แผนล้มดอลลาร์ของ BRICS แม้ยังห่างความจริง แต่ทรัมป์ต้องกันไว้ก่อน

แผนล้มดอลลาร์ของ BRICS แม้ยังห่างความจริง แต่ทรัมป์ต้องกันไว้ก่อน

แผนล้มดอลลาร์ของ BRICS แม้ยังห่างความจริง แต่ทรัมป์ต้องกันไว้ก่อน ประกาศขู่ขึ้นภาษี 100% หากคิดตีตัวออกห่างดอลลาร์ด้วยกระบวนการ De-dollarization ด้าน IMF พบสัดส่วนดอลลาร์ในทุนสำรองทั่วโลกลดลงมาตลอด 23 ปี

ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งประกาศท่าทีแข็งกร้าวล่าสุดออกมาอีกเรื่อง และเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสนใจอย่างมาก เพราะคราวนี้ทรัมป์ขู่จะขึ้นภาษีศุลกากรในระดับแม็กซ์ 100% และไม่ใช่แค่กับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็น “กลุ่มประเทศบริกส์” (BRICS) ที่แค่สมาชิกดั้งเดิม 5 ประเทศ (ปัจจุบันมีสมาชิก 9 ประเทศ) ก็มีสัดส่วนจีดีพีมากถึง 37.4% ของโลกในปี 2566 แล้ว

ประเด็นหลักที่ทรัมป์ยกขึ้นมาอ้างในการขู่ขึ้นภาษีรอบนี้ก็คือ ความพยายามโค่นดอลลาร์สหรัฐ (De-dollarization) โดยทรัมป์ระบุสั้นๆ ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียส่วนตัวว่า สหรัฐจะขึ้นภาษีศุลกากร 100% กับกลุ่มประเทศบริกส์ หากดำเนินการที่ถือเป็นการบ่อนทำลายค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ พร้อมย้ำว่าไม่มีทางที่กลุ่มบริกส์จะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐในการค้าโลก และประเทศใดก็ตามที่พยายามทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ “ควรโบกมือลาจากสหรัฐ”

“เราต้องการคำมั่นสัญญาจากประเทศเหล่านี้ว่า พวกเขาจะไม่สร้างสกุลเงินบริกส์ใหม่ หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นใดเพื่อทดแทนดอลลาร์สหรัฐ มิฉะนั้น พวกเขาจะต้องเผชิญภาษีศุลกากร 100% และเตรียมโบกมือลาการขายของให้กับประเทศเศรษฐกิจที่ยอดเยี่ยมอย่างสหรัฐได้เลย” ทรัมป์ระบุในทรูธ โซเชียล

สิ่งที่ต้องตั้งคำถามตามมาก็คือ เรื่องนี้จะเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน ทั้งคำขู่ของทรัมป์ที่จะขึ้นภาษี 100% และข้ออ้างเรื่องความพยายามล้มล้างดอลลาร์ของกลุ่มบริกส์

กระบวนการ De-dollarization ของบริกส์นั้นไม่ได้เพิ่งจะมีขึ้นในปีนี้ แต่มีการคุยกัน และเริ่มดำเนินการกันมาหลายปีแล้ว ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทฤษฎีสมคบคิด เพียงแต่ความเป็นไปได้ของการ De-dollarization ต่างหากที่ถูกสำนักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองตรงกันว่ายังห่างไกลจากการทำได้จริง โดยเฉพาะหากจะไปถึงขั้นบ่อนทำลายดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินหลักของโลก

แผนล้มดอลลาร์ของ BRICS แม้ยังห่างความจริง แต่ทรัมป์ต้องกันไว้ก่อน

กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ BRICS ที่นำโดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และเพิ่งขยายสมาชิกเพิ่มอีก 4 ประเทศคือ อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอธิโอเปีย และอียิปต์ ได้มีการหารือกันเรื่องการปลีกตัวออกจากค่าเงินดอลลาร์ในการประชุมสุดยอดผู้นำเมื่อปี 2566 หลังจากที่ปฏิกิริยาต่อต้านการครอบงำของดอลลาร์เริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ปี 2565 เมื่อสหรัฐเป็นผู้นำในการพยายามคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย เพื่อตอบโต้เรื่องการทำสงครามบุกยูเครน

ความพยายามในการลดใช้สกุลเงินดอลลาร์ของบริกส์มีหลายวิธี ตั้งแต่วิธีการที่เป็นรูปธรรม และทำไปแล้ว เช่น การชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศสมาชิก ไปจนถึงการเสนอให้ตั้งระบบสื่อสารชำระเงินวิธีใหม่มาแทนที่ระบบ SWIFT ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ การเสนอให้ใช้ “ทองคำ” เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นเพื่อลดสัดส่วนดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองฯ และข้อเสนอที่ทะเยอทะยานมากที่สุดอย่างการตั้ง "สกุลเงินบริกส์" ขึ้นมาเอง

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการประชุมซัมมิทครั้งล่าสุด ของบริกส์ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย เมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้บอกเองว่าประเทศสมาชิกบริกส์ “ไม่มี และไม่ได้คิด” ที่จะทำระบบการชำระเงินใหม่ขึ้นมาท้าทาย SWIFT

ส่วนแนวคิดเรื่องสกุลเงินบริกส์นั้นก็ถูกนักวิชาการหลายฝ่ายตีตกว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากความแตกต่างกันมากเกินไปของเศรษฐกิจประเทศสมาชิก เช่น เศรษฐกิจจีนแม้จะเป็นกึ่งตลาดเสรีแต่ก็ยังคงอยู่ใต้พรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนอีกบางประเทศ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ก็มีนโยบายตรึงค่าเงินที่ผูกค่าเงินตัวเองกับดอลลาร์สหรัฐ

