เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า (จบ) | World Wide View

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า (จบ) | World Wide View

แบ่งปันประสบการณ์เยือน "กัมพูชา" ของนักการทูตแรกเข้าในบทความส่งท้าย โดยสรุปถึงที่มาของการเดินทางเยือนครั้งนี้ เล่าถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านและนโยบายต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตไทยในกัมพูชา ที่ตั้งอยู่ในย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงพนมเปญ

หลังเหล่าน้อง ๆ นักการทูตแรกเข้าได้พาผู้อ่านไปเยี่ยมชมสถานที่ที่น่าสนใจในกรุงพนมเปญและเมืองเสียมราฐแล้ว ดิฉันในฐานะนักการทูตที่ดูแลรับผิดชอบความสัมพันธ์ระหว่างไทย – กัมพูชา
ซึ่งได้ร่วมเดินทางกับน้อง ๆ ขอแบ่งปันประสบการณ์ในบทความส่งท้ายด้วยเรื่องราวน่าสนใจของ
ทริปนี้ 


ที่มาของการเดินทาง 


การเดินทางของเหล่านักการทูตไทยครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและ
ส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนระหว่างไทยและกัมพูชา ที่กระทรวงการต่างประเทศไทยและกัมพูชาได้จัดการแลกเปลี่ยนนักการทูตแรกเข้าเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักการทูตกัมพูชาได้มีโอกาสเยือนประเทศไทยและเข้าร่วมหลักสูตรที่จัดโดยสถาบันการต่างประเทศเทวงศ์วโรปการของกระทรวงการต่างประเทศไทยเช่นกัน

การเยือนครั้งนี้เจ้าบ้านอย่างกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาและนักการทูตแรกเข้ากัมพูชาได้เปิดบ้านให้พวกเราเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ต่าง ๆ ผ่าน
การบรรยาย การแลกเปลี่ยนมุมมองและทำความรู้จักระหว่างนักการทูตรุ่นใหม่ พร้อม ๆ กับเยี่ยมชมความสวยงามของกรุงพนมเปญจากการล่องเรือในแม่น้ำโตนเลสาบในยามค่ำคืน

เรียนรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้าน – นโยบายต่างประเทศกัมพูชา 


ผู้บรรยายจากกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาได้สรุปภาพรวมนโยบายต่างประเทศให้พวกเราฟังว่ากัมพูชามีนโยบายต่างประเทศที่สำคัญ โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศเพื่อนบ้าน (peaceful co-existence) ซึ่งกัมพูชาให้ความสำคัญและระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญของกัมพูชา การเสริมสร้างความสำคัญกับระบอบพหุภาคี ทั้งในอาเซียน และ UN โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 – ปัจจุบันกัมพูชาได้ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพกว่า 9,000 คน และสิ่งที่กัมพูชาให้ความสำคัญมากในตอนนี้คือ “เป้าหมายการเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี พ.ศ. 2593” ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการสร้างงาน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

สถานเอกอัครราชทูตไทยในกัมพูชา 


โอกาสพิเศษอีกโอกาสหนึ่งในการเดินทางครั้งนี้คือการเรียนรู้ภารกิจขับเคลื่อนการทูตจากท่านทูตเชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ (ในขณะนั้น) และ พี่ ๆ “ทีมประเทศไทย” ที่ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญให้เราเยี่ยมชมพร้อมอธิบายภารกิจต่าง ๆ

สถานทูตแห่งนี้ตั้งอยู่ในย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของพนมเปญ รายล้อมด้วยสถานเอกอัครราชทูตประเทศอื่น ๆ และสถานที่ราชการของกัมพูชา โดยตั้งอยู่ตรงข้ามกับที่ทำการพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party – CPP) พรรคของอดีตนายกรัฐมนตรี สมเด็จฯ ฮุน เซน และสมเด็จฯ ฮุน มาแนด นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนปัจจุบัน โดยสถานทูตไทยมีพื้นที่กว่า 12 ไร่ ประกอบด้วยทำเนียบเอกอัครราชทูต อาคารอเนกประสงค์ซึ่งจำลองแบบจากวิเทศสโมสร สถานที่รับแขกสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อชุมชนไทยในกัมพูชา อาคารสำหรับบริการประชาชน เช่น การทำพาสปอร์ต การออกวีซ่า ซึ่งช่วงที่เราไปได้ทราบว่าสถานเอกอัครราชทูตได้ปรับปรุงระบบการออกวีซ่าให้ทำการผ่านรูปแบบออนไลน์แล้ว รวมทั้งอาคารสำนักงานซึ่งทีมประเทศไทย ได้แก่ บรรดานักการทูตจากกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ ที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายควบคุมยาเสพติด ทำงานร่วมกันตามนโยบาย “One Roof Policy” ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญเป็นสำนักงานไม่กี่แห่งที่หน่วยงานต่าง ๆ ของไทยทำงานอยู่ภายใต้อาคารเดียวกัน
ท่านทูตได้เล่าให้พวกเราฟังว่าท่านมีความคุ้นเคยกับประเทศกัมพูชา เนื่องจากเป็นประเทศที่ได้ออกประจำการครั้งแรก และได้กลับมาเป็นเอกอัครราชทูตก่อนที่จะเกษยีณอายุราชการในปีนี้ ในแง่ของความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา ที่ผ่านมาอยู่ในระดับดีมาก และล่าสุดได้มีการยกระดับเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ในปีนี้ รวมทั้งมีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

ในด้านเศรษฐกิจ ไทยถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับสี่ 4 ของกัมพูชา (รองจากจีน สหรัฐ และเวียดนาม) โดยนักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนในกัมพูชาจำนวนมากเป็นลำดับที่ 6 และมีการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจโรงแรม สายการบิน การแพทย์ ร้านกาแฟ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ดิฉันเห็นได้ทั่วไปตามมุมเมือง ทั้ง ปั๊มน้ำมัน ปตท. เซเว่น อีเลฟเว่น หรือร้านกาแฟอเมซอน ซึ่งหลังใช้บริการเห็นว่าเมนูและรสชาตินั้นเหมือนกับสาขาในประเทศไทย

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหา ยังมีเรื่องที่รัฐบาลสองประเทศต้องขับเคลื่อนร่วมกัน โดยเฉพาะบริเวณชายแดน อย่างแก๊งคอลเซนเตอร์ การเก็บกู้ทุ่นระเบิดบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา รวมทั้ง
การปรับปรุงและส่งเสริมความเชื่อมโยงทางชายแดนเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว 

ท้ายที่สุดนี้ การเดินทางครั้งนี้มีประโยชน์มาก ๆ สำหรับเหล่านักการทูตทั้งหลายที่จะเป็นฟันเฟืองตัวเล็กในการขับเคลื่อนการต่างประเทศต่อไป เพราะเป็นโอกาสได้เรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านที่มี
ความร่วมมือใกล้ชิด และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาอย่างยาวนานซึ่งจะครบ 75 ปีใน
ปี พ.ศ. 2568