ไทย - อินโดฯ ต้องจับตา ‘ไอวอรีโคสต์’ แซงเวียดนาม ขึ้นแท่นผู้ผลิตยางท็อป 3 โลก
ไอวอรีโคสต์ หรือประเทศโกตดิวัวร์ เตรียมก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่แซงหน้าชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากมาตรการด้านความยั่งยืนที่กำลังรอการพิจารณาในยุโรป
นิกเคอิ เอเชียอ้างอิงข้อมูลจากองค์การศึกษายางพาราระหว่างประเทศ (International Rubber Study Group: IRSG) รายงานว่า ไอวอรีโคสต์ ประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตก สามารถผลิตยางพาราได้มากถึง 1.55 ล้านตัน เมื่อปีก่อน ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2562 ที่ระดับราว 8.15 แสนตันเกือบ 2 เท่า และทำให้ไอวอรีโคสต์แซงหน้าเวียดนาม และขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศไทย และอินโดนีเซีย
การผลิตยางพาราได้เพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก เกษตรกรในไอวอรีโคสต์ที่เปลี่ยนจากการผลิตเมล็ดโกโก้ไปผลิตยางพาราโดยหวังว่าจะได้รับรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น
ขณะเดียวกันกฎหมายว่าด้วยการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (European Union Deforestation Regulation: EUDR) ที่จะมีผลบังคับใช้ปลายปี 2568 ก็มีส่วนผลักดันด้วยเช่นกัน
กฎระเบียบดังกล่าวกำหนดให้มีหลักฐานยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในอียูไม่ได้ผลิตมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งสวนยางพาราในไอวอรีโคสต์ก็ได้รับความช่วยเหลือในการปรับใช้มาตรฐานใหม่เพื่อให้ผู้ผลิตล้อรถยนต์ในยุโรป และผู้ผลิตสินค้าอื่นๆ สามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับกฎระเบียบของอียูดีอาร์ได้
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามข้อกำหนดอียูดีอาร์ของไอวอรีโคสต์ยังคงเป็นความท้าทาย และมีความกังวลว่าลูกค้าอาจหันไปหาเกษตรกรรายใหญ่ที่มีห่วงโซ่อุปทานที่ตรวจสอบได้มากกว่า จนทำให้เกษตรกรรายย่อยหลุดออกจากอุตสาหกรรม
ทาคาฮิโระ ไซโตะ หุ้นส่วนศูนย์ความเป็นเลิศด้านความยั่งยืนของ PwC Japan Group บอกว่า ผู้ซื้อบางคนกำลังพิจารณาเปลี่ยนคำสั่งซื้อกับเกษตรกร และมีความกังวลเกี่ยวกับการว่างงาน และการลดลงของอุตสาหกรรมในประเทศที่สูญเสียธุรกิจ
ขณะที่ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่ง มองว่า เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามแนวทางอียูดีอาร์จะได้รับประโยชน์อย่างมาก และว่า การปรับใช้อียูดีอาร์จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคการผลิตยางพารา
ปัจจุบันอินโดนีเซีย และไทยผลิตยางพาราราวครึ่งหนึ่งของโลก แต่อินโดนีเซีย ผู้ผลิตยางพารารายใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีผลผลิตลดลง 20% จากปี 2562 สู่ระดับ 2.65 ล้านตันเมื่อปีก่อน และพบว่าผู้ผลิตยางพาราในประเทศลดลง สวนทางกับผู้ผลิตยางในไอวอรีโคสต์
ชินอิจิ กาโต ประธานบริษัทค้ายางพาราแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวบอกว่า “เพราะรัฐบาลไม่สนับสนุนเกษตรกรอย่างแข็งขัน จึงเกิดการเปลี่ยนไปผลิตน้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในระหว่างที่ราคายางลดลงในช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา” และว่า ความก้าวหน้าในการเปลี่ยนต้นยางเก่าด้วยต้นยางใหม่ยังมีข้อจำกัด
นิกเคอิ ระบุว่า อินโดนีเซียยังเตรียมรับมือกับกฎระเบียบอียูดีอาร์ได้ช้า ทำให้ประเทศขยายการส่งออกไปยังประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกอียูแทน เช่น จีน และอินเดีย
ส่วนหน่วยงานยางพาราในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่สุดของโลก ได้ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มติดตามสถานที่ปลูกสวนยาง และมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแปรรูปยางในประเทศ ตามข้อกำหนดของอียูดีอาร์
อย่างไรก็ตาม ความกังวลด้านซัพพลายในไทยยังคงเพิ่มขึ้น เพราะประเทศไทยเผชิญกับฝนตกหนัก และน้ำท่วมนับตั้งแต่ฤดูร้อน ขณะที่ในช่วงต้นเดือนก.ย. ไต้ฝุ่นยางิได้สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ต่อพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในมณฑลไห่หนานของจีน และทางภาคเหนือของเวียดนาม
อ้างอิง: Nikkei Asia
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์