‘โคเรียนแอร์’ งานลด เงินลด
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ทำให้สายการบินทั่วโลกต้องจอดฝูงบินทิ้งไว้ เมื่อไม่มีการบินก็ต้องลดเงินเดือนพนักงาน เป็นวงจรเหมือนกับหลายๆ ธุรกิจ เช่นเดียวกับ "โคเรียนแอร์" ของเกาหลีใต้
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้สายการบินทั่วโลกต้องจอดฝูงบินของตนเองหลังนานาประเทศไม่รับคนเข้าประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลเที่ยวบินถูกยกเลิกหลายพันเที่ยวรวมถึงต้องลดเส้นทาง หลายๆ บริษัทจึงเผชิญกับสภาพการเงินผันผวน
เมื่อไม่มีการบินก็ต้องลดเงินเดือนพนักงาน เป็นวงจรเหมือนกับหลายๆ ธุรกิจ สายการบินรายล่าสุดที่ต้องลดเงินเดือนคือโคเรียนแอร์ของเกาหลีใต้
"โคเรียนแอร์" บริษัทเรือธงของฮันยินกรุ๊ป เตรียมพักงาน พนักงาน 70% จากพนักงานทั้งหมด 19,000 คน เป็นเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.นี้ “เพื่อรับมือกับบรรยากาศธุรกิจที่กำลังเสื่อมถอย”
โดยปกติแล้วกรณีแบบนี้ในเกาหลีใต้ พนักงานจะได้รับค่าจ้าง 70% จากค่าจ้างเดิม มีรายงานว่า 90% มาจากโครงการช่วยเหลือของรัฐบาลต่อธุรกิจที่เสียหายจากไวรัสโคโรนา
แต่การจะลดเงินเดือนพนักงานไม่ใช่จู่ๆ คิดจะทำได้ ต้องปรึกษาหารือกับสภาพแรงงานก่อน สหภาพแรงงานของเกาหลีใต้ได้ชื่อว่าแข็งแกร่งในการปกป้องผลประโยชน์ลูกจ้าง งานนี้สหภาพฯ โคเรียนแอร์เห็นชอบร่วมโครงการแบ่งปันภาระร่วมกัน เพราะผู้บริหารเองก็ยอมลดเงินเดือนด้วย
ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 25 มี.ค. "เอมิเรตส์" สายการบินของดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ประกาศระงับเที่ยวบินโดยสารทั้งหมด คงไว้แต่เที่ยวบินขนส่งสินค้า ด้วยเหตุผลแบบเดียวกัน ตามด้วยการลดเงินเดือนพนักงาน เอมิเรตส์ประกาศลดเงินเดือนพื้นฐานของพนักงานส่วนใหญ่ลงเป็นเวลา 3 เดือน ในอัตราระหว่าง 25-50% ยกเว้นพนักงานระดับล่าง
ส่วนประธานเอมิเรตส์และประธานสมาคมขนส่งทางอากาศดูไบ ทิม คลาร์ก และแกรี แชปแมน ถูกลดเงินเดือนพื้นฐาน 100% เป็นเวลา 3 เดือน สายการบิน "เอธิฮัด" และ "ฟลายดูไบ" รวมทั้งธุรกิจอื่นๆ ในยูเออีก็ใช้กลยุทธ์ลดเงินเดือนเพื่อไม่ต้องปลดคนงานออกในช่วงวิกฤติแบบนี้
เอมิเรตส์ ประกาศยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดไปได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็กลับมาบินอีกครั้ง ชีค อาเหม็ด บิน ซาอิด อัล-มัคตูม ประธานสายการบินเอมิเรตส์แถลงผ่านทวิตเตอร์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า สายการบินได้รับอนุมัติจากทางการ ให้บริการเที่ยวบินแบบจำกัดจำนวนผู้โดยสารได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. เริ่มต้นจากเที่ยวบินขาออก
ขณะที่ เอธิฮัด ชิงตัดหน้าประกาศว่าจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินโดยสารอีกครั้งในวันที่ 5 เม.ย. นำส่งชาวต่างชาติที่ต้องการกลับบ้าน สู่ปลายทางโซล เมลเบิร์น สิงคโปร์ มะนิลา กรุงเทพฯ จาการ์ตา และอัมสเตอร์ดัม เบื้องต้นบริการจากทั้ง 2 สายการบินยังเป็นการนำคนต่างชาติกลับประเทศ ส่วนบริการตามปกติคงต้องรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย
เอมิเรตส์และโคเรียนแอร์เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ท่ามกลางธุรกิจโลกที่ได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา จนงานการต้องหยุดชะงักกันไปหมด แต่บทเรียนที่ได้จาก 2 กรณีนี้คือ เงินเดือนลดเมื่องานลด และต้องลดอย่างมีระยะเวลาบอกให้ทราบแน่ชัด 3 เดือน 6 เดือน เพราะเมื่อภัยร้ายอ่อนแรงลง ธุรกิจจะต้องเร่งตัวกลับมาเหมือนเดิมโดยมีพนักงานเป็นกลจักรสำคัญ
การถูกลดเงินเดือนโดยไม่มีกรอบเวลาแน่ชัด ย่อมเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจพนักงาน ผู้จะเป็นกลไกขับเคลื่อนองค์กรหลังผ่านยุคโควิด-19!