อย่าโลกสวย! เปิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากวิกฤติโควิด
เมื่อโลกยังเอาชนะกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ การพยายามหามุมดีๆ จากสถานการณ์เลวร้าย เช่น ภาพธรรมชาติฟื้นคืนมาเพราะปราศจากมนุษย์ไปรบกวน ก็อาจจะปลอบใจบางคนได้บ้าง แต่คงไม่ถึงขั้นต้องขอบคุณไวรัส เพราะความเสียหายต่อธรรมชาติจากโควิด-19 เช่นกัน
โรเบิร์ต แฮมวีย์ จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) เขียนบทความชื่อ “ผลกระทบของวิกฤติไวรัสโคโรน่าต่อสิ่งแวดล้อม ความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า” กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ระบุ ตอนที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณในยุโรปและอเมริกาเหนือ เมื่อเดือน มี.ค. ทางการต้องออกมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด เพื่อสกัดการแพร่ระบาดที่กำลังรุนแรง รวมถึงมาตรการให้ประชาชนอยู่บ้านเริ่มที่อิตาลีเป็นที่แรก จากนั้นประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกก็ทำแบบเดียวกัน
เมื่อประชากรทั้งหมดถูกสั่งให้อยู่บ้าน โรงเรียน สำนักงน โรงงานลดกิจกรรมลง การสัญจรบนถนนลดฮวบเหลือเพียงน้อยนิด สายการบินลดเที่ยวบินลง 60-95%
พัฒนาการนี้ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อการระดับผลิต การบริโภค และการจ้างงานทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนัก แต่การปล่อยมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจกก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย ส่งผลให้ระดับคุณภาพอากาศในเมืองสำคัญของโลกดีขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือน มี.ค. และเม.ย. ผลจากโรงงานและยานยนต์ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ การก่อตัวของโอโซน และอนุภาคเล็กๆ (PM)
พร้อมกันนั้นการเดินทางทางอากาศทั่วโลกลดลง 60% การลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงชั่วคราวจากระดับก่อนเกิดวิกฤติไวรัส บางคนมีความหวังว่าโลกเราอาจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มากในระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แฮมวีย์กล่าวต่อว่า ตราบเท่าที่วิกฤติไวรัสโคโรนาทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดน้อยลง การปล่อยก๊าซจะค่อนข้างต่ำต่อไป อย่างไรก็ตาม จะสรุปว่าสภาพแวดล้อมจะดีขึ้นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะเมื่อแก้ไขวิกฤติได้แล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจย่อมกลับมาเหมือนเดิม การปล่อยก๊าซก็จะเพิ่มขึ้นมาเหมือนเดิมเช่นกัน
ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เวลา 13.25 น.ตามเวลาประเทศไทย วันนี้ (25 เม.ย.) จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 2.8 ล้านคน เสียชีวิตอย่างน้อย 197,000 คน
และใช่ว่าผลจากวิกฤติที่มีต่อสิ่งแวดล้อมจะดีไปเสียทั้งหมด แฮมวีย์ชี้ว่า ช่วงนี้ปริมาณขยะที่ไม่ผ่านการรีไซเคิลสูงขึ้น การส่งออกสินค้าเกษตรและประมงที่ลดลงมากทำให้เกิดขยะอินทรีย์ปริมาณมาก
การบำรุงรักษาและตรวจสอบระบบนิเวศในธรรมชาติหยุดลงชั่วคราว กิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติหยุดลง ปัญหาขยะในท้องถิ่นเกิดขึ้นเนื่องจากเทศบาลหลายแห่งหยุดกิจกรรมรีไซเคิล ด้วยเกรงว่าไวรัสแพร่กระจายในศูนย์
ร้านค้าปลีกอาหารกลับมาใช้ถุงพลาสติกอีกครั้งหนึ่ง อ้างว่าหากนำถุงกระดาษกลับมาใช้ซ้ำลูกค้าจะกังวลว่าไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ด้วยนโยบายอยู่บ้าน ลูกค้าหลายคนต้องสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี ที่ใช้หีบห่อแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมากขึ้น
เว็บไซต์ดีดับเบิลยูดอทคอมรายงานว่า กว่าหนึ่งเดือนที่เมืองคาลามาตา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซถูกล็อกดาวน์ ประชาชนออกจากบ้านได้แค่ไปออกกำลังกายในช่วงสั้นๆ และซื้อของกินของใช้ แต่ในสวนสาธารณะ ทางเดิน ท้องถนน ขยะจำพวกถุงมือใช้แล้ว กระดาษเปียก และขวดน้ำยาฆ่าเชื้อถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาดไปหมด ที่มหานครใหญ่อย่างนิวยอร์กหรือลอนดอนปัญหาก็ไม่ได้แตกต่างกัน
บนหมู่เกาะโซโคที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ห่างจากฮ่องกงเพียงไม่กี่กิโลเมตร แกรี สโตคส์ จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “โอเชียนเอเชีย” พบหน้ากากอนามัยราว 100 ชิ้นถูกพัดมาขึ้นฝั่ง ถือว่ามากชนิดที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ถุงมือ หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนตัว (พีพีอี) แบบอื่นๆ จำเป็นสำหรับต่อสู้การแพร่ระบาด สาธารณชนใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ทำลายแบบไม่เหมาะสม นักสิ่งแวดล้อมพากันเกรงว่าจะเกิดผลเสียต่อสัตว์ป่าและการแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก
ทั้งหมดนี้กลายเป็นความท้าทายปัจจุบันทันด่วนต่ออุตสาหกรรมจัดการขยะ ในช่วงเวลาที่ต้องดำเนินการด้วยศักยภาพอันจำกัดเนื่องจากวิกฤติไวรัสโคโรนา
ส่วนข้อจำกัดในการส่งออกอีกทั้งบริการขนส่งสินค้าลดลงอย่างรวดเร็ว วิกฤติรอบนี้ทำให้สินค้าเกษตรและประมงส่งออกไม่ได้มีปริมาณเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตหลายรายใช้ตลาดท้องถิ่นเป็นตัวดูดซับสินค้าส่วนเกิน ปริมาณขยะอินทรีย์จึงเพิ่มขึ้นมาก
ขยะเหล่านี้ใช้วิธีการปล่อยให้ย่อยสลายไปเอง คาดว่าในช่วงวิกฤติไวรัสระดับการปล่อยก๊าซมีเธนจะเพิ่มขึ้นเร็วมากและยืดเยื้อไปถึงหลังวิกฤติอีกหลายเดือน
เท่านั้นยังไม่พอ การที่การส่งออกสินค้าเกษตรและประมงลด ระดับการผลิตย่อมลดตาม เป็นเหตุให้ระดับการว่างงานในสองภาคส่วนเพิ่มขึ้นมาก คนงานเหล่านี้หลายคนเป็นผู้หญิงที่ต้องทำงานดูแลครอบครัว เมื่อต้องตกงานย่อมดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะผู้หญิงรายได้น้อยในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมไว้คอยรองรับ
แม้แต่ระบบนิเวศตามธรรมชาติและสัตว์สงวนก็ตกอยู่ในความเสี่ยงช่วงวิกฤติไวรัสโคโรนาด้วย แฮมวีย์ชี้ว่า ในหลายประเทศเจ้าหน้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติ และเขตอนุรักษ์ทั้งทางบกและทางทะเลถูกล็อกดาวน์อยู่กับบ้าน
พื้นที่ในความรับผิดชอบถูกทิ้งไว้โดยปราศจากคนดูแล การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า แอบทำประมง และล่าสัตว์เพิ่มสูงขึ้น ส่วนกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่หายไปเท่ากับปล่อยให้ระบบนิเวศธรรมชาติเสี่ยงถูกลักลอบบุกรุกเข้าไปเก็บของป่า
ในหลายพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นแหล่งรายได้สำคัญ เมื่อคนตกงานเพราะวิกฤติอาจทำให้หลายครัวเรือนต้องเข้าไปหาผลผลิตในระบบนิเวศที่เปราะบาง อาจจะนำมาเป็นอาหารประทังชีพหรือนำไปขายหารายได้
แฮมวีย์ ชี้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายอย่างที่เกิดจากวิกฤติไวรัสโคโรนาจะค่อยๆ แก้ไขได้ด้วยตัวเองเมื่อวิกฤติสิ้นสุด กิจกรรมทาเศรษฐกิจฟื้นตัวมาสู่ระดับเดิม ทำนองเดียวกันประโยชน์ที่ได้จากมลพิษทางอากาศลดก็จะหายไปด้วย เท่ากับว่า วิกฤติอาจไม่ได้ส่งผลกระทบถาวรต่อสิ่งแวดล้อมก็ได้
อย่างไรก็ตาม แฮมวีย์สรุปว่า สิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงรุนแรง อาจช่วยให้เราเข้าใจกลไกความยั่งยืนของธรรมชาติ รูปแบบการบริโภคของสังคม และวิธีลดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในโลกหลังวิกฤติได้ดียิ่งขึ้น