วิกฤตการณ์การเมือง 'เกาหลีใต้' ซ้ำเติมเศรษฐกิจ ฉุดตลาดหุ้นยิ่งอ่อนแอ

วิกฤตการณ์การเมือง 'เกาหลีใต้'  ซ้ำเติมเศรษฐกิจ ฉุดตลาดหุ้นยิ่งอ่อนแอ

“ตลาดเงินตลาดทุนเกาหลีใต้” เผชิญแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่เพราะ “การเมือง” อีกครั้งในสัปดาห์ที่แล้ว จากกรณีประธานาธิบดี “ยุน ซ็อกยอล” ประกาศกฎอัยการศึกช็อกโลกเมื่อคืนวันที่ 3 ธ.ค.

แม้ว่า “ยุน ซ็อกยอล” จะเจอแรงต่อต้านหนักจนต้องยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกตามมาภายใน 6 ชั่วโมง แต่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในเกาหลีใต้ก็ยังไม่ได้จบลงตามไปด้วย ฝ่ายค้านยื่นญัตติขออภิปรายถอดถอนยุนออกจากตำแหน่ง (อิมพีชเมนท์) ในวันเสาร์ คณะรัฐมนตรีจ่อลาออกยกชุด ขณะที่ตำรวจเกาหลีใต้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนประธานาธิบดีในความเป็นไปได้ที่อาจต้องหาเป็นกบฏ

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า ทั้งหมดนี้จะยิ่งซ้ำเติมให้ตลาดหุ้นและค่าเงินวอนยิ่งอ่อนแออลงอีก ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะก่อให้เกิด “ผลกระทบลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจโดยรวม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อเล็กซ์ ลู นักกลยุทธ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนและมหภาคจากบริษัทหลักทรัพย์ทีดี ซีเคียวริตี้ส์ เตือนว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อกำลังกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ในเกาหลีใต้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นและพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้เผชิญแรงกดดันอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา มีเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความต้องการพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีในปี 2567 ยังลดลงจากปีก่อนๆ อีกด้วย

ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เผชิญแรงเทขายกดดันอย่างหนัก ดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (Kospi) ปิดลบมา 3 วันทำการติดต่อกันหลังเกิดเหตุเมื่อคืนวันอังคาร โดยร่วงลงต่อเนื่องถึงกว่า 4% ในการซื้อขายเมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 6 ธ.ค. ต่ำกว่าระดับ 2,400 จุด นอกจากนี้ ดัชนีคอสแดค (KOSDAQ) ซึ่งเป็นดัชนีที่เน้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ร่วงลงหนักที่สุดถึง 6.7%

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า นักลงทุนต่างชาติได้เทขายหุ้นสุทธิในประเทศเกาหลีใต้สูงถึง 727,100 ล้านวอน หรือประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ในช่วงวันที่ 4 และ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่านักลงทุนรายย่อยในประเทศจะพยายามเข้ามาซื้อหุ้นสุทธิถึง 505,700 ล้านวอน หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทเพื่อพยุงตลาดก็ตาม

การเทขายของนักลงทุนต่างชาติครั้งนี้สร้างความกังวลให้กับตลาดหุ้นเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในประเทศอยู่ประมาณ 30% พร้อมกับ “โนมูระ” สถาบันการเงินชั้นนำ ได้ปรับลดระดับความน่าสนใจของตลาดหุ้นเกาหลีใต้สำหรับปี 2568 ลงมาอยู่ที่ระดับ “เป็นกลาง” จากเดิมที่แนะนำให้ซื้อ

ในขณะที่ “ค่าเงินวอน” ซึ่งเจอแรงช็อกจนอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี โดยอ่อนค่าลงมากถึง 2.7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์เมื่อคืนวันที่ 3 ธ.ค. เริ่มทยอยแข็งค่าขึ้นมาได้เรื่อยๆ โดยซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 1,416.50 วอนต่อดอลลาร์ เมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ แต่สถานการณ์ค่าเงินของเกาหลีใต้ก็ยังคงแขวนอยู่บนการเมืองด้วย ซึ่งพร้อมที่จะร่วงอีกหากความวุ่นวายทางการเมืองยังไม่จบง่ายๆ

