ที่ปรึกษาคนใหม่ (ที่ไม่ใหม่) ของประธานอาเซียน | กันต์ เอี่ยมอินทรา
จับตาที่ปรึกษาคนใหม่ (ที่ไม่ใหม่) ของประธานอาเซียน หลังนายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย เสนอตั้ง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ไทย เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวตำแหน่งประธานอาเซียน
มาเลเซียกำลังจะก้าวขึ้นสู่วาระประธานอาเซียนในปีหน้า และก็เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควรเมื่อนายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย เสนอตั้ง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ไทย เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวตำแหน่งประธานอาเซียน
ที่จริงแล้ว วาระการพบกันของนายกฯ ไทย แพทองธาร ชินวัตร กับมาเลเซียเมื่อสัปดาห์ก่อนมีประเด็นที่สำคัญมากมายที่สมควรกล่าวถึง อาทิ การมุ่งมั่นตั้งเป้าการค้าระหว่างกันให้ถึง 1 ล้านล้านบาท ทั้งเรื่องของความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ เรื่องของการท่องเที่ยว แต่ประเด็นทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่อยู่ในโฟกัสเท่ากับการตั้งที่ปรึกษาชื่อทักษิณ
จริงๆ แล้ว นายกฯ อันวาร์ค่อนข้างคุ้นเคยกับอดีตนายกฯ ทักษิณ เพราะต่างก็อยู่ในแวดวงการเมืองมานาน อันวาร์เคยเป็นทายาททางการเมืองและเบอร์สองสมัยนายกฯ มหาเธร์ โมฮัมหมัด ครองอำนาจ แต่ด้วยมรสุมทางการเมืองทำให้ต้องหลุดวงโคจรออกไป และมาเลเซียก็มีนายกฯ และการเมืองที่ค่อนข้างกระท่อนกระแท่นตั้งแต่นั้นมา
มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพยายามเป็นพี่ใหญ่ในหลายๆ เวทีระดับโลก ทั้งในกลุ่มเอเซียนเองหรือกลุ่มประเทศนับถือศาสนาอิสลาม ขนาดเศรษฐกิจของมาเลเซียที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน (รองจากอินโดนีเซียและไทย) โดยถึงแม้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการเมืองจะไม่ค่อยเหมือนทศวรรษก่อนๆ แต่หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ไทย เป็นต้น สามารถพูดได้ว่ามาเลเซียนั้นมีความมั่นคงมากกว่า
มาเลเซียจะรับหน้าที่ประเทศประธานอาเซียนต่อจากลาว และในขณะนี้ 2 ประเด็นสำคัญที่อาเซียนถูกจับตามองแกมกดดัน คือ 1. สมดุลอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐ และ 2. ปัญหาในเมียนมา ดังนั้นการขึ้นมาเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซีย จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง และนักวิชาการก็คาดตรงกันว่า น่าจะได้เห็นแอกชันของมาเลเซียในฐานะประธานมากกว่าลาว
“จีน” ถือเป็นมหามิตรของหลายประเทศในแถบอาเซียน โดยเฉพาะลาวและกัมพูชา ที่ขณะนี้พึ่งพิงเม็ดเงินในการลงทุนพัฒนาประเทศจากจีนอย่างมาก มีโครงการต่างๆ มากมาย อาทิ เขื่อน ท่าเรือ เขตเศรษฐกิจที่มอบให้จีนจัดการดูแล จีนมีความพยายามในการเชื่อมภูมิภาคอาเซียนเข้ากับจีนผ่านโครงการเข็มขัดเศรษฐกิจ (Belt and Road Initiative) ซึ่งขณะนี้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงได้เข้าผ่านลาวสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
มาเลเซียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความใกล้ชิดกับจีนอย่างมาก จีนลงทุนมากมายในมาเลเซีย และความสัมพันธ์ก็ลึกซึ้งไม่ใช่เพียงระดับนักธุรกิจหรือนักการเมือง แต่ยังรวมถึงกลุ่มอิลีทของมาเลเซียที่มีที่ดินมาก อาทิ กษัตริย์องค์ปัจจุบันของมาเลเซีย ที่ก่อนขึ้นครองราชย์นั้นเป็นสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์ ที่มีการลงทุนอย่างหนาแน่นจากจีน และพระองค์เองก็มีสไตล์เป็นกษัตริย์นักพัฒนา(อสังหาฯ และเศรษฐกิจ) ที่เอาใจใส่และลงมือทำด้วยตนเองเพื่อความเจริญก้าวหน้าของรัฐยะโฮร์
ไทยเราก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน และดีมากเป็นพิเศษในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แต่เราก็ยังไม่เลือกข้างอย่างออกนอกหน้า เรายังให้ความสำคัญกับสมดุลอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐ ขณะที่ในบางประเทศของอาเซียนก็มีข้อพิพาทกับจีน โดยเฉพาะเรื่องเขตแดน อาทิ เวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งก็มีความใกล้ชิดกับสหรัฐอย่างมาก ขณะที่เมียนมาซึ่งในขณะนี้เกิดสงครามกลางเมือง ก็พึ่งพิงจีนอย่างมาก และความสงบในเมียนมาก็แปรผันตรงกับจีน ขณะที่จีนเองก็มีผลประโยชน์ทั้งบนดินและใต้ดินในพม่าไม่น้อย
ดังนั้นการขึ้นมาเป็นประธานอาเซียนในปีหน้าของมาเลเซีย ภายใต้บริบทโลกที่จีนกำลังแผ่อำนาจ และการเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งของประธานาธิบดีทรัมป์ กับสมดุลอำนาจในอาเซียนและประเด็นความไม่สงบในเมียนมา จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง