ไขปริศนาผลกระทบจากอาณานิคมยุโรปกับความมั่งคั่งชาติ กับนักเศรษฐศาสตร์โนเบล

ไขปริศนาผลกระทบจากอาณานิคมยุโรปกับความมั่งคั่งชาติ กับนักเศรษฐศาสตร์โนเบล

ไขความลับความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจโลก 3 นักเศรษฐศาสตร์คว้ารางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ ดารอน อาเซโมกลู ไซมอน จอห์นสัน รวมทั้ง เจมส์ เอ. โรบินสัน อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (15 ต.ค.) ว่า ผลกระทบระยะยาวของอาณาจักรเก่าในยุโรปต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของงานวิจัยโดยนักวิชาการสามท่านที่ทำงานในสหรัฐอเมริกและได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2024 ร่วมกัน ได้แก่ดารอน อาเซโมกลู ไซมอน จอห์นสัน และ เจมส์ เอ. โรบินสัน อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 

ทั้งสามได้รับการยกย่องสำหรับการวิเคราะห์ที่มาที่ไปของความเจริญรุ่งเรืองในยุโรปและความสำคัญของสถาบันต่างๆ ในกระบวนการสร้างความมั่งคั่ง

ราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences)ในกรุงสตอกโฮล์มเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงของผลงานนี้กับสถานการณ์ปัจจุบันในการอธิบายว่าทำไมบางประเทศจึงร่ำรวยในขณะที่บางประเทศยากจนกว่ามาก โดยทั้งสามจะได้รับเงินรางวัลร่วมกันมูลค่า 11 ล้านโครนา (1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ยาคอบ สเวนสัน ประธานของกลุ่มรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ว่า "การลดความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ระหว่างประเทศอันมหาศาล เป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของเรา ผู้ได้รับรางวัลได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันทางสังคมในการบรรลุเป้าหมายนี้"

คณะกรรมการให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า งานวิจัยของนักวิชาการทั้งสามท่านแสดงให้เห็นว่าเส้นทางสู่ความเจริญรุ่งเรืองอาจแตกต่างกันไปบางส่วน เนื่องจากโครงสร้างที่ถูกสร้างขึ้นในประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาวยุโรป

"ในสถานที่ที่ชาวยุโรปเผชิญกับอัตราการเสียชีวิตสูง พวกเขาไม่สามารถตั้งถิ่นฐานได้และมีแนวโน้มที่จะสร้างสถาบันเพื่อการขูดรีด (Extractive Institutions) มากกว่า" นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามเขียนในบทความร่วมกันซึ่งตีพิมพ์ในปี 2001 พร้อมเสริมว่า

"สถาบันเหล่านี้ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน"

ในบรรดาผู้ชนะทั้งสามท่าน จอห์นสัน อาจเป็นที่รู้จักมากที่สุดจากช่วงเวลาที่เขาทำงานที่ไอเอ็มเอฟ แม้ว่าจะเป็นช่วงสั้นๆ คือตั้งแต่มี.ค. 2007 ถึงส.ค. 2008  แต่ก็ตรงกับช่วงเริ่มต้นของวิกฤตการเงินโลก

ไขปริศนาผลกระทบจากอาณานิคมยุโรปกับความมั่งคั่งชาติ กับนักเศรษฐศาสตร์โนเบล

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กให้ข้อมูลว่า จอห์นสันเป็นศาสตราจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ร่วมกับอาเซโมกลู เพื่อนร่วมงาน และเป็นผู้เขียนหนังสือร่วมกันชื่อ "Power and Progress: Our Thousand-Year Struggle Over Technology and Prosperity" ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2023

"ในภาพกว้าง งานที่เราทำสนับสนุนประชาธิปไตย" อาเซโมกลู กล่าวทางโทรศัพท์ในการแถลงข่าวหลังจากประกาศรางวัล พร้อมเสริมว่า

"ประเทศที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจากระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะเติบโตในที่สุด ในเวลาประมาณ 8-9 ปี เร็วกว่าระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นผลพลอยได้ที่น่าสนใจ แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่ยาวิเศษ การนำประชาธิปไตยมาใช้นั้นยากมาก"

 

ทั้งนี้ อาเซโมกลู แสดงความสงสัยเกี่ยวกับโอกาสที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะสร้างผลกระทบตามที่มีการโฆษณาไว้ ในการสัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนต.ค. โดยคาดการณ์ว่า

"เงินจำนวนมากจะถูกใช้ไปอย่างสูญเปล่า"

 

ขณะที่โรบินสัน ผู้ชนะคนที่สามเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัชิคาโก ซึ่งเขาและอาเซโมกลู เป็นผู้เขียนร่วมหนังสือ "Why Nations Fail: The Origins of Power, Prosperity, and Poverty" ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2012

รางวัลนี้ มีชื่อเป็นทางการว่า "Sveriges Riksbank Prize in Economic Sciences in Memory of Alfred Nobel" ก่อตั้งขึ้นในปี 1968 โดยธนาคารกลางสวีเดน เป็นรางวัลเสริมจากรางวัลประจำปีสำหรับความสำเร็จในด้านฟิสิกส์ เคมี การแพทย์ วรรณกรรม และสันติภาพ ซึ่งได้รับการกำหนดไว้ในพินัยกรรมของอัลเฟรด โนเบล นักประดิษฐ์ชาวสวีเดนผู้คิดค้นไดนาไมต์ที่เสียชีวิตในปี 1896

ปีที่แล้ว คลอเดีย โกลดิน ได้รับรางวัลนี้สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับช่องว่างของค่าจ้างระหว่างเพศ และในปีก่อนหน้านั้น เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้รับรางวัลร่วมกับ ดักลาส ไดมอนด์ และ ฟิลิป ดีบวิก สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับธนาคารและวิกฤตการเงิน

ผู้ได้รับรางวัลคนอื่นๆ ได้แก่ ฟรีดริช ไฮเยค สำหรับงานด้านทฤษฎีเงินตราและความผันผวนทางเศรษฐกิจ วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ สำหรับการบูรณาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์มหภาคระยะยาว และ พอล ครูกแมน สำหรับการวิเคราะห์การค้าโลก

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก ทิ้งท้ายว่า รางวัลโนเบลซึ่งมอบมาตั้งแต่ปี 1901 มีความไม่เท่าเทียมกันอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงถูกบดบังโดยผู้ชายในวงการวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ มีผู้หญิงเพียงสามคนเท่านั้นที่ได้รับรางวัลด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทำให้รายชื่อผู้ได้รับรางวัลนี้มีสัดส่วนผู้ชายมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากรางวัลสาขาฟิสิกส์