เศรษฐกิจจีนปลายปียังอ่วมหนัก ค้าปลีกโตต่ำกว่าคาด สะท้อนแรงซื้อวูบ
ตัวเลขค้าปลีกจีนเดือนพ.ย. โตต่ำกว่าคาดการณ์ สะท้อนแรงกดดัน 'เงินฝืด' ผ่านการใช้จ่ายของประชาชน ทุกฝ่ายตั้งความหวังไว้ที่ 'ปีหน้า' หลังรัฐบาลส่งสัญญาณเตรียมกระตุ้นการบริโภคภายใน
ซีเอ็นบีซีรายงานอ้างสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนว่า ตัวเลขค้าปลีกจีนในเดือนพ.ย. ขยายตัวได้เพียง 4.6% เมื่อเทียบเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งกว่าที่โพลล์นักวิเคราะห์ของรอยเตอร์สคาดการณ์ไว้ที่ 4.8% สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ "กำลังซื้อในจีนที่ยังคงฝืดเคือง"
ตัวเลขดังกล่าวยังโตต่ำกว่าเมื่อเทียบรายเดือนจากที่ขยายตัวได้ 4.8% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเดือนต.ค. เป็นช่วงเทศกาลวันคนโสด 11.11 ซึ่งเป็นเทศกาลช้อปปิ้งใหญ่ประจำปีของจีน และปีนี้ยังจัดแคมเปญเร็วขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1 สัปดาห์อีกด้วย
ด้านตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ขยายตัวขึ้น 5.4% เมื่อเทียบปีก่อน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.3% เล็กน้อย และเติบโตเท่ากับในเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกต้องเผชิญกับแรงกดดันจากหลายปัจจัยในปีนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากภาวะชะงักงันของภาคอสังหาริมทรัพย์ ความเสี่ยงด้านหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น และการว่างงานที่สูง
รัฐบาลเตรียมกระตุ้นใหญ่ปีหน้า
ในการประชุม Central Economic Work Conference เมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งนำโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และคณะผู้บริหารระดับสูงด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมได้ส่งสัญญาณถึงความเร่งด่วนมากขึ้นในการ "เข้าพยุงเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่" และเปลี่ยนโฟกัสนโยบายเศรษฐกิจไปที่ "การกระตุ้นการบริโภค" ในขณะที่ปักกิ่งกำลังเตรียมรับมือกับความตึงเครียดด้านการค้ากับสหรัฐที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นในปีหน้า เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเต็มตัว
บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนให้คำมั่นว่าจะใช้ "เครื่องมือการคลังเชิงรุก" และ "นโยบายการเงินผ่อนปรนในระดับปานกลาง" ในปีหน้า รวมถึงจะ "เพิ่มการบริโภคภายในประเทศ" และกระตุ้นอุปสงค์ในทุกด้านอย่างเต็มที่ ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว
สัญญาณนี้ยังนับครั้งแรกที่รัฐบาลปักกิ่งยอมรับว่า "นโยบายการเงินของจีนควรจะผ่อนปรนลงมา" นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ (วิกฤติซับไพรม์) ในปี 2551
ตั้งแต่ปลายเดือนก.ย. เป็นต้นมา ทางการจีนได้เร่งประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและผ่อนปรนเกณฑ์การซื้ออสังหาริมทรัพย์ ส่วนในด้านการคลัง กระทรวงการคลังได้เปิดเผยแผน 5 ปีมูลค่า 10 ล้านล้านหยวน (ราว 47 ล้านล้านบาท) ในเดือนพ.ย. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดจากจีนในเดือนพ.ย. ยังคงตอกย้ำให้เห็นถึงแรงกดดันด้าน "ภาวะเงินฝืด" ที่ยังคงฝังอยู่ในเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยลง
อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนในเดือนพ.ย. โดยอัตราเงินเฟ้อขยายตัวเพียง 0.2% เมื่อเทียบปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนยัลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 26 ติดต่อกัน
การนำเข้าของจีนลดลง 3.9% ท่ามกลางความต้องการของผู้บริโภคที่ซบเซา ซึ่งถือเป็นการลดลงที่หนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2023 ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดไว้ที่ 6.7%
นอกเหนือจากโครงการแลกซื้อเพื่อกระตุ้นยอดขายรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านแล้ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ประกาศออกมาจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การบริโภคโดยตรง ในขณะที่ผลการประชุมทีมเศรษฐกิจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ให้เพียงภาพรวมของนโยบายและทิศทางสำหรับปีหน้าเท่านั้น แต่รายละเอียดต่างๆ จะมีการเปิดเผยในที่ประชุมประจำปีสภาประชาชนจีน ในเดือนมี.ค.