อิสราเอลจับมือไทยพัฒนาน้ำอย่างยั่งยืน

อิสราเอลจับมือไทยพัฒนาน้ำอย่างยั่งยืน

ในรายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ในปี 2568 ประชากรโลกเกือบครึ่งหนึ่งต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำ เพราะจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ภาวะโลกร้อน ประกอบกับแหล่งน้ำดื่มลดน้อยลง

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ และมองว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับสถานการณ์ที่หลากหลาย อันจะส่งผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ การเกษตร เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระดับนานาชาติ และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการค้นหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาน้ำอย่างยั่งยืน

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย จัดงานเสวนาหัวข้อ “นวัตกรรมและการจัดการน้ำ ทางออกอันชาญฉลาดระดับโลก" ซึ่งได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งไทยและอิสราเอลเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ในด้านการบริหารจัดน้ำให้ทุกหยดมีคุณค่า เพื่อรับความท้าทาย และวิธีการแก้ปัญหา หวังให้เกิดประโยชน์นำไปสู่จัดสรรน้ำสำหรับเกษตรกร การสิ้นเปลืองน้ำ การจัดการน้ำเสียในอุตสาหกรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต

เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "น้ำจะไม่ใช่ปัญหาของเราอีกต่อไป ที่ผ่านมา คนอิสราเอลได้ตระหนักถึงภาวะการขาดแคลนน้ำของประเทศ จึงเป็นที่มาของการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับน้ำที่ล้ำสมัยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบชลประทานน้ำหยด กระบวนการแยกเกลือออกจากน้ำ และการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช่ใหม่"

"เราเก่งในเรื่องที่เราไม่มี และน้ำคือสิ่งที่เราขาดแคลน นี่เป็นแนวคิดหลัก และเป็นสิ่งที่อิสราเอลให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำ นับตั้งแต่การสถาปนาประเทศ น้ำถือเป็นวาระสำคัญระดับชาติ ทำให้ในปัจจุบัน อิสราเอลได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำของโลก" เอกอัครราชทูตอิสราเอล กล่าว

ด้าน ดะกัน อโลนี หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการค้า สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยและอิสราเอล มีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจอันดีมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอิสราเอลต้องการแบ่งบันประสบการณ์เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้กับการบริหารจัดการน้ำ จึงได้จัดแสดงงานเทคโนโลยีเกี่ยวกับน้ำในทุกมิติ ที่กรุงเทลอาวีฟ ระหว่างวันที่ 18 - 21 พ.ย. 2562 นี่จะเป็นโอกาสให้ไทย และประเทศพันธมิตรอาเซียน ได้ใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้นี้ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกัน

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวถึงประสบการณ์ในการรับมือต่อสถานการณ์ปัญหาน้ำของประเทศว่า ประเทศไทยติดอันดับหนึ่งใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกมากที่สุด

สมเกียรติ เล่าว่า ในปี 2560 ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง แต่หนึ่งปีให้หลังจากนั้น ได้เกิดฝนตกมาเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดน้ำท่วม กระทั่งในปีนี้ ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาสถานการณ์น้ำแล้งและน้ำหลากในเวลาเดียวกัน จึงทำให้หน่วยงานไทยต้องการข้อมูลเพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับน้ำอย่างมาก เพื่อรับมือและเตรียมพร้อมกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ส่วน แดนนี แล็คเคอร์ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงและเหตุฉุกเฉิน สำนักงานน้ำแห่งชาติอิสราเอล กล่าวถึงแนวทางการบรรเทาสถานการณ์การขาดแคลยน้ำในอิสราเอลว่า อิสราเอลเริ่มจากการรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมกับสอนวิธีการประหยัดน้ำให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน ซึ่งสามารถลดปริมาณการใช้น้ำในประเทศได้ถึงร้อยละ 30 ภายในเวลาเพียง 3 เดือน

ขณะที่ ไมเคิล รัทแมน รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัทวอเตอร์เจนเมเอียร์ ชโลโม ได้นำเสนอวิธีการทำงานของ “วอเตอร์เจน” ซึ่งเป็นเครื่องผลิตน้ำจากความชื้นในอากาศเครื่องแรกของโลก โดย รัทแมน ได้อธิบายว่า เครื่องดังกล่าวจะเป็นแหล่งผลิตน้ำดื่มแหล่งใหม่ ซึ่งภายในประกอบด้วยเครื่องกรองหลายชั้น เริ่มต้นจากการกรองอากาศ และสิ้นสุดที่สถานีเติมแร่ธาตุ วอเตอร์เจนจึงเป็นเครื่องผลิตน้ำจากอากาศเพื่อโลกที่น่าอยู่ขึ้น ในปัจจุบัน ผู้คนใน 45 ประเทศทั่วโลกดื่มน้ำจากวอเตอร์เจน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อินเดีย

อย่างไรก็ตาม ภายในงานดังกล่าว ได้มีนำเสนอองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำของอิสราเอลที่มีต่อเนื่องและยาวนานกว่า 70 ปี พร้อมทั้งยังมีการจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ล่าสุด เกี่ยวกับการใช้น้ำ และการรักษาทรัพยากรน้ำของอิสราเอล ก็เพื่อเป็นการจุดประกายความคิด และความร่วมมือด้านน้ำระหว่างไทยและอิสราเอลต่อไป