่ดอกเบี้ยกำลังเข้าสู่วัฎจักรขาลงอาจทำให้เรื่องนี้เปลี่ยนไป โดยอาจจะช่วยกระตุ้นรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมการลงทุนของรายย่อยมากขึ้น
แบงก์ส่วนใหญ่ยังขาดทุนแม้รายได้เติบโต
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 "ซีเอแบงก์" (ZA Bank) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทประกันภัยออนไลน์อย่าง ZhongAn Online P&C Insurance รายงานผลขาดทุนก่อนหักภาษีเงินได้ที่ 109.3 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง โดยซีเอซึ่งเป็นเวอร์ชวลแบงก์รายใหญ่ที่สุดในฮ่องกงจากมูลค่าสินทรัพย์ และดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2563 ระบุว่าสามารถทำกำไรสุทธิรายเดือนได้แล้ว ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้เปิดเผยตัวเลขที่แน่นอนออกมา
คาลวิน อึ้ง (Calvin Ng) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของซีเอแบงก์กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการที่ยืดหยุ่นของผู้ฝาก มีส่วนสำคัญต่อกำไรก่อนหักภาษีในช่วงที่ดอกเบี้ยเริ่มปรับขึ้นราวสองปีที่ผ่านมา และแสดงความเชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานจะยั่งยืน โดยในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวนเงิน 207 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
ส่วน "วีแล็บแบงก์" (WeLab Bank) มั่นใจว่าจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนในปี 2568 หลังจากตัวเลขสินเชื่อเติบโตขึ้นถึง 160% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยช่วงครึ่งปีแรกนี้ วีแล็บขาดทุนอยู่ 124.4 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ลดลงจาก 161.5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 68.4% เป็น 72 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและคอมมิชชันสุทธิ เพิ่มขึ้น 77.8% เป็น 11.5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
ขณะที่ Virtual Bank อีกรายอย่าง "ม็อกซ์" (Mox) ยังคงยืนยันเป้าหมายที่จะถึงจุดคุ้มทุนในปี 2567 แม้ว่าจะเพิ่งขาดทุนไปถึง 433.2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงในครึ่งปีแรก หรือสูงกว่าปีก่อนก็ตาม โดยเป็นเวอร์ชวลแบงก์ในฮ่องกงที่ขาดทุนหนักที่สุดในปีนี้ จากการเข้าไปเจาะธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น จนทำให้ต้องตั้งด้อยค่าสินเชื่อเพิ่มถึง 72% เป็น 257.8 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
เพื่อสร้างรายได้ที่หลากหลายมากขึ้น เวอร์ชวลแบงก์บางแห่งได้เข้าสู่อุตสาหกรรม Web3 โดยเสนอบริการให้กับตลาดซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและบริษัทบล็อกเชน อีกทั้งมีเป้าหมายที่จะให้บริการซื้อขายคริปโทฯ เองอีกด้วย
ธนาคารกลางฮ่องกงระบุว่า บริการของเวอร์ชวลแบงก์ควรเปิดให้บริการแก่ผู้ที่ไม่ได้พำนักในฮ่องกงด้วย ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดหากมีการเคลื่อนไหวนี้จะช่วยให้ธนาคารทำกำไรได้มากน้อยเพียงใด
ซีอีโอของซีเอแบงก์กล่าวว่า นักท่องเที่ยวจากจีนเป็นหนึ่งในลูกค้าของธนาคารก็จริง แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมุ่งเน้นไปที่การใช้จ่ายมากกว่าบริการความมั่งคั่ง และข้อกฎหมายที่ต่างกันยังทำให้แบงก์ไม่สามารถให้บริการด้านคริปโทฯ กับลูกค้าจากจีนด้วย
สำหรับคำถามที่ว่า จะมีเวอร์ชวลแบงก์เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่นั้น ธนาคารกลางฮ่องกงระบุว่า “ยังไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจนในขณะนี้ ในการเปิดธนาคารเสมือนจริงเพิ่มเติม เนื่องจากทั้ง 8 แห่งที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำกำไรได้”
ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายคาดว่า "เวอร์ชวลแบงก์ที่ไปไม่รอดอาจถูกคู่แข่งรายใหญ่กว่าเข้าควบรวม"
“ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะหายไป” พอล แมคชีฟฟรีย์ (Paul McSheaffrey) หุ้นส่วนอาวุโสด้านการธนาคารของ KPMG กล่าว “แต่ผมบอกได้เลยว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะมีเวอร์ชวลแบงก์น้อยลงอย่างแน่นอน”
อ้างอิง: nikkei