ยังไม่นับรวม "ปัจจัยทางการเมือง" ที่สมาชิกอีกหลายประเทศ เช่น อินเดีย ไม่ได้อยากเป็นศัตรูกับสหรัฐหรือโลกตะวันตกไปด้วย หนึ่งในประเทศก่อตั้งกลุ่มบริกส์อย่างอินเดีย ซึ่งเล่นหลายหน้าในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ตั้งแต่บริกส์ไปจนถึงประเทศภาคี Quad จึงไม่มีทางสนับสนุนวิธีการสุดขั้ว แม้ว่าในทางปฏิบัติจริงจะมีการทำธุรกรรมซื้อขายกับประเทศสมาชิกโดยใช้สกุลเงินท้องถิ่นไปบ้างก็ตาม เช่น การซื้อน้ำมันกับรัสเซีย

ผลการวิจัยล่าสุดของศูนย์ภูมิเศรษฐกิจ สภาแอตแลนติก ระบุว่า ดอลลาร์ยังคงครองแชมป์ในรูปของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ การออกใบแจ้งหนี้ทางการค้า และธุรกรรมสกุลเงินทั่วโลก และบทบาทของดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองหลักของโลกยังคงมั่นคงในระยะใกล้ และระยะกลาง ที่จริงแล้ว ฐานะของดอลลาร์ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ตามเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจแบบหลายขั้วจะเสริมแนวทางของบริกส์ให้หันไปใช้สกุลเงินต่างประเทศ และทุนสำรองรูปแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้นก็ตาม

แผนล้มดอลลาร์ของ BRICS แม้ยังห่างความจริง แต่ทรัมป์ต้องกันไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าข้อห่วงกังวลของทรัมป์ที่ออกมาขู่ขึ้นภาษีจะไม่มีมูลเสียทีเดียว

หากเปรียบเทียบในเชิงตัวเลขจะพบว่าแม้ดอลลาร์จะยังคงเป็นสกุลเงินเบอร์ 1 ในแง่ทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่สัดส่วนก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 23 ปีที่ผ่านมา จากการติดตามของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยประเทศที่ขึ้นมาแทนที่ไม่ใช่สกุลเงินเบอร์รองๆ ลงมาอย่าง ยูโร ปอนด์ หรือเยน แต่เป็นสกุลเงินที่เล็กกว่า เช่น ดอลลาร์แคนาดา หยวน วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และสกุลเงินในกลุ่มประเทศนอร์ดิก

จากการสำรวจสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการของไอเอ็มเอฟ หรือ COFER ในไตรมาส 1/2567 พบว่า สัดส่วนของดอลลาร์ในทุนสำรองทั่วโลกอยู่ที่ 54.8% หรือประมาณ 6.77 ล้านล้านดอลลาร์ จากทุนสำรองทั้งหมด 12.35 ล้านล้านดอลลาร์ ทั่วโลกที่มีการรายงานต่อไอเอ็มเอฟ แม้จะยังครองความเป็นผู้นำ แต่ก็ถือว่าลดลงมากจากที่เคยอยู่ในระดับ 71% เมื่อปี 2544 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธนาคารกลางทั่วโลกพยายามกระจายความเสี่ยงออกจากดอลลาร์ การพัฒนาของตลาดการเงิน และโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินในหลายประเทศ

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ซับไพรม์ในสหรัฐปี 2551 ธนาคารกลางทั่วโลกก็ยิ่งลดการกระจุกของทุนสำรองในรูปดอลลาร์ และกระจายไปยัง “ทองคำ” มากขึ้น ซึ่งแรงซื้ออย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางนับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันราคาทองคำให้ขึ้นไปถึง 138% ในช่วง 16 ปีมานี้ เฉพาะปี 2565 และ 2566 ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำเพิ่มมากกว่า 1 พันตันต่อปี หรือเป็นการซื้อต่อปีที่เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงสิบปีก่อน นำโดยแบงก์ชาติในจีน รัสเซีย และประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ตุรกี อินเดีย คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และไทย

ทรัมป์เคยให้คำมั่นระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี 2567 ว่า จะทำให้ประเทศต่างๆ ต้องชดใช้หากคิดจะตีตัวออกห่างเลิกใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ และขู่ว่าจะใช้มาตรการภาษีศุลกากรเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศเหล่านั้นจะปฏิบัติตาม 

บลูมเบิร์ก เคยรายงานตั้งแต่เดือนเม.ย. ที่ผ่านมาว่า ทรัมป์ และทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของเขาได้หารือกันถึงวิธีลงโทษพันธมิตร และศัตรูที่ต้องการมีส่วนร่วมในการค้าทวิภาคีด้วยสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ มาตรการลงโทษดังกล่าวรวมถึงการพิจารณาทางเลือกต่างๆ เช่น การควบคุมการส่งออก การขึ้นบัญชีดำเป็นประเทศปั่นค่าเงิน และการขึ้นภาษีศุลกากร

แม้การโค่นดอลลาร์จะยังดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่การค่อยๆ ลดอิทธิพลของดอลลาร์ทีละน้อยก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจหากสหรัฐในยุคขวาจัดอย่างทรัมป์จะตั้งการ์ดสูง และส่งสัญญาณเตือนดังๆ เช่นการขู่ขึ้นภาษี 100% ในครั้งนี้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์