ทีดี ซีเคียวริตี้ส์กล่าวว่า การกระทำของประธานาธิบดียุนอาจทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง ซึ่งอาจทำให้เงินวอนของเกาหลีใต้อ่อนค่าลงอีก โดยเงินวอนของเกาหลีใต้ถือเป็นสกุลเงินเอเชียที่มีผลงานแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปีนี้ และหากโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้า ค่าเงินวอนอาจอ่อนค่าลงจนแตะระดับ 1,445 วอนต่อดอลลาร์ ภายในไตรมาส 2 ของปีหน้า แม้ว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้จะพยายามเข้ามาแทรกแซงเพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินผันผวนอย่างรวดเร็วก็ตาม

โกลด์แมน แซคส์ได้วิเคราะห์แนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นภายใต้บริบทการเมืองที่ไม่แน่นอน โดยระบุว่าการเคลื่อนไหวของหุ้นในประเทศขึ้นอยู่กับสถานการณ์มหภาคและนโยบายภายในประเทศ ขณะที่ประธานาธิบดียุน ซ็อกยอลกำลังเผชิญกับความเป็นไปได้ที่จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ไม่ใช่ความเสี่ยงจากการเมืองครั้งแรก

หากย้อนรอยประวัติศาสตร์ทางการเมืองของเกาหลีใต้ที่ผ่านมา ที่มีกรณีการถอดถอนประธานาธิบดี 2 คนก่อนหน้า ได้แก่ พัค กึนฮเย (Park Geun-hye) ในปี 2559 และโนห์ มูฮยอน (Roh Moo-hyun) ในปี 2547 นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ชี้ให้เห็นว่าในทั้งสองกรณี ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูงก่อนการลงมติถอดถอน แต่หลังจากนั้นก็สามารถฟื้นตัวได้

หลังจากการลงมติถอดถอนประธานาธิบดีในอดีต ตลาดหุ้นเกาหลีใต้แสดงปฏิกิริยาที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กรณีของประธานาธิบดีพัค เห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นถึง 20% ในช่วงหกเดือนถัดมา ในขณะที่กรณีของประธานาธิบดีโนห์ ดัชนี KOSPI กลับร่วงลงมากกว่า 20% หลังการฟื้นตัวระยะแรก

โกลด์แมน แซคส์ได้ออกรายงานวิเคราะห์ที่ค่อนข้างระมัดระวัง โดยระบุว่าเกาหลีใต้กำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจมหภาคอย่างมาก ตลาดเกาหลีใต้ถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าตลาดอื่นในภูมิภาค เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของภาษีศุลกากร ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ แม้การประเมินมูลค่าจะลดลงสู่ระดับต่ำ และจะต้องอยู่ในระดับนี้ต่อไปจนกว่าจะมีปัจจัยกระตุ้นที่ชัดเจน

ภาวะเหล่านี้ยิ่งซ้ำเติมทิศทางเศรษฐกิจให้ยากขึ้นอีก หลังจากในสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางเกาหลีใต้เพิ่งเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 3 ว่าขยายตัวได้เพียง 0.1% เท่านั้นเมื่อเทียบรายไตรมาส เนื่องจากเศรษฐกิจถูกกระทบจากการชะลอตัวลงของอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออก แม้ตัวเลขนี้จะดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบไตรมาส 2 ที่หดตัวไป 0.2% รายไตรมาส แต่ก็สะท้อนถึงสถานการณ์ที่ยากลำบากของเกาหลีใต้เป็นทุนเดิมอยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่มีเรื่องวุนวายทางการเมืองเข้ามาซ้ำเติมในวันนี้