เปิดแผนบริษัทชั้นนำโลก รับมือ 'โควิด-19' ระบาด
จับกระแสบริษัทชั้นนำระดับโลกที่เริ่มได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ก็เริ่มใช้มาตรการต่างๆ รับมือกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (COVID-19) อย่างไรบ้าง?
ขณะนี้หลายประเทศจับตามองสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอของโรคโควิด-19อย่างใกล้ชิดเพื่อดูว่าจะลุกลามกลายเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) หรือไม่ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น บริษัทชั้นนำระดับโลกหลายแห่งที่เริ่มได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ก็เริ่มใช้มาตรการต่างๆ รับมือกับผลกระทบที่ได้รับแล้ว
เริ่มจาก บริษัทชั้นนำของสิงคโปร์อย่าง เทมาเส็ก โฮลดิง ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ รับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ด้วยการระงับการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน พร้อมเรียกร้องให้ผู้บริหารระดับสูงยอมลดเงินเดือนตัวเอง และลดโบนัสด้วยความสมัครใจ ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่กล่าวมานี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนเม.ย.ที่จะถึง
การทำแบบนี้ของเทมาเส็ก มีเป้าหมายเพื่อกันเงินสำรองไว้สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือชุมชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั่นเอง
ต่อมาคือ สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ (เอสไอเอ) ตัดสินใจระงับการรับสมัครงานในตำแหน่งพนักงานภาคพื้นดิน และพนักงานในส่วนอื่นๆ เป็นการชั่วคราว เพื่อลดต้นทุน หลังจากที่สายการบินได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก
โฆษกเอสไอเอ บอกว่า สายการบินระงับการรับสมัครงานในตำแหน่งพนักงานภาคพื้นดินทั้งหมด รวมถึงเรียกร้องให้พนักงานสมัครใจลาหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง และสายการบินจะติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาใช้มาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมในโอกาสต่อไป แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทำการใดๆ ที่กระทบกับสายการบินในระยะยาว
“โก๊ะ ชุน ฟง” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เอสไอเอ บอกว่า สายการบินได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากยกเลิกเที่ยวบินกว่า 3 พันเที่ยวบินในช่วงเดือน ก.พ. ถึงเดือน พ.ค. ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7.1% ของเที่ยวบินทั้งหมด
ส่วนบริษัทญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง ใช้มาตรการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ขณะที่บริษัทหลายแห่งเน้นสร้างความสะอาดแก่สำนักงานในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึง บริษัท นิปปอน เทเลกราฟ แอนด์ เทเลโฟน (เอ็นทีที) ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของญี่ปุ่น ที่แจ้งพนักงานให้หลีกเลี่ยงเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วน หรือให้ทำงานจากที่บ้าน และให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันพนักงานไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังระบาดหนักในประเทศ
การรับมือของเอ็นทีที ครอบคลุมถึงบริษัทเอ็นทีที โดโคโม ผู้ให้บริการมือถือและหน่วยงานระดับท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว บริษัทมีพนักงานทั่วญี่ปุ่นประมาณ 2 แสนคน
ในรายละเอียดของคำประกาศครั้งนี้ เอ็นทีที ขอให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ขอให้บริษัทในเครือทั้งหมดใช้การประชุมทางไกลแทนการประชุมร่วมกันเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งให้พนักงานที่มีอาการป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
นอกจากนี้ ยังมี บริษัท อีสต์ เจแปน เรลเวย์ บริษัทให้บริการรถไฟรายใหญ่ของประเทศ ที่ใช้มาตรการเน้นความสะอาดสถานีรถไฟ ด้วยการใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดราวจับ พร้อมทั้งจัดเจลทำความสะอาดมือประจำสถานีที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก อย่างสถานีโตเกียว และสถานีชิบุยะ
ด้าน เจแปน แอร์ไลน์ ใช้วิธีฉีดพ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อในเที่ยวบินต่างๆ ทุกเที่ยวที่มาจากจีน เช่นเดียวกับ อิออน ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกของญี่ปุ่น ที่ใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดภายในร้านตั้งแต่ประตูเป็นต้นไป
ขณะที่ “คริสโตส นิโคไลเดส” นักฟิสิกส์จากสถาบันแมสซาจูเสตต์ อินสติติว ออฟ เทคโนโลยี(เอ็มไอที) ซึ่งเป็นผู้สร้างแบบจำลองการคำนวณเพื่อดูการแพร่กระจายของโรค ให้ความเห็นเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสว่า เครือข่ายการขนส่งทางอากาศเป็นเส้นทางหลักในการแพร่กระจายโรคไปทั่วโลก เนื่องจากภายในสนามบิน ทุกคนต้องสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ อย่างเช่น ตู้เช็คอิน ราวจับ ที่นั่ง ปุ่มกดน้ำดื่ม หรือแม้กระทั่งโต๊ะอาหาร
และเมื่อขึ้นเครื่องบิน ก็มีที่นั่ง ถาดอาหาร ที่วางแขน ลูกบิดประตูเข้า-ออกห้องน้ำ เมื่อมีผู้คนไอ หรือจาม ละอองน้ำมูกจะกระจายไปในอากาศและตกลงสู่พื้นผิวที่คนอื่นสัมผัส
นักฟิสิกส์จากสถาบันเอ็มไอที บอกว่า หากต้องการชะลอการแพร่ระบาดของโรค ให้เน้นล้างมือ ซึ่งผลวิจัยก่อนหน้านี้ทำให้รู้ว่า ผู้คนราว 70% ล้างมือหลังการใช้ห้องน้ำ และจากตัวเลขดังกล่าวมีเพียง 6% หรือ 7% เท่านั้นที่ล้างมืออย่างถูกวิธี ซึ่งหมายถึงการล้างมือด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 15 วินาที
นิโคไลเดส บอกว่า จากการศึกษาทำให้รู้ว่า
ภายในสนามบินมีเพียง 1 ใน 5 คนเท่านั้นที่มีมือสะอาด ซึ่งหาก 60% ของนักเดินทางทั่วโลกล้างมือให้สะอาด จะช่วยชะลอการก่อตัวของโรคต่าง ๆ ทั่วโลกได้ 69% หรือถ้ามีนักเดินทางแค่ 30% ล้างมือจนสะอาด การแพร่กระจายของโรคก็จะลดลงได้ถึง 24%
นักฟิสิกส์จากเอ็มไออี ระบุด้วยว่า สนามบินที่ถือเป็น super-spreader airports คือสนามบินที่มีการจราจรและผู้คนคับคั่ง และสนามบินที่เชื่อมต่อกับสนามบินอื่น ๆ และเที่ยวบินระหว่างประเทศอื่น ๆ จำนวนมาก เช่นสนามบินจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ในนิวยอร์ก สนามบินนานาชาติลอส แองเจลิส สนามบินฮีธโรว์ ของลอนดอน สนามบินนานาชาติฮ่องกง และสนามบินปักกิ่ง