การบริโภคทองในจีนร่วง! สวนทางราคาทองพุ่งทุบสถิติ ผลจากเศรษฐกิจชะลอตัว
‘ราคาทองคำ’ ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และภาวะเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ความต้องการทองคำในจีนลดลง โดยเฉพาะการบริโภคทองคำเพื่อทำเครื่องประดับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่บรรดาธนาคารกลาง และนักลงทุนตุนทองเพิ่ม
“ความต้องการทองคำในจีน” ซึ่งเป็นตลาดทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก “ลดลง” กว่าหนึ่งในห้าในช่วงไตรมาสที่สาม เนื่องจากราคาทองคำที่แพงเป็นประวัติการณ์ และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จนส่งผลกระทบต่อความต้องการทองคำสำหรับผลิตเครื่องประดับ
ตามข้อมูลจากสภาทองคำจีนที่บลูมเบิร์กได้วิเคราะห์ ระบุว่า ความต้องการทองคำรวมลดลง 22% เหลือ 218 ตันในไตรมาสสาม ส่วนการบริโภคเครื่องประดับลดลง 29% เหลือ 130 ตัน ในขณะที่ทองคำแท่ง และเหรียญทองคำลดลง 9% เหลือ 69 ตัน
สำหรับการซื้อทองคำรูปพรรณในจีน ซึ่งคิดเป็น 53.9% ของการบริโภครวม ลดลงในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนเหลือ 400.038 ตัน และลดลง 27.53% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ราคาทองคำพุ่งขึ้นประมาณหนึ่งในสามในปีนี้ โดยแตะระดับสูงสุดใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากการซื้อเพิ่มขึ้นโดยธนาคารกลาง ตลอดจนความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างต่อเนื่องจากนักลงทุน การพุ่งสูงขึ้นดังกล่าวจึงทำให้ราคาเครื่องประดับแพงขึ้นมาก ในขณะที่ผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมากเผชิญความลำบากจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา
สัญญาทองคำที่ซื้อขายกันมากที่สุดในตลาดฟิวเจอร์เซี่ยงไฮ้พุ่งขึ้น 23.5% จากต้นปีเป็น 596.72 หยวน (83.69 ดอลลาร์) ต่อกรัม เมื่อวันที่ 30 กันยายน
“แม้การพัฒนาอย่างรวดเร็วของรูปแบบอีคอมเมิร์ซใหม่ๆ เช่น การไลฟ์สตรีม และการค้าออนไลน์แบบเรียลไทม์ ได้ผลักดันการบริโภคเครื่องประดับที่ทำจากทองให้เติบโต แต่ราคาทองคำที่สูงขึ้นในช่วงสามไตรมาสแรก ได้กระทบต่อการซื้อเครื่องประดับ” สมาคมทองคำจีน กล่าว
จากข้อมูลของสภาทองคำจีนพบว่า การบริโภคทองคำของจีนลดลง 11% เหลือ 742 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี โดยเฉพาะการนำเข้าทองคำที่ไม่ใช่เงินตราลดลง 22% เหลือ 97 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะที่ผลผลิตทองคำจากวัตถุดิบนำเข้าได้เพิ่มขึ้น 15.51% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็น 111.207 ตัน ทำให้ผลผลิตทองคำรวมของจีนตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงกันยายนอยู่ที่ 379.275 ตัน เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี
สมาคมทองคำจีน ระบุว่า อุตสาหกรรมทองคำภายในประเทศกำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยเหมืองขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นใหม่ยังไม่สามารถผลักดันกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้ปริมาณการผลิตทองคำในปัจจุบันยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว อนาคตของอุตสาหกรรมทองคำภายในประเทศยังคงมีความสดใส แม้ว่าในช่วงนี้จะเผชิญกับภาวะชะลอตัว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์