'ศรัทธาอันจีรัง' ของชาวบาหลี | World Wide View

"บาหลี" เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของอินโดนีเซีย และเป็นเมืองที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูจำนวนมาก แม้เคยตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ แต่อารยธรรมของยุโรปก็ไม่เคยมีอิทธิพลลดทอนความศรัทธาในศาสนาฮินดูของชาวบาหลีได้เลย

บาหลี เมืองท่องเที่ยวที่เป็นเกาะขนาดเล็กในกว่า 17,500 เกาะของอินโดนีเซีย ตามภาษาท้องถิ่น คำว่าบาหลีหมายถึง “ดินแดนของพระเจ้า” สะท้อนการนับถือเทพหลายองค์ในศาสนาฮินดูและความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณของคนพื้นเมืองที่นี่ ทำให้บาหลีมีวัดเล็กวัดน้อยกระจายอยู่กว่า 1,000 วัดทั่วเกาะ ขณะที่สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว เมืองบาหลีเป็นดินแดนที่มีมนต์เสน่ห์แห่งศิลปะ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมแบบฮินดู รวมเข้ากับแหล่งสร้างความบันเทิงหลากหลายท่ามกลางภูเขาไฟและทุ่งข้าวเขียวขจีที่หาเมืองอื่นเทียบเทียมได้ยาก

ศาสนาฮินดูเข้ามาเผยแผ่ในเมืองบาหลีตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 และกลายมาเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่ของที่นี่นับถือจวบจนทุกวันนี้ แม้เมืองบาหลีจะตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์อยู่กว่าหนึ่งศตวรรษในช่วงราวปี 2389 จนถึงปี 2491 แต่อารยธรรมของยุโรปก็ไม่เคยมีอิทธิพลลดทอนความศรัทธาในศาสนาฮินดูของชาวบาหลีได้เลย วัฒนธรรมดั้งเดิมในการเข้าวัดทำบุญทุกวันอย่างสม่ำเสมอยังคงเป็นจารีตประเพณีที่ผู้คนยึดถือ โดยในปัจจุบัน เมืองบาหลีเป็นเกาะแห่งเดียวในอินโดนีเซียที่ผู้คนร้อยละ 95 ของกว่า 4 ล้านคนบนเกาะนับถือศาสนาฮินดู แม้ประชากรส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียกว่า 270 ล้านคนจะนับถือศาสนาอิสลามก็ตาม

นอกจากภาพหญิงชายที่แต่งกายในชุดพื้นเมืองเทินตะกร้าไว้บนศีรษะเดินไปทำบุญที่วัดอันแสนจะชินตาแล้ว วิถีชีวิตอีกอย่างหนึ่งที่พบเห็นได้ทุกแห่งหนในบาหลี คือ การทำกระทงเครื่องบูชาที่เรียกกันว่า จานัง ซารี (Canang sari) กระทงดอกไม้หลากชนิดที่ผู้คนวางแสดงความขอบคุณและสำนึกในพระคุณของเทพฮินดูที่นำความสงบสุขมาให้ แต่ละบ้านมักทำไม่ต่ำกว่า 10 กระทงในแต่ละวัน บางบ้านที่เป็นครอบครัวใหญ่อาจทำถึงวันละกว่าร้อยกระทงเพื่อวางตามมุมต่าง ๆ ของบ้าน ไม่ว่าจะศาลพระภูมิ รูปปั้น ลานบ้าน ทางเดิน ประตู ห้องครัว และห้องนอน ขณะที่ร้านค้าทั่วทุกหนระแหงในเมืองก็จะวางกระทงดอกไม้ไว้ที่หน้าร้าน บนถนน และใกล้กับสินค้าที่วางขาย เพื่อบูชาเทพและเจ้าที่ให้ทำมาค้าขึ้นและเป็นสิริมงคลของร้านด้วย

\'ศรัทธาอันจีรัง\' ของชาวบาหลี | World Wide View

 

ขั้นตอนการทำกระทงก็ไม่ซับซ้อนอะไรมากนัก เป็นการนำใบมะพร้าวมาสานเป็นกระทงและวางดอกไม้ 5 สีลงไปพร้อมข้าวสุกและจุดธูปหนึ่งดอก โดยชาวบาหลีเล่าว่า การวางดอกไม้ให้วางสีเขียวไว้ตรงกลางและล้อมรอบด้วยดอกไม้สีส้มหรือสีเหลืองทางด้านซ้าย จากนั้นวางดอกไม้สีม่วงหรือสีน้ำเงินด้านบน และสีชมพูหรือสีขาวทางด้านขวาของกระทง ส่วนสีแดงให้วางด้านล่าง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการบูชาเทพฮินดูที่ชาวบาหลีนับถือ อาทิ พระกฤษณะ พระพรหม พระนารายณ์ พระศิวะ พระตรีมูรติ และพระพิฆเนศ เพื่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นในชีวิต และแม้เมื่อหมดวันจะต้องทิ้งเครื่องบูชาเหล่านี้ไป แต่ด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้าไม่ทำ เทพจะลงโทษ สิ่งนี้จึงกลายเป็นกิจวัตรที่ทุกคนตั้งใจทำตลอดวันกันไปเอง

อันที่จริง บาหลียังมีเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อและความศรัทธาที่น่าสนใจอยู่อีกมาก อาทิ ประตูวัดที่เหมือนประตูบานเดียวถูกตัดผ่าออกตรงกลางที่พบเห็นได้ทั่วเกาะ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาลตามความเชื่อของศาสนาฮินดู และการแยกออกสองข้างหมายถึงความดีและความชั่ว ดังนั้น หากใครอยากรู้เรื่องเล่าเพิ่มเติมอีก คงต้องลองไปเที่ยวเมืองบาหลีกันสักครั้งและจะพบว่า ไม่ว่าจะห่วงโซ่อุปทานในยุคโลกาภิวัตน์ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือกระแสโลกดิจิทัลในปัจจุบันก็แทบไม่มีผลให้เมืองบาหลีเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอื่นได้เลย ที่นี่ยังคงเป็นเกาะแห่งศรัทธาที่รักษาความเป็นตัวตนได้อย่างคงเส้นคงวามาโดยตลอด