ประเมินทิศทางอาเซียน ปี 2563
ปี 2563 ต้องจับตามองว่าเวียดนามจะนำพาอาเซียนไปในทิศทางใด ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์การเมือง-เศรษฐกิจโลก หลังจากรับไม้ต่อประธานอาเซียนต่อจากไทย
ปี 2563 ถึงวาระที่เวียดนามรับไม้ต่อประธานอาเซียนจากไทย การหวนคืนสู่ตำแหน่งครั้งนี้ตรงกับการครบรอบ 25 ปีที่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาบทบาทของเวียดนามมีพัฒนาการที่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนตั้งแต่ปี 2538 หลังการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่เปิดเสรีทางการค้าและปฏิรูปการบริหารภายในประเทศ กระทั่งสามารถยกระดับ GDP จาก 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2528 เป็น 244,948 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 และก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้อย่างรวดเร็วภายในสามทศวรรษ
ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนาม ยังปรับทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศ หันมาเน้นการบูรณาการความร่วมมือกับนานาประเทศมากขึ้น การสร้างบทบาทนำในอาเซียน เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของนโยบายต่างประเทศเวียดนาม เนื่องจากอาเซียนเป็นเสมือนสะพานเชื่อมเวียดนามกับนานาประเทศ ทั้งในแง่ของการค้า การลงทุน และยังเป็นเกราะกำบังด้านความมั่นคงให้กับเวียดนาม
"เวียดนามปรับทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศ หันมาเน้นการบูรณาการความร่วมมือกับนานาประเทศมากขึ้น เนื่องจากอาเซียนเป็นเสมือนสะพานเชื่อมเวียดนามกับนานาประเทศ"
ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ เวียดนามประกาศแนวคิดหลัก (Theme) คือ "Cohesive and Responsive" มุ่งกระชับความร่วมมือในภูมิภาค และยกระดับความสามารถในการปรับตัวของอาเซียนให้เท่าทันต่อสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลก
โดยเวียดนามให้ความสำคัญใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค 2.ส่งเสริมความเชื่อมโยง Connectivity) ระหว่างกันในภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถและการปรับตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 3.ส่งเสริมการสร้างความตระหนักถึงอัตลักษณ์อาเซียน 4.ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาคเพื่อสร้างสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 5.เพิ่มประสิทธิภาพกลไกการทำงานของอาเซียน
อย่างไรก็ตาม บทบาทของเวียดนามในการเป็นประธานอาเซียน ปี 2563 นี้มีข้อท้าทายสำคัญที่ต้องจับตามอง ดังนี้
สานต่อการลงนาม RCEP หลังจากที่ประชุมอาเซียนกับ 6 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในปี 2562 ที่ผ่านมาไม่สามารถผลักดันให้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ได้สำเร็จ เพราะอินเดียยังไม่พร้อมลงนามสืบเนื่องจากปัญหาการเมืองภายใน ที่ยังมีข้อกังวลว่าสินค้าจากจีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์จะเข้ามาตีตลาดในประเทศได้ ซึ่งอาเซียนตั้งเป้าว่าหากการเจรจา RCEP สำเร็จจะสามารถสร้างเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง (Centrality) ได้ แต่หากขาดอินเดีย ซึ่งถือครองสัดส่วน GDP โลกถึง 7.98% ย่อมกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของ RCEP อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลังอินเดียประกาศไม่พร้อมลงนาม RECP จึงเกิดข้อกังวลจากนานาประเทศว่า RCEP จะถูกชี้นำโดยจีน ซึ่งญี่ปุ่นเริ่มแสดงท่าทีว่า RCEP จำเป็นต้องมีอินเดียร่วมด้วย ดังที่นายฮิเดกิ มากิฮาระ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจฯ ระบุว่า "จากมุมมองของญี่ปุ่น การเจรจา RCEP คือกรอบความร่วมมือที่ต้องมีอินเดียร่วมด้วย ดังนั้น ญี่ปุ่นจะพยายามโน้มน้าวให้อินเดียกลับมาร่วมลงนาม" ข้อกังวลที่ตามมาคือหากอินเดียไม่ร่วมลงนามในปีนี้จะกระทบต่อการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่าเวียดนามมีความพยายามที่จะโน้มน้าวให้อินเดียลงนาม RCEP ให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อพิสูจน์ความเป็นผู้นำอาเซียน
การรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน ท่ามกลางสงครามการค้า จีน-สหรัฐ เป็นที่ทราบกันดีว่าเวียดนามมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีท่าทีต่อมหาอำนาจทั้งสองประเทศที่แตกต่างกันออกไป จึงเป็นข้อท้าทายต่อบทบาทของเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน ว่าจะสามารถรักษาความเป็นกลาง (Neutrality) และความเป็นแกนกลาง (Centrality) ของอาเซียนไปในทิศทางใด ทั้งในกรณีสงครามการค้า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ตลอดจนการแก้ปัญหาข้อพิพาทเหนือทะเลจีนใต้ซึ่งเวียดนามเป็นผู้อ้างกรรมสิทธิ์ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้ามพรมแดนที่คอยท้าทายอาเซียนอีกนานัปการ เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผู้อพยพข้ามพรมแดน ฯลฯ ปี 2563 นี้จึงต้องจับตามองว่าเวียดนามจะนำพาอาเซียนไปในทิศทางใด ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลก